xs
xsm
sm
md
lg

ทรูถอดบทเรียน 5G ไชน่าโมบายล์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พันธมิตรหนียวแน่น- เลี่ยว เจี้ยน รองประธานบริหาร บริษัท ไชน่าโมบายล์ กรุ๊ป เสฉวนและ กิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่(ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
ทรูพร้อมลงทุน 5G อาศัยข้อได้เปรียบการมีไชน่าโมบายล์เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ใช้เป็นแนวทางพัฒนา 5G ในประเทศไทย แนะรัฐใช้แนวทางจีนที่ยกคลื่นความถี่ให้ฟรี เพื่อโอเปอเรเตอร์จะใช้เงินลงทุนเน็ตเวิร์ก พัฒนาแอปพลิเคชั่น โซลูชั่น เพื่อยกระดับประเทศ ก่อให้เกิดการลงทุนมหาศาล เม็ดเงินเข้าประเทศมากกว่าการเก็บค่าคลื่นความถี่

5G เป็นกระแสการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ หลายประเทศกล่าวอ้างว่าเป็นผู้นำในการปรับสู่ 5G เป็นประเทศแรก ขณะที่จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้จริงแล้ว ส่วนในประเทศไทยอยู่ในระหว่างการก้าวผ่านจาก 4G ไปสู่ 5 G โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช ) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กำลังจัดตั้งคณะกรรมการ 5G แห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย และกระตุ้นความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อทำให้ 5G เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

ส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่ นั้น ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ระบุว่า กสทช.คาดว่าช่วงต้นเดือน ก.พ. 2563 จะเปิดประมูลคลื่นสำหรับทำ 5G พร้อมกัน 4 คลื่น ได้แก่ 700 MHz ,1800 MHz ,2600 MHz และ 26 GHz โดยผู้เข้าประมูลแต่ละรายจะเลือกเองว่าต้องการจะเข้าประมูลคลื่นย่านใด จำนวนเท่าใด แต่คลื่น 26 GHz จะกำหนดเพดานคลื่นถือครองได้ไม่เกิน 1200 MHz ต่อราย ส่วนคลื่น 2600 MHz กำหนดเพดานคลื่นไม่เกิน 100 MHz ต่อราย เพื่อให้สามารถออกใบอนุญาตได้ไม่เกิน 20 ก.พ. 2563 และเริ่มลงทุนโครงข่ายในช่วงต้นเดือน มี.ค. 2563 เชื่อว่าไม่เกินเดือน ส.ค.63 ผู้ชนะการประมูลจะสามารถเปิดให้บริการ 5G ในบางพื้นที่ที่มีความต้องการได้

สำหรับการจัดสรรคลื่นย่าน 700 MHz ประมูล 15MH รวมเป็น 3 ใบอนุญาตๆ ละ 5 MHz , คลื่น 1800 MHz ประมูล 35MHz รวม 7 ใบอนุญาตๆละ 5 MHz โดยราคาเริ่มต้นประมูลทั้ง 2 ย่านนี้จะใช้ราคาล่าสุดที่มีการประมูลไปก่อนหน้านี้เป็นราคาเริ่มต้น ส่วนคลื่น 2600 MHz ประมูล 190 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาตๆละ 10 MHz และ 26 GHZ ประมูล 2700 MHz จำนวน 27 ใบอนุญาตๆละ 100 MHz โดยวันที่ 30 ต.ค.นี้ จะสามารถเปิดเผยราคาเริ่มต้นการประมูลของคลื่น 2600 MHz และ คลื่น 26 GHz ได้ จากผลการศึกษาของ 3 สถาบันการศึกษาในประเทศและ 1 สถาบันการศึกษาต่างประเทศ

ในฝั่งโอเปเรเตอร์ ทรูเริ่มมีการเคลื่อนไหวคึกคักเตรียมรับการมาของ 5G โดยอาศัยจุดแข็งของการมีพันธมิตรอย่างไชน่าโมบายล์ที่มีประสบการณ์เปิดใช้งาน 5G อย่างเต็มรูปแบบทุกวันนี้เป็นต้นแบบ

ดร.กิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่(ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรูได้เริ่มเข้ามาศึกษาและดูงานการพัฒนาสู่ 5G ของไชน่าโมบายล์อย่างจริงจัง โดยไชน่าโมบายล์เป็นพัฒนมิตรทางธุรกิจของทรูอยู่แล้วจึงมีความเต็มใจที่ถ่ายทอดประสบการณ์การเปลี่ยนถ่ายไปสู่5Gให้กับทรูอย่างเต็มที่

