xs
xsm
sm
md
lg

3 ค่ายจ่อยื่นหนังสือขอประมูลคลื่น 2600 MHz คลื่นเดียว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



3 ค่ายมือถือ เตรียมยื่นหนังสือขอประมูลคลื่น 2600 MHz คลื่นเดียว หวั่นกระทบเงินลงทุน หากประมูลพร้อมกันหลายคลื่น คาด 18 ธ.ค. รู้ผล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สําหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700, 1800, 2600 MHz และ 26 GHz เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เอไอเอส, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดีแทค ได้เข้าพบเพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการ ถึงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ โดยเสนอให้จัดการประมูลเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ย่านเดียว ในรูปแบบการประมูลปกติ โดยให้นำคลื่นความถี่ย่าน 700, 1800 MHz และ 26 GHz ออกมาประมูลครั้งต่อไป เนื่องจากปัจจุบันโอเปอเรเตอร์มีเงินลงทุนอย่างจำกัด และจะต้องนำไปลงทุนด้านการวางโครงข่ายด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ 5G ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

นอกจากนี้ยังได้ขอความชัดเจนเรื่องการจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า น่าจะมีความชัดเจนในปี 2564 และหากจะจัดการประมูลล่วงหน้าน่าจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย.-ต.ค. 2563 โดยคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ในเดือน ก.ย. 2564

อย่างไรก็ตาม คาดว่า หลังวันที่ 12 ธ.ค. 2562 เมื่อสิ้นสุดการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายจะส่งหนังสือเสนอความคิดเห็นอย่างเป็นทางการถึง กสทช. อีกครั้ง ซึ่งภายในวันที่ 18 ธ.ค. 2562 น่าจะได้ข้อสรุปแนวทางการประมูลคลื่นความถี่ที่ชัดเจน และจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเข้าที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 24 ธ.ค. 2562 และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 27 ธ.ค. ต่อไป

นายฐากร กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาตินั้น เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและการโทรคมนาคมวุฒิสภา ถึงการจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อต่อยอดการใช้งาน 5G และสร้างความเชื่อมั่นให้กับโอเปอเรเตอร์ ที่ต้องเป็นผู้ลงทุน โดยยืนยันว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการประมูลคลื่นความถี่ และ กสทช. เป็นผู้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเอง

ดังนั้น จากนี้จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งส่วนตัวไม่สามารถตอบได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วนจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้น ก็ไม่กระทบต่อการประมูลคลื่นความถี่ โดย กสทช. ยืนยันที่จะเดินหน้าจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ให้เกิดขึ้นต่อไป

ส่วนความคืบหน้าการลงนามความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับระบบ 5G ในการใช้บริการเชิงพาณิชย์ นั้น อยู่ระหว่างการกำหนดวันเวลาที่ชัดเจน ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือดังกล่าว เพื่อให้โอเปอเรเตอร์ที่ชนะการประมูล 5G สามารถวางระบบ 5G ได้ทันทีในเดือนมี.ค. 2563 จากนั้นคาดว่า จะใช้เวลา 2-3 เดือน จึงสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ พร้อมกันนี้ วันที่ 13 ธ.ค. 2562 สำนักงาน กสทช. มีกำหนดการแถลงทิศทางและนโยบายการทำงานของ กสทช. ในปี 2563 โดยมีโจทย์ใหญ่ คือ แผนการขับเคลื่อน 5G และการจัดระเบียบสายสื่อสารและนำสายสื่อสารลงดิน


กำลังโหลดความคิดเห็น