xs
xsm
sm
md
lg

'วางแบงก์การันตี 100% - นำค่าคลื่นบางส่วนมาลงทุนอีอีซี' ค่ายมือถือชง 2 เรื่องใหม่ 5G

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอไอเอส-ทรู พร้อมหนุนประมูล 5G จี้กสทช.ป้องกันการปั่นราคาประมูล แนะวางแบงก์การันตีรายใหม่ 100% วอนคณะกรรมการ 5G คืนเงินประมูลบางส่วนให้เอกชนผู้ประมูลลงทุนเน็ตเวิร์ก เหตุต้องเร่งลงทุนอีอีซี-สมาร์ท ซิตี้ ราคาสูง

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยในงานสัมมนา 'Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN ' ว่า ราคาที่ กสทช. กำหนดออกมาทำให้ราคาต่อใบอนุญาตต่ำลง อาจส่งผลให้มีผู้เล่นรายอื่นเข้ามาปั่นราคาให้สูงได้ เหมือนที่ผ่านมา ดังนั้น กสทช. จะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขผู้ที่จะเข้ามาประมูลให้ชัดเจน หากเป็นผู้เล่นรายใหม่จะต้องวางเงินค้ำประกันจากธนาคาร หรือ แบงก์การันตี 100% เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทิ้งใบอนุญาตและไม่รับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น

หากการผลักดัน 5G เป็นโครงการพิเศษที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อให้ทันกับเพื่อนบ้านที่จะเกิดในปี 2563 นั้น จะทำให้โอเปอเรเตอร์ซื้อของแพง และมียูสเคสในการนำไปใช้ได้ไม่มาก แต่หากเป็นนโยบายของประเทศ โอเปอเรเตอร์ก็สามารถทำได้ ทว่ากระบวนการคิดต้องคิดใหม่ จึงต้องการเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อน 5Gแห่งชาติ ที่กำลังจัดตั้งขึ้น ควรแบ่งเงินที่ได้จากการประมูลบางส่วนให้เอกชนนำมาลงทุนโครงข่ายแทนที่จะนำเงินส่งกระทรวงการคลังทั้งหมด เพราะหากเงื่อนไขการประมูลต้องเร่งลงทุนในพื้นที่อีอีซีและสมาร์ท ซิตี้ ซึ่งเป็นการลงทุนสูง อาจจะไม่อยากลงทุน

ขณะที่นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 5G จะใช้ประโยชน์ในทุกภาคอุตสาหกรรม ต่างกับ 3G และ4G ที่เน้นผู้บริโภค โดยราคาตั้งต้นประมูล5G ที่มีการเปิดเผยนั้นจะดูว่าเหมาะสมหรือยังต้องดูในภาพรวม อย่างปัจจุบันในเอเชีย มีจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ได้เดินหน้า5Gแล้ว

'มองว่านโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่ในการผลักดัน 5Gถือว่าสุดยอด ไม่ให้ไทยตกขบวนรถไฟ หลักเกณฑ์ประมูลดี แต่อาจมีการปั่นราคาอย่างรุนแรง ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานต้องดูแล ต้องดูแนวทางที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการปั่นราคาจนสูงเกินจริง จนกระทบกับผู้ร่วมประมูล เพราะที่ผ่านมาลงทุนไปแล้วหลักแสนล้านบาท ทรูอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ยอมแพ้แน่นอน'

ขณะนี้เอกชนมีต้นทุนทั้งอุปกรณ์ และต้นทุนการประมูล ขณะที่การลงทุนที่ผ่านมาในเทคโนโลยี 3Gและ4Gยังไม่คืนทุน ซึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาในช่วงต้นพบว่าภาพการทดสอบใช้งานของกลุ่มธุรกิจ และรูปแบบการใช้งานยังไม่ชัดเจน แต่มั่นใจสุดท้าย5Gมาแน่ ดังนั้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านยืนยันว่าทรูพร้อมเข้าร่วมแน่นอนภายใต้มูลค่าการลงทุนที่เหมาะสม

ด้านพ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะกรรมการ 5G แห่งชาติ ต้องกำหนดอีโคซีสเต็มส์ให้ดี ทั้งกระทรวงการคลัง ต้องส่งเสริมเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่ค่าคลื่น แต่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ และอีอีซี หากคิดว่าประมูลเพื่อเอาเงินเข้ากระทรวงการคลัง ก็ต้องคิดด้วยว่ากระทรวงการคลังต้องนำเงินมาสร้างธุรกิจดิจิทัลมากกว่า รัฐต้องสร้างกลไกใหม่เพื่อให้เกิดอินโนเวชั่นใหม่ๆ

สำหรับเรื่องที่เอกชนต้องการให้ใช้คลื่นฟรีนั้น ในอนาคตเป็นไปได้ แต่ตอนนี้เป็นไปได้ยาก เพราะต้องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะต้องเข้าสภาผู้แทนราษฎร ในอนาคตเป็นไปได้ที่จะได้ใช้คลื่นฟรี เพราะคลื่นความถี่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ

'เราจะมองว่า 5G เป็นเพียงโทรศัพท์มือถือไม่ได้แล้ว เพราะ 5Gเป็นดีไวซ์ทุกอย่าง ทุกอย่างในร่างกายสามารถมอนิเตอร์ผ่าน 5Gได้ อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นจะไม่เหมือนในอดีต แต่จะเป็นการเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆเข้าด้วยกันด้วยเทคโนโลยี 5G การวิเคราะห์ข้อมูลจะเกิดขึ้น แม้ว่าอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในเทคโนโลยี 5G ในวันนี้ยังแพงอยู่ แต่เชื่อว่าอีก 5-10 ปี จะถูกลงมาก'

ก่อนหน้านี้ นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า แน่นอนว่าในการขยายโครงข่ายเพื่อรองรับ 5G ดีแทคต้องการคลื่นความถี่มาให้บริการ แต่ดีแทคจะรอดูความชัดเจนจากทางกสทช. ก่อน ในแง่ของกฏ กติกาในการประมูล เรื่องราคา รายละเอียดต่างๆ รวมถึง ท่าทีของกสทช. ในเรื่องเรียกคืนคลื่นความถี่กลับมาให้ประมูลเนื่องจากหลายๆ คลื่นความถี่มีการใช้งานอยู่แล้ว

'อยากเห็นรัฐบาลช่วยเหลือโอเปอเรเตอร์ในการออกกติกาในการประมูล เพื่ออนาคต อย่างในเวียดนาม ช่วงแรกที่ขยายโครงข่ายจะชำระเงินค่าคลื่นในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ จนกระทั่งสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการค่อยเก็บเงินเพิ่มในอัตราเร่ง เพื่อให้ 5G เกิดขึ้นได้เร็วในประเทศไทย'

สำหรับอุปกรณ์ของ ดีแทค พร้อมที่จะให้บริการ 5G อยู่แล้ว แต่ยังอยู่กับคลื่นความถี่ที่จะนำมาให้บริการ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ไม่เร็วกว่าปลายปี 2563 ทำให้อาจจะอยู่ในช่วงต้นปี 2564 ที่จะเริ่มเห็นการให้บริการในไทย

'ราคาเป็นส่วนที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจ เนื่องจากดีแทคมองว่า หน่วยงานกำกับดูแลไม่ควรมองว่าการนำคลื่นมาประมูลเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ แต่เป็นการลงทุนเพื่อให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในอนาคต'


กำลังโหลดความคิดเห็น