ไชน่าโมบายล์ เป็นโอเปเรเตอร์ที่ให้บริการในจีน เสมือนเป็นรัฐวิสาหกิจ มีอิสระในการทำงาน แต่อยู่ภายใต้ไดเร็กชั่นของภาครัฐเป็นรายแรกที่นำ 4G ให้บริการในจีนกลยุทธ์ในการให้บริการคือการมีสัญญานครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ ปัจจุบันมีฐานลูกค้า 900 กว่าล้านราย และมีอินเทอร์เน็ตให้บริการด้วยโดยมีฐานลูกค้า 100 กว่าล้านราย ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

'ถ้าจะมองว่าไชน่าโมบายล์ใหญ่ขนาดไหนให้เอาโอเปอเรเตอร์มือถือที่ใหญ่ที่สุดของทั้งโลกมารวมกันยังไม่เท่าไชน่าโมบายล์เจ้าเดียวในแง่ฐานลูกค้า'

ไชน่าโมบายล์เปรียบเสมือนเป็นพี่ใหญ่ของทรู เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆก็มีการเชิญทรูมาเรียนรู้ไปพร้อมๆกันอยู่แล้ว โดยในครั้งนี้ (ไชน่าโมบายล์ เชิญทรูพร้อมสื่อมวลชนดูงาน 5Gที่เฉิงตู,เซี่ยงไฮ้ สัปดาห์ที่ผ่านมา) จะเป็นการมาดูงานเรื่องการติดตั้ง และยูสเคสของ 5Gโดยพบว่าจีนพัฒนาไปถึงขั้นจัดทำเป็นโซลูชั่น เชื่อมโยงอุปกรณ์เข้าด้วยกัน ถือเป็นแบบอย่างที่ดีที่ประเทศไทยจะได้เรียนรู้จากไชน่าโมบายล์

'หลายเรื่องน่าสนใจ แต่ครั้งนี้ทำให้เห็นของจริงประโยชน์ที่แท้จริงของ5G ว่าจะสามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้ระดับ vertical ได้อย่างไร อย่างสมาร์ทซิตี้ ระบบป้องกันสาธารณภัย ความปลอดภัยของเมืองต่างๆ การบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือสาธารณสุข การแพทย์ ที่มีการนำประโยชน์ของ 5G มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยเครือข่ายของ 5G หมอที่อยู่ตามเมืองใหญ่สามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับหมอในชุมชนได้ หมอจากส่วนกลางได้เห็นภาพเอ็กซเรย์แบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถให้คำแนะนำตลอดจนแนวทางรักษาได้ทันเวลา 5G จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากเรียกได้ว่าเข้ามาเปลี่ยนชีวิตประชาชนจีนได้อย่างมาก'
นริศ รังษีนพมาศ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค และ ธวัชชัย ฤกษ์สำราญ รองผู้อำนวยการ ธุรกิจโมบายล์ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 5G ทรู คอร์ปอเรชั่น
ในแง่การลงทุนไชน่าโมบายล์กับไทยมีความแตกต่างกัน โดยไชน่าโมบายล์ไม่ต้องลงทุนเรื่องคลื่นความถี่ ไม่ต้องเสียค่าคลื่นความถี่จึงไม่มีต้นทุนด้านนี้ เพราะรัฐบาลจีนเห็นความสำคัญของ 5G และต้องการขับเคลื่อนให้เป็นอินฟราสตรัคเจอร์ของประเทศจริงๆ เม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ของไชน่าโมบายล์จึงไปอยู่ที่ยูสเคสเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับ R&D ที่จะมีประโยชน์เพื่อคนในประเทศจีนจริงๆ

ผู้บริหาร ทรู แนะว่าภาครัฐของไทยควรดูเป็นตัวอย่าง เรื่องไม่เก็บค่าคลื่นไม่เช่นนั้นกำลังเงินของเอกชนก็จะต้องไปลงที่ไลเซ่นต์อย่างเดียว ทั้งๆที่ควรไปลงเรื่อง R&D มากกว่า ควรมีการประสานกันทุกภาคส่วนเพื่อให้ 5G เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้การศึกษา สาธารณสุข ซีเคียวริตี้ต่างๆ มีการลงทุนเรื่อง R&D อย่างเต็มที่

