ทีโอทีเข้าพบ กสทช.และคณะกรรมการคุณธรรมแล้ว พร้อมตั้งคณะทำงานชุดเล็ก อีกชุด เจรจาโครงการเน็ตชายขอบ กับ กสทช.ภายในสัปดาห์หน้า ด้าน กสทช.ยืนยันตามหลักการเดิม ให้ทีโอทีนำรายละเอียดมาดู เร่งสรุปจ่ายเงินตามส่งมอบงานได้จริง ก่อนที่เหลือซากเดนที่รับมอบไม่ได้ จะนำไปเปิดประมูลใหม่โดยเร็ว
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำโดย นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาองค์กร ทีโอที ได้เข้ามาพบคณะกรรมการตรวจรับงานโครงการ บริการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หรือเน็ตชายขอบ โซน ซี + โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการคุณธรรมมาร่วมประชุมด้วย
ทั้งนี้ ทีโอที ได้แจ้งว่าจะขอตั้งคณะกรรมการการชุดเล็กเพื่อเข้ามาเจรจากับ กสทช.อีกครั้งหนึ่งภายในสัปดาห์หน้า โดยจะต้องนำเอกสารของการดำเนินโครงการตามสัญญามาให้ กสทช.ว่าพื้นที่ใดส่งมอบได้ และพื้นที่ใดทำต่อไม่ได้เพื่อเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้ามาประมูลโครงการในส่วนที่ค้างอยู่ให้เสร็จ
'ก่อนหน้านั้นทีโอที ได้เข้ามาหารือแล้วรอบหนึ่ง หลังจากได้รับหนังสือยกเลิกสัญญา แต่ไม่ได้เข้ามาพบคณะกรรมการที่ต้องมีตัวแทนจากคณะกรรมการคุณธรรมอยู่ด้วย จึงไม่นับว่าเป็นการเจรจาอย่างเป็นทางการ แต่ครั้งนี้คณะกรรมการคุณธรรมอยู่ด้วย และเห็นควรให้ตั้งคณะทำงานชุดเล็กเพื่อเร่งสรุปรายละเอียดต่อไป'
อย่างไรก็ตาม หากผู้ชนะรายใหม่จะใช้อาคาร USOเดิมของ ทีโอที ก็สามารถทำได้ แต่จะต้องปรับปรุงแก้ไขให้ถูกสเปก ก่อนส่งมอบงานให้ กสทช.โดยทีโอที ดำเนินการก่อสร้างอาคาร USO แล้วเสร็จจำนวน 16 แห่ง คณะกรรมการตรวจรับงานสามารถตรวจรับได้เพียง 3 แห่ง จากอาคาร USO ที่ต้องก่อสร้างจำนวน 371 แห่ง
สำหรับโครงการที่ทีโอทีชนะการประมูล 3 สัญญา วงเงินรวม 6,486.39 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ได้แก่1.โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ภาคเหนือ มูลค่า 2,103.80 ล้านบาท 2.โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่า 2,492.59 ล้านบาท และ 3.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) มูลค่า 1,899.99 ล้านบาท
ด้านนายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาองค์กร ทีโอทีกล่าวเพียงสั้นๆว่า พร้อมที่จะทำตามกสทช.บอกและเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกและจบลงด้วยดีอย่างแน่นอน
***สุดยอดความดื้อด้าน
แหล่งข่าวในทีโอทีกล่าวว่า ทีโอทียุคนี้ถือว่าตกต่ำถึงขีดสุด เพราะแทนที่จะชำนาญการในเรื่องการดำเนินธุรกิจ การเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง กลับเก่งกาจในเรื่องการหมกเม็ดข้อมูล ปกบิดข้อเท็จจริง พร้อมทั้งให้ข้อมูลเป็นการชี้นำให้พนักงานเกลียดชังกสทช.ทั้งๆที่โครงการเน็ตชายขอบ ทีโอทีเป็นฝ่ายผิดทุกประตู รวมทั้งข้อมูลที่นำเสนอไปยังนายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณต์ รมว.ดีอีเอส ต้นสังกัด ยังปิดบังข้อเท็จจริง
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการ ทีโอที สั่งการให้จัดทำรายงานข้อเท็จจริงโครงการ USO Net นำเสนอแก่ รมว.กระทรวงดีอีเอส ภายในวันที่ 8 ตุลลาคม 2562
