xs
xsm
sm
md
lg

'พุทธิพงษ์' สวมบทป๋าดัน 'ทีโอที /กสท โทรคมนาคม' ประมูล 5G

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'พุทธิพงษ์' ยัน 2 รัฐวิสาหกิจ ต้องเข้าร่วมประมูล 5G เหตุต้องเป็นเครื่องมือภาครัฐในการให้บริการแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ด้านกสทช.คาดคนสนใจประมูล 2 คลื่น นำเงินเข้ารัฐ 37,000 ล้านบาท ขณะที่เอกชนตั้งคำถาม 2 รัฐวิสาหกิจไม่ควรแข่งกับเอกชน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในงานสัมมนา '5G The New Beginning พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย' ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งหากเทียบกับปีก่อนหลายคนอาจจะคิดว่า 5G คงไม่เข้ามามีบทบาทมากขนาดนี้ โดยจะเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่และมีประโยชน์มหาศาลในหลายส่วน เช่น ภาคการสาธารณสุข และการระบบการขนส่ง เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญกับประชาชนที่จะเข้ามามีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

*** 'พุทธิพงษ์' นอนยันรัฐวิสาหกิจต้องประมูล 5G

ดังนั้น จึงเป็นคำตอบของหลายคำถามที่ว่า ทำไมภาครัฐจึงต้องผลักดันรัฐวิสาหกิจอย่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ครั้งนี้ ซึ่งจากเรื่องนี้ พบว่า มีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) อย่างน้อย 2 รายเป็นกังวล จึงขอตั้งคำถามว่า คลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ที่จะนำมาต่อยอดใช้งานให้เกิดประโยชน์กับหลายส่วนนั้น เอกชนยืนยันได้หรือไม่ว่าจะเปิดให้ประชาชนหรือภาคส่วนนั้นๆ ได้ใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้าภาคเอกชนรับปากก็ยินดีที่จะให้ กสท โทรคมนาคม และทีโอที ถอนตัวจากการประมูลครั้งนี้

ถ้าปัจจุบันยังมีอำนาจตามมาตรา 44 จะขอแบ่งคลื่นความถี่บางส่วนจาก กสทช. มาให้รัฐวิสาหกิจ นำมาให้บริการกับประชาชนและด้านสังคม แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ ส่วนที่มีคนเตือนว่า การเปิดให้รัฐวิสาหกิจเข้าประมูลแข่งขันกับเอกชนเป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งเรื่องนี้ได้ทำการศึกษาแล้ว พบว่า หากเป็นเรื่องที่เหตุผลเพียงพอ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมสามารถทำได้ ฉะนั้น หากการกระทำดังกล่าวมีความผิด จะขอรับผิดชอบเอง

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในวันที่ 17 ธ.ค. มีการประชุมร่วม 4 ฝ่าย ได้แก่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที, กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม, สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอที และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท โทรคมนาคม ครั้งสุดท้าย ซึ่งได้ข้อสรุปการควบรวบกิจการ กสท โทรคมนาคม และทีโอที เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NTแล้ว ทั้งนี้ ถ้าหากไม่มีข้อผิดพลาดคาดว่า จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 24 ธ.ค.ที่จะถึงนี้

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาตินั้น คาดว่า จะนำเข้า ครม. ช่วงวันที่ 7 ม.ค. 2563 เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลมีเรื่องอื่นที่เร่งด่วนมากกว่านี้ ซึ่งยืนยันว่า ไม่ได้ติดปัญหาอะไร และคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้เป็นการก้าวก่ายการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

***'ฐากร' ย้ำประมูล 3 คลื่น


ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า ในวันที่ 24 ธ.ค.2562 กสทช.จะนำผลการประชุมของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของกสทช.ด้านโทรคมนาคม ที่ไม่นำคลื่น 700 MHz มาร่วมประมูล 5G เพราะยังติดปัญหาการรบกวนสัญญาณไมโครโฟนไร้สาย เข้าที่ประชุมคณะกรรมการกสทช. ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง กสทช.จะนำคลื่นออกมาประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563 จำนวน 3 คลื่น ได้แก่ คลื่น 1800 MHz , 2600 MHz และ 26 GHz รวมทั้งสิ้น 53 ใบอนุญาต ราคาประมูลโดยรวม 134,201 ล้านบาท

ทั้งนี้ กสทช.คาดว่าจะสามารถนำเงินเข้ารัฐจากการประมูลได้ จำนวน 37,070 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าคลื่น 1800 MHz จะไม่มีผู้สนใจประมูล ส่วนคลื่นที่ได้รับความสนใจคือ คลื่น 2600 MHz ขนาด 190MHz จำนวน 19 ใบอนุญาตๆ ละ 10 MHz ราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 1,862ล้านบาท คาดว่าจะสามารถประมูลได้ทั้งหมด 19 ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่าการประมูล 35,378 ล้านบาท และ คลื่น 26 GHz ขนาด 2,700 MHz จำนวน 27 ใบอนุญาตๆละ 100 MHz ราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 423 ล้านบาท คาดว่าจะประมูลได้จำนวน 4 ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่าการประมูล 1,692 ล้านบาท

