บอร์ดกสทช. เตรียมเคาะเก็บค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์ 1.50 บาท/เลขหมาย/เดือน หวังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจ่ายไม่เท่ากัน เผยเวทีประชาพิจารณ์โอเปอเรเตอร์ขอจ่าย 1 บาท แต่กสทช. ทำไม่ได้หวั่นกระทบรายได้ เตรียมนำเข้าบอร์ดกสทช.สัปดาห์หน้า
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะมีการนำวาระการปรับอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่ และเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือให้เป็นอัตราเดียวกัน คือ 1.50 บาท/เลขหมาย/เดือน เข้าที่ประชุมกสทช. ทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ที่ถือครองเลขหมายเกิน 5 ล้านเลขหมาย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดีแทค,บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว ส่วนโอเปอเรเตอร์รายเล็กที่มีเลขหมายถือครองไม่ถึง 5 ล้านเลขหมายให้จ่ายในอัตรา 1 บาท/เลขหมาย/เดือน เป็นระยะเวลา 2 ปี
ทั้งนี้ จากการที่กสทช. ได้นำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พร้อมทั้งเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนเลขหมายโทรคมนาคม และ (ร่าง) ประกาศ กสทช เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคมไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะซึ่งคณะกรรมการกสทช.มีมติให้นำราคา 1.62 บาท/เลขหมาย/เดือน จากเดิมที่กสทช.เก็บอยู่ที่ 1.92 บาท/เลขหมาย/เดือน ไปรับฟังความเห็น
แต่โอเปอเรเตอร์ต้องการให้จ่ายในอัตรา 1 บาท/เลขหมาย/เดือน นั้น กสทช.เห็นว่าอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของกสทช.ที่ต้องใช้จ่ายในหลายส่วน ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายของสำนักงานกสทช. 2.กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) 3.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 4.กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา และ 5.จัดสรรเงินเข้ากองทุน กสทช. รวมปีละ 3,000 - 4,000 ล้านบาท ซึ่งหากเก็บในอัตราใหม่รายได้ของกสทช.จะหายไปประมาณ 200 ล้านบาท
“ปัจจุบันโอเปอร์เรเตอร์ 3 ราย คือ เอไอเอส,ทรูฯ และ ดีแทค จ่ายไม่เท่ากัน โดยทรูมูฟมีเลขหมายที่ต้องจ่ายในอัตรา 2 บาท จำนวน 70% ขณะที่เอไอเอสและดีแทคส่วนใหญ่ 60-70% มีเลขหมายจ่ายในอัตรา 1 บาท เนื่องจากเป็นเลขหมายที่ถูกโอนมาจากสัญญาสัมปทานแต่เดิม”
ส่วนโอเปอเรเตอร์ที่ถือครองเลขหมายไม่เกิน 5 ล้านเลขหมาย กสทช.จะออกบทเฉพาะกาลในการบังคับใช้อัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือ 1 บาท/เลขหมาย/เดือน เป็นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับ และหากมีการขอรับการจัดสรรเลขหมายใหม่เพิ่มเติม ก็ให้ใช้อัตรา 1.50 บาท/เลขหมาย/เดือน
สำหรับความคืบหน้าการประมูลคลื่น 5G นายฐากร กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz และ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่านความถี่ 2500-2690 MHz และ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่านความถี่ 24.25-27 GHz จนถึงเวลา 16.30 น.ของวันที่ 13 ธ.ค.2562
จากนั้นในเวลา 17.00 น.สำนักงาน กสทช.จะมีการประชุมสรุปความคิดเห็นจากการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.ด้านโทรคมนาคม ในวันที่ 16 ธ.ค.2562 และเสนอเข้าที่ประชุม กสทช.ไม่เกินวันที่ 24 ธ.ค.2562 ก่อนนำ (ร่าง) ประกาศดังกล่าวประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 27 ธ.ค.2562 หลังจากนั้นจะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลระหว่างวันที่ 2 ม.ค.-3 ก.พ.2563 และยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ วันที่ 4 ก.พ.2563 จากนั้นตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมการประมูล วันที่ 5-12 ก.พ.2563 โดยจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ วันที่ 12 ก.พ.2563 ซ้อมการประมูลสำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล วันที่ 14 ก.พ.2563 และจัดการประมูลแบบหลายย่านความถี่พร้อมกัน วันที่ 16 ก.พ.2563
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 16 ธ.ค.2562 สำนักงาน กสทช.มีกำหนดการแถลงทิศทางและนโยบายการทำงานของ กสทช.ในปี 2563 โดยหลักๆ เกี่ยกวับแผนการขับเคลื่อน 5G ให้เกิดขึ้นภายในปี 2563 และการจัดระเบียบสายสื่อสาร และนำสายสื่อสารลงดิน