xs
xsm
sm
md
lg

กมธ. ICT วุฒิสภาลั่นประมูล 5G ต้องโปร่งใสและทั่วถึง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. แจง ปรับลดเพดานผู้ยื่นขอใบอนุญาต 5G เหลือรายละไม่เกิน 8 ใบ พร้อมปรับเงื่อนไขเปิดโอกาสให้บริษัทภายใต้กำกับของรัฐมีโอกาสยื่นประมูลมากขึ้น ตามข้อเสนอของ กมธ. ICT วุฒิสภา พร้อมทั้งขอให้ กมธ. ช่วยผลักดันเรื่องการให้ความร่วมมือในการติดตั้งจุดกระจายสัญญาณให้ทันการณ์

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและการโทรคมนาคมวุฒิสภา (กมธ. ICT) ครั้งที่ 15/2562 โดยมีวาระพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงความคืบหน้าการประมูลคลื่นเพื่อใช้ความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz รวมทั้งผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างประกาศ กสทช. เกี่ยวข้องกับการประมูลคลื่นความถี่ 5G ดังกล่าว โดยเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มอบหมายให้ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร (รองเลขาธิการ สายงานกิจการโทรคมนาคม), นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน (ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและการจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม), นายประถมพงศ์ ศรีนวล ผู้อำนวยการส่วน สำนักวิชาการและการจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม เป็นผู้เดินทางมาชี้แจง


พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกมธ. ICT วุฒิสภา กล่าวว่า กสทช. ได้มาชี้แจงและรายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมาธิการฯวุฒิสภา ตามข้อเสนอแนะและข้อสังเกตุหลายประเด็นที่ กมธ. ได้ส่งเป็นหนังสือไปถึง กสทช. ก่อนหน้านี้ ที่มีความห่วงใยและมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ในการบริหารกิจการด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม โดยเฉพาะการประมูลย่านความถี่ 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ที่ทาง กสทช. เป็นผู้กำกับดูแล และดำเนินการประมูล กมธ.ได้ทำหนังสือส่งข้อเสนอแนะบางประการต่อทาง กสทช. จึงเป็นที่มาของการประชุมร่วมกันในวันนี้

ทั้งนี้ทางตัวแทนของ กสทช.ได้ตอบข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ 6 ประการ มีข้อสรุปดังนี้

1. การกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลต้องคำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการให้ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 5G ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553

กสทช. ได้ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการจัดทำประกาศสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ กรณีความมั่นคงได้จัดแผนคลื่นความถี่รองรับไว้แล้ว และได้กำหนดให้ผู้ประมูลส่งแผนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับ กสทช.ด้วย ส่วนคุณภาพการให้บริการและการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infra sharing) ได้กำหนดไว้ในประกาศ กสทช.แล้ว

2.การกำหนดมาตรการป้องกันการผูกขาดการใช้คลื่นความถี่ ควรกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ที่จะเข้ามาจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลกมายังประเทศไทย

กสทช.ได้ชี้แจงว่า ได้แก้ไขหลักเกณฑ์การประมูล คลื่น 2600 MHz จำนวน 18 ใบอนุญาต จากเดิมผู้ประมูลมีสิทธิได้รับใบอนุญาต 10 ใบ ลดเหลือ 8 ใบ มีผลให้ผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตมากกว่า 2ราย ส่วนมาตรฐานอุปกรณ์ กสทช. มีประกาศเกี่ยวกับมาตรฐานอุปกรณ์ตามมาตรฐานสากลที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กำหนด

3.กมธ. ICT เสนอแนะไม่ให้กสทช.ตัดสินให้ใบอนุญาตด้วยจำนวนเงินประมูลสูงสุด แต่ควรพิจารณามูลค่าการให้บริการในด้านอื่นด้วย เช่น การกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ การกำหนดมาตรการป้องกันบริการที่สร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น เป็นต้น

กสทช. ได้ชี้แจงว่าการประมูลได้ดำเนินการตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กสทช.มาตรา 45 และกำหนดระยะเวลาการประมูลเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และหน้าที่ของ กสทช. คือการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับภาคอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์ให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งผู้เข้าประมูลจะพิจารณาความเป็นไปได้ทางธุรกิจของตนเองในการตัดสินใจเข้าร่วมประมูล

