xs
xsm
sm
md
lg

'ฐากร' ยันหัวเด็ดตีนขาด ต้องประมูล 5G ตามแผนที่กำหนดไว้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คลื่นความถี่ 2600 MHz เนื้อไม่หอมอีกแล้ว หลังโอเปอเรเตอร์ตบเท้าให้ความเห็นเจออุปสรรคเพียบ ทั้งคลื่นมีจำนวนน้อยเกินไป ราคาแพง ยัน 3500 MHz เหมาะสมที่สุด เอไอเอส-ดีแทค ประสานเสียง ควรเลื่อนการประมูล ด้าน ทีโอที-กสท ยันต้องการทุกคลื่นความถี่ แต่กังวลเรื่องคุณสมบัติอาจเข้าร่วมประมูลไม่ได้ พร้อมติงการบังคับลงทุนอีอีซี 50% ใน 1 ปี ไม่ตอบโจทย์ความต้องการตลาด ด้าน 'ฐากร' ยืนกระต่ายขาเดียว ยังไงก็ไม่เลื่อนประมูล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2562กสทช.ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700, 1800, 2600 MHz และ 26 GHz และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่านความถี่ ‪2500-2690‬ MHz โดยยืนยันว่า ไม่สามารถเลื่อนการประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563 เพราะทั้งรัฐบาลและกสทช.ได้กำหนดวันประมูลไว้เรียบร้อยแล้ว

***ไม่เลื่อนประมูลเด็ดขาด

ดังนั้นการเสนอความเห็นต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้ หากไม่สามารถนำไปปฏิบัติหรือแก้ไขปรับปรุงได้ ต่อให้แสดงความคิดเห็นมา ก็ไม่สามารถนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข เช่น ขอให้นำคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ออกมาประมูลพร้อมกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนการเรียกคืนจาก บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ต้องอาศัยระยะเวลาในการเรียกคลื่นความถี่อย่างน้อย 300 วัน อีกทั้ง คลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2564 ส่วนกรณีที่เสนอให้เลื่อนการประมูลออกไปนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาล และ กสทช. ได้กำหนดวันในจัดการประมูลเรียบร้อยแล้ว

***เอไอเอส ชี้ 2600 MHz ไม่เหมาะ 5G

นายกิตตินันท์ พจน์ประสาท หัวหน้าส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เอไอเอส กล่าวว่า กสทช.ควรเลื่อนการประมูลออกไปก่อน เพราะคลื่น 2600 MHz ไม่เหมาะสมในการทำ 5G ขณะที่การเรียกคืนคลื่นดังกล่าวก็ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้ มีความเห็นว่าคลื่น 3500 MHz เหมาะกับการทำ 5G มากกว่า แต่ก็ยังไม่สามารถนำมาประมูลได้ เพราะคลื่นยังไม่หมดสัญญาสัมปทาน ส่วนคลื่น 700 MHz มีปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนกับสัญญาณไมโครโฟน ขณะที่คลื่น 1800 MHz ราคาเริ่มต้นการประมูลสูงไป และเหมาะกับการเสริมโครงข่าย 4G มากกว่า สุดท้ายคือคลื่น 26GHz ยิ่งไม่น่าสนใจเพราะเป็นคลื่นที่ยังไม่มีการลงทุนใดๆในตลาด

*** ดีแทค ยัน 3500 MHz เหมาะที่สุด

นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดีแทค กล่าวว่า คลื่น 2600 MHz มีแบนด์วิดท์ ไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีปัญหาคลื่นบางส่วนที่ยังไม่สามารถใช้งานได้ จึงมีคลื่นที่ใช้ได้เพียง 170 MHz ไม่ใช่ 190 MHz และหากมีการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นไม่เกินรายละ 100 MHz อาจจะทำให้มีคนได้แค่สองราย จึงควรปรับเป็นกำหนดเพดานตามจำนวนผู้ประมูล

ดังนั้นคลื่น 3500 MHz จึงเป็นคลื่นที่มีแบนด์วิดท์กว้าง และพร้อมที่สุด ในเมื่อกสทช.นำมาประมูลไม่ทันครั้งนี้ จึงต้องการขอทราบช่วงเวลาและแผนการประมูลคลื่นนี้ให้ชัดเจนเพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจต่อไปด้วย อย่างไรก็ตาม ดีแทค ยืนยันว่าการที่ออกมาให้ความเห็นครั้งนี้ไม่ใช่ว่าดีแทคจะประมูลหรือไม่ประมูล การตัดสินใจยังคงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริษัท

***ทรู ชี้ลงทุน 50% อีอีซี ฝันไป

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องการทราบความชัดเจนเรื่องคลื่น 2600 MHz ว่าพื้นที่ใดใช้ไม่ได้ และใช้ได้เมื่อไหร่ และเห็นว่ากสทช.ควรนำคลื่น 2600 MHz มาประมูลเพียงคลื่นเดียว เพื่อให้เอกชนเก็บเงินไว้ลงทุนคลื่นอื่นๆที่มีอยู่แล้วให้เกิด 5G ภายในปี 2563

ส่วนประเด็นที่บังคับให้ผู้ชนะการประมูลรีบลงทุน 50% ในพื้นที่อีอีซี ภายใน 1 ปี ทำให้ปฏิบัติตามได้ยาก เพราะบางครั้งความต้องการอาจจะอยู่นอกพื้นที่ จึงต้องการให้นำเงื่อนไขนี้ออกไป

***ทีโอที -กสท พร้อมประมูลสู้

นายณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการลดปริมาณการถือครองคลื่น 2600 MHz โดยควรกำหนดตามจำนวนผู้ประมูล และไม่เห็นด้วยกับการบังคับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 50%ในปีแรกเพราะอาจจะไม่ตรงความต้องการการใช้งาน

นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีโอที สนใจเข้าร่วมประมูลทุกคลื่น โดยเฉพาะคลื่น 2600 MHz แต่ก็ยังมีข้อกังวลเรื่องการกำหนดระยะเวลาลงทุนเน็ตเวิร์ก และการกำหนดเพดานถือครองคลื่น รวมถึงการพิจารณาคุณสมบัติของทีโอทีและ กสท โทรคมนาคม ว่า จะสามารถเข้าร่วมประมูลได้หรือไม่ เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นรายเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น