xs
xsm
sm
md
lg

อนุกรรมการโทรคมฯ กสทช.ลงมติถอดคลื่น 700 MHz จากการประมูล 5G 16 ก.พ.63

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของกสทช.ด้านโทรคมนาคมลงมติถอดคลื่น 700 MHz ออกจาก 5G เหตุติดปัญหาสัญญาณรบกวน คาดจับมัดรวมประมูลพร้อมคลื่น 3500 MHz ส่วนคลื่น 700 MHz ที่จัดสรรล่วงหน้าไปแล้ว อาจต้องเลื่อนการให้ใบอนุญาตจากเดือน ต.ค. 2563 ออกไปก่อน จากปัญหาการย้ายคลื่นของ MUXล่าช้าจากการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ไม่ทัน ขณะที่คลื่น 26 GHz ได้ไปต่อในรูปแบบการประมูลล่วงหน้ารอเทคโนโลยีพร้อมค่อยจัดสรรใบอนุญาต เผยไม่สามารถประมูล 2600 MHz คลื่นเดียวได้ ชี้ ทีโอที-กสท โทรคมนาคม สนใจร่วมวงประมูล จึงต้องเปิดกว้าง ด้านอ.จุฬา ชี้ การประมูลแบบ Clock Auction เหมาะกับการประมูลพร้อมกันหลายคลื่น ช่วยประหยัดเวลา

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในการประมูลคลื่น 5G ในวันที่ 16 ก.พ. 2563 กสทช.จะเปิดประมูลเพียง 3 คลื่น ได้แก่ คลื่น 1800 MHz , 2600 MHz และ 26 GHz เนื่องจากผลการประชุมของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของกสทช.ด้านโทรคมนาคม มีความเห็นว่า คลื่น 700 MHz ยังมีปัญหาอยู่ ทั้งคลื่นที่จัดสรรล่วงหน้าไปแล้ว และคลื่นที่เหลืออยู่ จึงมีมติให้นำคลื่น 700 MHz ออกไปประมูลพร้อมกับ คลื่น 3500 MHzหลังจากได้จัดการปัญหาที่ติดขัดอยู่เสียก่อน ซึ่งภายในวันที่ 24 ธ.ค. 2562 นี้ จะนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมกสทช.ต่อไป

ทั้งนี้คลื่น 700 MHz ที่จะนำมาประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563 นั้น ยังไม่สามารถแก้ปัญหาสัญญาณรบกวนกับสัญญาณไมโครโฟนไร้สายได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้คลื่นเพื่อกิจการโทรคมนาคมได้ประมาณเดือน มี.ค. 2564 ขณะที่คลื่น 700 MHz ที่เพิ่งจัดสรรล่วงหน้าไปเมื่อเดือนมิ.ย.2562 ที่ผ่านมาให้กับ 3 โอเปอเรเตอร์ คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล จำกัด,บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เพื่อให้มารับใบอนุญาตในเดือน ต.ค. 2563 นั้น ก็ยังติดปัญหาจากการบีบอัดสัญญาณที่ MUXทั้ง 4 ราย 5 โครงข่าย ได้แก่ ช่อง 5 มีจำนวน 2 โครงข่าย, อสมท มีจำนวน 1 โครงข่าย, เอ็นบีที มีจำนวน 1 โครงข่าย และ ไทย พีบีเอส มีจำนวน 1 โครงข่าย ต้องเป็นผู้ขยับช่องสัญญาณ ซึ่งไม่สามารถเสร็จได้ทันกำหนด โดยอาจจะล่าช้าไปจนถึงเดือน พ.ย. 2563 เนื่องจากติดปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฉบับใหม่

ส่วนคลื่น 26 GHz ที่เอกชนกังวลว่าตลาดยังไม่พร้อม และอุปกรณ์ยังมีรองรับไม่มากนั้น กสทช.เห็นว่าสามารถจัดประมูลล่วงหน้าไปในคราวเดียวกันได้ก่อน เมื่อเทคโนโลยีมีความชัดเจนซึ่งอาจใช้เวลา 1 ปี จากนั้นค่อยให้ผู้ชนะการประมูลมาขอรับใบอนุญาตและชำระเงินตามเงื่อนไขต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า เอกชนทั้ง 3 ราย ได้เข้าพบและยื่นหนังสือขอให้กสทช.จัดประมูลคลื่นเพียงคลื่นเดียวคือ 2600 MHz ก็ตาม ทว่ากสทช.เห็นว่ายังมีโอเปอเรเตอร์อีก 2 ราย คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ไม่ได้ส่งหนังสือร้องขอในเรื่องดังกล่าว จึงไม่มีเหตุใดในการปิดกั้น ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม หากต้องการประมูลคลื่นอื่นๆ ซึ่งตามเงื่อนไขการประมูล ทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจสามารถเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่คนละคลื่นได้แม้จะมีผู้ถือหุ้นเป็นกระทรวงการคลังเหมือนกัน ไม่นับว่าเป็นการผิดกฎการฮั้วการประมูล

ด้านนายพัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 2600 MHz ,26 GHz และ 28 GHz กล่าวว่า การประมูลแบบ Clock Auction เหมาะสำหรับการประมูลคลื่นพร้อมกันหลายคลื่น เพื่อให้การประมูลรวดเร็วขึ้น เพราะสามารถเลือกคลื่นได้พร้อมกัน โดยการประมูลจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ประมูลเลือกคลื่นความถี่ที่ต้องการ และ ช่วงที่สอง คือ การเลือกตำแหน่งคลื่นความถี่ โดยผู้ประมูลสามารถใส่จำนวนเงิน หรือ ไม่ใส่ก็ได้ ในตำแหน่งคลื่นความถี่ที่เลือกโดยต้องเลือกตำแหน่งติดกัน เพื่อหาผู้ที่เสนอราคาที่สูงที่สุดเป็นผู้ชนะ หากเสนอเท่ากัน ระบบจะเลือกแบบสุ่มอัตโนมัติ


กำลังโหลดความคิดเห็น