4.การจัดทำแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเงินลงทุนและผลประโยชน์ รวมถึงการเรียกค่าใช้จ่ายในการให้บริการ เพื่อเป็นข้อมูลแก่สาธารณะได้ทราบถึงแนวโน้มของการลงทุน หรือแนวโน้มการเรียกค่าใช้จ่ายในการให้บริการ หรือประเภทกิจการที่จะได้รับประโยชน์ ตลอดจนประโยชน์ ที่สาธารณชนจะได้รับ

กสทช. ได้ชี้แจงว่ามีการจัดทำแบบจำลองแล้ว 3 แบบ คือ1. แบบเปรียบเทียบกับต่างประเทศ2.แบบจำลองทางเศรษฐมิติ และ 3.แบบจำลองทางธุรกิจ

ส่วนการตั้งราคาขั้นต่ำพิจารณาจาก การประเมินมูลค่าของคลื่นความถี่ในการนำไปให้บริการและก่อให้เกิดรายได้ อีกทั้งยังมีการเปรียบเทียบกับต่างประเทศ สำรวจในการนำคลื่นความถี่มาใช้งานมีมูลค่าประมูลสูงสุดเท่าใด และนำมาปรับเข้ากับค่าครองชีพของไทย เพื่อหาราคาขั้นต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีมูลค่าตั้งแต่70% ของมูลค่าคลื่นความถี่

5.ควรกำหนดเงื่อนไขการประมูลให้มีการนำคลื่นความถี่มาใช้ประโยชน์กับสาธารณะโดยผ่านมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ทางวิชาการที่มีความพร้อมที่สามารถดำเนินการ โดยเฉพาะบริการชุมชนและธุรกิจขนาดเล็ก

กสทช. ได้ชี้แจงว่า มีประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (Regulatory Sandbox) ลงวันที่ 31กรกฎาคม 2562โดยมีบทบัญญัติให้ต่อใบอนุญาตได้สำหรับการใช้งานที่ไม่เป็นเชิงพาณิชย์

6.การพิจารณาทบทวนร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับ กิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล

กสทช. ได้ชี้แจงว่า ทุกย่านความถี่ กสทช. ใช้แนวคิดผู้ได้รับบริการจะนำคลื่นความถี่ไปใช้กับเทคโนโลยีอะไรก็ได้ เว้นแต่คลื่นความถี่ย่าน2600 MHz หากผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะลงทุนวางโครงข่าย ณ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และ เมืองอัจฉริยะ (Smart cities) ด้วยเทคโนโลยี IMT-2020 จะได้รับเงื่อนไขการผ่อนผันระยะเวลาเป็นพิเศษ (Grace Period)

7.กมธ. ICT ได้เน้นย้ำ การพิจารณาตาม หมวด 2 คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตข้อ6 (3) เพื่อไม่ให้เป็นการตัดโอกาสที่องค์กรของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรที่ถือหุ้นใหญ่โดยกระทรวงการคลัง

กสทช. แจ้งว่าได้ปรับปรุงตามข้อเสนอแนะและข้อสังเกตตามที่ กมธ.ได้ส่งเป็นหนังสือไปถึงกสทช. ไปก่อนหน้านี้

ประธาน กมธ. ICT วุฒิสภา กล่าวสรุปผลการประชุมว่า ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากทาง กสทช. ที่ให้ข้อมูลรับฟังข้อเสนอแนะและชี้แจงประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการเอง มีความเชื่อมั่นว่าหลังจากการประชุมในครั้งนี้ การประมูลคลื่นเพื่อให้บริการทางเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

ส่วนเรื่องที่ กสทช. เป็นห่วงคือการติดตามการทำงานของคณะกรรมการ 5G แห่งชาติ เช่น เรื่องโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับองค์กรของรัฐ เช่น การใช้เสาไฟฟ้าติดตั้งจุดกระจายสัญญาณ นั้น กมธ. ICT รับที่จะเป็นผู้ดำเนินการติดตามเพื่อให้ทันการณ์










กำลังโหลดความคิดเห็น