ทีโอที โดยหน่วยธุรกิจขายและบริการลูกค้าองค์กร (ข.) ได้จัดทำารายงานข้อเท็จจริงการ ดำเนินการตามสัญญา บริการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) USO Net มีสาระสำคัญ ดังนี้
สำนักงาน กสทช. มีหนังสือบอกเลิกสัญญาฯ เนื่องจากมีข้อบกพร่อง/ไม่สามารถส่งมอบบริการ 2 กรณี คือ การใช้สายเคเบิลใยแก้วนำแสง ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนด และ ศูนย์ USO Net ไม่เป็นไปตามแผน มีการปล่อยทิ้งร้าง นั้น
ทีโอที ได้จัดทำรายงานข้อเท็จจรงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
1.เหตุการบอกเลิกสัญญา
ทีโอที ได้ทำสัญญา 3 สัญญา ของโครงการ USO Net กับ สำนักงาน กสทช. โดย สำนักงาน กสทช. ขอยกเลิกสัญญาจาก 2 กรณีข้างต้น พร้อมค่าปรับหลังจากให้ ทีโอที ขยายระยะเวลาของสัญญา ถึงเดือนกันยายน 2562 เเล้ว
2. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุของการส่งมอบบริการ 2 กรณี
2.1 กรณีที่ 1 ประเด็นเกี่ยวกับเคเบิลใยแก้วนำแสง
2.1.1 ทีโอที จัดซื้อสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Optical Fiber Cable : OFC ) ARSS ขนาด 12 แกน เป็นไปตาม spec ของ สำนักงาน กสทช. การจัดซื้อของ ทีโอที ทำตามระเบียบ บมจ.ทีโอที ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2546 โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ทำในประเทศไทยเป็นลำดับแรก แต่เนื่องจากผู้เสนอราคาที่เสนอ OFC ที่ผลิตในประเทศไทยเสนอราคาสูงกว่า OFC จากต่างประเทศ ประมาณร้อยละ 45 ทีโอที จึงไม่อาจซื้อ OFC ในประเทศได้ ระเบียบ บมจ.ทีโอที เป็นไปในแนวทางเดียวกับระเบียบ สำนักงาน กสทช. ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย
การพัสดุ พ.ศ.2535 มาใช้บังคับโดยอนุโลม คือให้พิจารณาของในประเทศก่อนหากราคาสูงกว่าต่างประเทศไม่เกิน 5 % แต่คณะกรรมการตรวจรับของ กสทช.ไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่า TOR กำหนดให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแหล่งกำเนิดหรือผลิตในประเทศไทยเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึงราคา
2.1.2 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 สำนักงาน กสทช. ได้เชิญประชุมเพื่อเจรจาแก้ไขสัญญาอย่างเป็นทางการเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่ง สำนักงาน กสทช. ให้ข้อมูลหลักการในการแก้ไขสัญญาและข้อเท็จจริงรับกันว่า ทีโอที ได้ส่งมอบงวดที่ 1 และ 2 ครบถ้วนแล้ว และมีความพร้อมในการให้บริการ สำหรับประเด็นคุณสมบัติของเคเบิล 12 แกน ที่สำนักงาน กสทช. เห็นว่าไม่เป็นไปตาม TOR นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คุณสมบัติของเคเบิล 12 แกนที่ ทีโอที จัดหาได้มีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขที่ สำนักงาน กสทช. กำหนดทุกประการ แต่มีความเห็นแตกต่างกันในประเด็นแหล่งที่มาของเคเบิลใยแก้วนำแสงเท่านั้น
2.2 กรณีที่ 2 ประเด็นการดำเนินงานจัดทำศูนย์ USO Net มีข้อเท็จจริง ดังนี้
2.2.1 ทีโอที ได้เร่งรัดติดตามงานจากบริษัทคู่สัญญาก่อสร้างอาคารอย่างต่อเนื่อง และให้รายงานความคืบหน้าเป็นรายวัน คณะกรรมการ ทีโอที รวมกับผู้บริหารระดับสูงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงาน ร่วมแก้ไขปัญหาให้เพิ่มอัตราของคนงานให้มากขึ้น และเพิ่มชั่วโมงการทำงานให้มากขึ้น