***ทรูคาดเกิดศึกแข่งราคาอีก


ขณะที่นายจักรกฤษ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการ ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องการให้ กสทช.เปิดประมูลเพียงคลื่นเดียว คือ คลื่น 2600 MHz แต่ก็ติดปัญหาที่คลื่นนี้มีเพียง 190 MHz ซึ่งการพัฒนา 5G ต้องใช้รายละ 100 MHz ขึ้นไป เมื่อทั้ง ทรู ดีแทค เอไอเอส ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ต้องการคลื่นนี้ก็จะกลายเป็นการแข่งขันด้านราคาเกิดขึ้นอีก ดังนั้นกสทช.ควรนำคลื่น 3500 MHz จำนวน 300 MHz มาประมูลพร้อมกัน

อีกประเด็นหนึ่งคือ การเปิดให้กสท โทรคมนาคม และทีโอทีเข้าประมูลด้วย ก็ยังมีคำถามว่า 2 รัฐวิสาหกิจแม้จะบอกว่ามีเงินเข้าร่วมประมูล แต่จะสามารถแข่งขันกับเอกชนได้หรือไม่ เพราะกระบวนการทำงานของรัฐวิสาหกิจค่อนข้างมีหลายขั้นตอนไม่ได้รวดเร็วเหมือนเอกชน

'ต้องบอกว่าการขับเคลื่อน 5G ไม่ใช่เรื่องของเอกชนเพียงฝ่ายเดียว รัฐบาลต้องสนับสนุนด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ต้องเกิดเพื่อให้รู้ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและลงทุน 5G ได้ตรงความต้องการ'

***เอไอเอสชี้รัฐไม่ควรแข่งกับเอกชน


สอดคล้องกับนายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ทีโอที กับ กสท โทรคมนาคม เป็นภาครัฐจึงไม่ควรทำธุรกิจแข่งกับเอกชน ควรมองที่โครงข่ายพื้นฐาน ท่อร้อยสาย ซับมารีน เคเบิล และการให้บริการดาวเทียมมากกว่า

สำหรับเอไอเอสพร้อมจะสนับสนุนรัฐบาลในการประมูล 5G เต็มที่ แต่มีความเห็นว่า กสทช.ไม่ควรรีบประมูลคลื่น 700 MHz เพราะกว่าจะใช้งานได้ต้องรอ 2 ปี เนื่องจากคลื่นยังมีปัญหา ส่วนคลื่น 1800 MHz ที่เหลืออยู่ ก็แพงเกินไป ขณะที่แม้ว่าคลื่น 2600 MHz ถือว่าเป็นคลื่นที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่สากลเท่าคลื่น 3500 MHz และ คลื่น 26 GHz เทคโนโลยียังไม่พร้อม ดังนั้นจึงเสนอให้เปิดทดลองใช้ก่อนการประมูล

***ดีแทคกระตุ้น ธุรกิจอย่างอมือรอ 5G อย่างเดียว


ด้านนางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า การมาของ 5G สำหรับประเทศไทย อาจจะไม่สามารถสร้างกำไรทางเศรษฐกิจได้ จากการที่ผู้ให้บริการเครือข่ายร่วมกันสร้างเครือข่าย 5G เท่านั้น ถ้าปราศจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งหลาย ทุกฝ่ายต้องมาร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ทั้ง ดีแทค เอไอเอส และทรู ในการสร้างสรรค์รูปแบบการใช้งาน 5G ขึ้นมา เพื่อที่พวกเราจะสามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในไทยต่อไปได้

ทั้งนี้ต้องคำนึงว่าการเติบโตของ 5G นั้นต่างจาก 4G เป็นอย่างมาก เพราะ 5G มาจากการใช้งาน B2B และ B2B2C มากกว่าจากลูกค้าและผู้ให้บริการเครือข่าย ในขณะเดียวกัน IHS Markit ได้ประมาณการว่า 5G จะเข้ามาส่งเสริมกิจกรรมการขายทั่วโลกกว่า 5% ในปี พ.ศ. 2578 แต่จะมีเพียง 10.7 % จากทั้งหมดที่มาจากข้อมูลและการสื่อสาร อีก 90 % ที่เหลือมาจากอุตสาหกรรมต่างๆเช่น การผลิต โลจิสติกส์ เกษตรกรรม และธุรกิจเพื่อสุขภาพ การใช้งาน 5G แบบดังกล่าวจะไม่ได้มาจากผู้ให้บริการเครือข่ายหรือรัฐบาล แต่จะมาจากการสร้างสรรค์จากภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

'เราขอกระตุ้นให้องค์กรต่างๆ อย่ารอการมาของ 5G อย่างเดียว เพราะผู้ที่จะส่งเสริมและทำการศึกษา 5G เท่านั้นที่จะได้รับผลประโยชน์ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความตื่นตัวเรื่อง 5G จะต้องเจอกับความเสี่ยงของความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น เราต้องไม่ลืมว่ายังมีผู้ใช้บริการเครือข่ายกว่า 3 ล้านคนในประเทศไทยที่ยังใช้งาน 2G อยู่ ซึ่งเราจำเป็นต้องพาพวกเขาเข้ามาอยู่ในอนาคต 5G ของเราด้วย'


กำลังโหลดความคิดเห็น