เอไอเอส ประกาศภารกิจเร่งด่วน “AIS 5G สู้ภัย COVID-19” ในการนำเทคโนโลยี 5G เข้าไปสนับสนุนบริการทางการแพทย์ และงานสาธารณสุข ภายใต้งบประมาณ 100 ล้านบาท ในการติดตั้งเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุม 158 โรงพยาบาลภายในเดือนเมษายน
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการที่เอไอเอส เตรียมความพร้อม และลงทุนขยายโครงข่ายดิจิทัล (Digital Infrastructure) ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับประเทศไทย และคนไทยทุกคน
“ปัจจุบันหลังจากที่ภาครัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่ที่บ้าน ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกๆ คนที่จะช่วยกันเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ การช่วยกันอยู่บ้านถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคมได้อย่างเต็มที่”
โดยทางเอไอเอส พบว่า มีปริมาณการใช้งานดาต้าบนโครงข่ายโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นราว 15% และโครงข่ายฟิกซ์บรอดแบนด์เพิ่มขึ้นถึง 20% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทำให้เอไอเอส ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการดูแลโครงข่ายให้ดีที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานได้อย่างดี และต่อเนื่อง
นอกจากการดูแลโครงข่ายแล้ว เอไอเอส ยังมองถึงภารกิจเร่งด่วนด้วยการนำความสามารถของ 5G มาผสมผสานกับพลังของบุคลากร เอไอเอส ในการช่วยให้วิกฤตนี้หายไปอย่างรวดเร็ว หรือทำให้เบาบางมากที่สุด ด้วยภารกิจระยะสั้น “AIS 5G สู้ภัย COVID-19” ขึ้นมาพร้อมเพิ่มงบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อเร่งไปสู่การนำไปใช้งานอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ภารกิจ “AIS 5G สู้ภัย COVID-19” จะครอบคลุม 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วยการติดตั้งโครงข่าย 5G ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 20 โรงพยาบาล และมีแผนที่จะขยายให้ครอบคลุม 130 โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดอีก 8 แห่ง รวมเป็ย 158 โรงพยาบาลภายในสิ้นเดือนเมษายน 2563
โดยการที่มีโครงข่าย 5G จะช่วยให้นำโซลูชันทางการแพทย์ที่ต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการตอบสนองที่รวดเร็ว เข้าไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับการเข้าไปสนับสนุนระบบสื่อสารทั้ง AIS Fibre, 4G, AIS Super WiFi และสมาร์ทดีไวซ์ในการบริหารจัดการของโรงพยาบาล
ถัดมาคือ การผลักดันนวัตกรรมการแพทย์ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการตั้งศูนย์ AIS Robotic Lab by AIS NEXT ระดมนักวิจัยและนักพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญ มาร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ (5G Telemedicine) และโซลูชันบริการทางการแพทย์ เพื่อให้สอดรับความต้องการเฉพาะของโรงพยาบาล
ต่อเนื่องด้วยการส่งมอบหุ่นยนต์ทางการแพทย์ Robot for Care จำนวน 21 ตัว โดยทยอยส่งมอบให้แก่สถานพยาบาลทั้ง 20 แห่ง ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแก่บุคลากรทางการแพทย์ ในสถานพยาบาลที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งการตรวจอุณหภูมิ การปรึกษาทางไกลระหว่างคนไข้และแพทย์ โดยหุ่นยนต์สามารถบังคับควบคุมได้ผ่านเครือข่าย 5G