2.2.2 ทีโอที ได้แก้ปัญหาเพื่อให้บริษัทคู่สัญญาก่อสร้างอาคารให้ทันตามแผนงานที่เสนอต่อ สำนักงาน กสทช. ทีโอที เล็งเห็นว่าการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงบริษัทคู่สัญญาก่อสร้างอาคารในทันที จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสำเร็จของงานอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลานานและหาคู่สัญญามารับงาน เพราะจุดติดตั้งบางแห่งได้มีการก่อสร้างค้างไว้บ้างแล้ว
2.2.3 ทีโอที ได้ดำเนินงานจัดทำาศูนย์ USO Net คาดว่าจะสามารถส่งมอบอาคารจำนวนสะสมประมาณ 110อาคาร ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ส่งมอบอาคารสะสมประมาณ 170 อาคาร ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 และจะส่งมอบอาคารสะสมประมาณ 266 อาคารภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 (จากทั้งหมดรวม 391 อาคาร)
ทั้งนี้ ในการดำเนินการ ทีโอที ได้ประสานกับผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง มีการแจ้งปัญหา ขอขยายเวลา และมีการประชุมร่วมกัน เพื่อแก้ไข้สัญญาครั้งแรก ในวันที่ 23 กันยายน 2562 นัดหมายเพื่อเจรจา ในวันที่ 8 ตุลาคม 2562แต่เมื่อสำนักงาน กสทช. บอกเลิกสัญญา จึงไม่มีการประชุม นอกจากนี้ เมื่อได้รับทราบข่าวบอกเลิกสัญญา ทีโอที อยู่ระหว่างดำเนินการหาเเนวทางแก้ไขเร่งด่วนต่อไป โดย ทีโอที ได้จัดทำรายงานตามข้อเท็จจริงเสนอ รมว.ดีอีเอส แล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลลาคม 2562
'เรื่องเคเบิลอ้างว่าต้องทำตามระเบียบพัสดุ เรื่อง อาคารบอกติดตามอย่างเร่งด่วน ทีมรมว.ดีอีเอส ลองไปเสิร์ชดูในกูเกิลทั้ง 2 เรื่อง จะเห็นข้อเท็จจริงอีกด้านที่เป็นความจริงไม่ใช่ข้อเท็จ จะได้รู้ว่าขนาดรายงานส่งรัฐมนตรียังกล้าบอกความจริงไม่หมด'
ก่อนหน้าที่จะถูกบอกเลิกสัญญา ทีโอที ยังกล้าส่งข่าวปลอมมาว่าโครงการเน็ตชายขอบเสร็จแล้ว 98% ในสมัยรมว.ดีอีเอส เป็นเจ้าภาพจัดตั้งศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ แต่หน่วยงานในกำกับดูแลกลับเป็นคนปล่อยเฟคนิวส์เสียเอง คงคาดหวังความสำเร็จได้หากยังเชื่อใจให้หน่วยงานนี้ดำเนินการต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวว่าท่าทีแรกของนายพุทธิพงษ์ รมว.ดีอีเอส คือ สั่งให้น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอีเอส (ในขณะนั้น) ในฐานะประธานบอร์ดทีโอที ไปหาข้อเท็จจริงภายใน 10 วันหลังจากกสทช.บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 จนได้รายละเอียดที่ทีโอทีรายงานเสนอมาดังกล่าวข้างต้น
'ตอนแรกเหมือนเอาจริงเอาจัง แต่ตอนหลังไปถามเหมือนโดนฉีดยาเข้าไปแล้วไม่อยากพูด สงวนท่าที เพียงแต่บอกว่าพี่ขาว (สมศักดิ์) บอกว่าเรียบร้อยดีไม่มีอะไร และจะมีกรรมการไปคุยกับกสทช.'
ทั้งนี้ โครงการเน็ตชายขอบนั้น ส่อว่ามีการประพฤติมิชอบในขั้นตอนการทำงาน ซึ่งสหภาพฯทีโอที ยื่นเรื่องไปป.ป.ช.แล้ว ถ้าหากการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ อยู่ในสายเลือดหรือสำนึกความเป็นรัฐมนตรี ก็น่าจะมีท่าทีที่น่าจะฝากความหวังได้ดีกว่านี้ การเกาะกระแส 5G โหมโปรโมทตัวเองว่ามีวิชันกว้างไกลให้เติมเข้าไปในแผนการควบรวมทีโอทีกับกสท โทรคมนาคม มันไม่น่าจะเร่งด่วนเท่ากับการกวาดขยะ การเข้าไปแก้ปัญหาที่หมักหมมในรัฐวิสาหกิจสื่อสารโทรคมนาคมที่เดิมถือว่าเป็นชั้นนำของประเทศมากกว่า