'5G เป็นนโยบายชาติ ซึ่งแต่ละประเทศมองแตกต่างกัน อย่างอังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในแง่การนำ 5Gมาพัฒนาประเทศ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมีความตระหนักในเรื่องนี้เช่นกัน ที่ผ่านมาภาครัฐก็เข้าใจดีเรื่องข้อจำกัดด้านการลงทุนของโอเปอเรเตอร์'

ผู้บริหารทรู กล่าวย้ำว่า จริงๆแล้ว อยากให้มองว่าเรื่องการลงทุนไม่ได้เป็นการลงทุนของโอเปอเรเตอร์แต่เป็นการลงทุนของประเทศ เป็นต้นทุนของคนไทยทุกคน ประโยชน์จะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนต้องให้ความร่วมมือกัน เห็นชัดอยู่แล้วว่า 5G จะเกิดประโยชน์ลงลึกไปในแต่ละเรื่อง โอเปอเรเตอร์ลงทุนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรมต่างๆ ภาครัฐ และนักวิจัยทำงานร่วมกันด้วย

***ไชน่าโมบายล์ลงทุนแบบไหน

ทั้งนี้รูปแบบการลงทุนของไชน่าโมบายล์ เป็นการลงทุนตามหัวเมืองใหญ่ก่อน เจาะลึกในพื้นที่ที่เทคโนโยลีแบบเดิมๆไม่สามารถเข้าถึงได้ โดย 5G จะเป็นทางเลือกแรกอย่างภาคการเกษตร ด้วย5G เกษตรกรจะรู้ได้เลยว่าจากลักษณะใบแบบนี้ควรเติมปุ๋ย เติมน้ำเพิ่มหรือยัง เป็นการลดการสูญเสียโดยการใส่ปุ๋ยโดยไม่จำเป็นเมื่อต้นไม้ยังไม่ต้องการ แต่โซลูชั่นที่เหมาะสมของแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน อย่างจีน แผ่นดินไหว เป็นเรื่องสำคัญ ของไทยเราก็เรื่องน้ำ แนวทางการศึกษาจึงแตกต่างกันออกไป การนำเทคโนโลยีไปปรับใช้จึงไม่เหมือนกัน

'ไชน่าโมบายล์เหมือนเป็นrole model ที่ดีของทรู โดยไชน่าโมบายล์มีการลงทุน 5G ตามขนาดประชากร ทั้งเฉิงตู มีการลง 5G ประมาณ 3 พันสถานีฐานในขณะที่ 4G มีประมาณ 1.6แสนสถานีฐาน'

โดยลักษณะการให้บริการ5G ของไชน่าโมบายล์ในจีนกับในประเทศไทย จะแตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละประเทศ อย่างจีนมองว่าปัญหาแผ่นดินไหวเป็นเรื่องใหญ่ แต่ของไทยมองว่าเรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องใหญ่แต่บางเรื่องนำมาปรับใช้กันได้ ยูสเคสไหนที่ตรงกับความต้องการของไทยทรูก็จะนำเข้าอุปกรณ์เหล่านั้นมาใช้ในประเทศไทย เพื่อไม่ต้องเสียเวลาเริ่มศึกษาเองใหม่ รวมทั้งยังได้ราคาอุปกรณ์ที่ต่ำลงด้วย

'ในแง่ ทรู อยากให้ 5G เกิดเร็วและเป็นประโยชน์กับการลงทุนมากที่สุด ไม่ใช่ลงทุน 5G แต่ยูสเคสเป็นแบบ 3G, 4G โดยมองว่าเซ็กเตอร์ เฮลแคร์ รีเทล พลังงาน ซีเคียวริตี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ถึงตอนนี้ทรูมีอยู่ในอยู่ในใจแล้วว่าจะมีการลงทุน 5G ในลักษณะไหน ตอนไหนที่ควรลงทุนมากน้อยเท่าไร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การลงทุนอย่างมหาศาลโดยที่ไม่เกิดประโยชน์'

***ลงเสาสัญญาณกี่ต้นดี ??

ดร.นริศ รังษีนพมาศ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค กลุ่มทรู กล่าวว่า ถ้าให้เทียบการลงทุนพื้นที่ในกรุงเทพฯ ก็คงได้ประมาณเฉิงตู คือประมาณ 3 พันเบสก็ครอบคลุมเพียงพอพื้นที่ที่มีการใช้งานสูง แต่ถ้าจะให้แน่นๆก็ไปถึง 6พันเบส แต่ก็ต้องดูด้วยว่าคุ้มค่าการลงทุนที่จะไปถึง 6 พันเบสหรือไม่ โดยการลงเบสของ 5G จะลงในพื้นที่ ที่มีคนหนาแน่น ส่วนพื้นที่ไหนคนน้อยก็จะเป็น 4G แต่เมื่อถึงเวลาที่จะลงทุนก็ต้องศึกษาอีกครั้ง โดย5G มีความถี่ทั้ง สูง กลาง และต่ำ ซึ่งกสทช. จะนำมาประมูลปีหน้า ถ้าความถี่สูง 26 GHz เสาสัญญาณ1 ต้นไปได้ไกลไม่เกิน300 เมตรเฉพาะค่าอุปกรณ์ 3 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษา แต่ถ้ากลุ่มทรูทำคงอยู่บนความถี่แบบกลางน่าจะไปได้ไกลสัก 600 เมตร

ขณะที่การลงทุนจุดรับส่งสัญญาณ (cell site) ร่วมกันและใช้งานร่วมกันแชร์ค่าใช้จ่ายกันร่วมกับโอเปอเรเตอร์รายอื่นนั้น เป็นหนึ่งในแนวคิดซึ่ง กสทช.ผลักดันเรื่องนี้อยู่ ปัญหาอยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้ควบคุมอุปกรณ์เหล่านี้ ส่วนเรื่องความไว้ใจกันก็เป็นอีกเรื่องที่คิดกันอยู่

'หลายคนมองว่าการมาของ 4G เปลี่ยนพฤติกรรมคน แต่ 5G เปลี่ยนสังคม รัฐบาลจีนจึงไม่เก็บค่าสัมปทาน เพื่อต้องการให้เกิดการลงทุน 5Gแน่นอนผลตอบรับกลับมาในแง่อินฟราสตักเจอร์ของจีนพัฒนาไปไกลมาก ก่อให้เกิดการลงทุนมหาศาล เม็ดเงินเข้าประเทศมากกว่าการเก็บค่าคลื่นความถี่ ถือเป็นประเด็นน่าคิดเมื่อมองกลับมาบ้านเรา'

ส่วนการเลือกใช้อุปกรณ์นั้น มีความเป็นไปได้ว่าการลงทุนในประเทศจะใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย โดยมองว่าเทคโนโลยีของหัวเว่ยจะล้ำหน้ากว่าแบรนด์อื่น 3-6 เดือนเสมอ

'สหรัฐฯแอนตี้หัวเว่ยเหมือนเป็นการเตะตัดขา กลายเป็นเรื่องดีทำให้หัวเว่ยรู้ว่าตัวเองมีอะไรดีอยู่บ้าง และถึงเวลาต้องปรับตัวและวิ่งให้เร็วมากขึ้น'

ผู้บริหารทรูมองว่าบางประเทศเริ่ม 5G เร็วเกินไปก็ไม่เกิดประโยชน์ อย่างสหรัฐอเมริกาบอกว่าตัวเองเป็นรายแรกที่เปิดตัว 5G แต่ช่วงนั้นมาตรฐาน 5G ยังไม่นิ่งอุปกรณ์ที่ซื้อไปก็ยังไม่ได้มาตรฐาน เมื่อมาตรฐานเกิดก็ต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ ระยะเวลาที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือไชน่าโมบายล์จะมีการจัดตั้งสถาบันที่ดูแลและสร้างผลิตภัณฑ์และแอปพลิเคชั่น5G ขึ้นมาโดยเฉพาะ อย่างโซลูชั่นไหนที่เกี่ยวกับเรื่องการแพทย์ก็จะนำผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมพูดคุยกัน ทั้งหมอ ผู้ผลิตหุ่นยนต์ เพื่อให้ได้โซลูชั่นที่ใช้งานได้จริง

'มาครั้งนี้เราจะมาดูว่ามียูสเคสอะไรบ้างที่น่าสนใจ ถ้ามีเน็ตเวิร์กขึ้นมาแล้วขายแต่ซิมใส่มือถือคนก็ไม่สนใจเพราะไม่มีความแตกต่างจาก 4G ต้องมีจุดขายใหม่ๆเกิดขึ้น ปัจจุบันมาตรฐานอุปกรณ์ซัปพอร์ต 5G ยังไม่นิ่งต้องรอประมาณปลายปี ที่น่าสนใจอย่างรถยนตร์ไร้คนขับถ้าต้องการให้ใช้ได้จริงก็ต้องให้มีการตอบโต้ได้แบบเรียลไทม์เพื่อให้รถสามารถเบรกได้กระทันหันเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมาตรฐานจะเสร็จปลายปีนี้'


กำลังโหลดความคิดเห็น