xs
xsm
sm
md
lg

“เศรษฐพงค์” แนะต้องเร่ง “ตั้งบอร์ด 5G-ประมูล 5G-วางโรดแมป”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“เศรษฐพงค์” เสวนา “Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN” เปิดสถานการณ์ 5G ในไทย ต้องเร่ง “ตั้ง กก.5G-ประมูล 5G-วางโรดแมป” แนะเคลียร์ปัญหาคลื่น 3.5 GHz เพื่อ 5G ไทยทัดเทียมสากล วอน รัฐบาลจริงใจช่วยเหลือ มั่นใจคนไทยได้ใช้ 5G มีคุณภาพ
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร
วันนี้ (30 ต.ค.) ที่โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ รางน้ำ มีการเสวนาเรื่อง “Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN” โดย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในงานเสวนาตอนหนึ่งว่า จากสถานการณ์ล่าสุดของเรื่อง 5G ของไทยมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย 1.การจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อน 5G ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการโดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นเจ้าภาพดำเนินการ เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ 2.โรดแมป 5G ต้องออกมาให้ชัดเจน ซึ่งจะเป็นการรองรับการเปิดให้บริการ 5G ในภาคการผลิต เช่น พื้นที่อีอีซี ได้ภายใน 2563 เพื่อให้เกิดระบบนิเวศ 5G ในการใช้งานจริง 3.ต้องมีการขยับเวลาขับเคลื่อนการประมูล5Gให้เร็วขึ้น เริ่มเปิดประมูล เคาะราคาให้เร็วขึ้นในเดือน ม.ค.2563 ซึ่งเทคโนโลยี 5G หลังจากประมูลเสร็จสิ้น จากนี้ไปจะเป็นเรื่องของการปฏิบัติ การดำเนินงานของกระทรวง หน่วยงาน ผู้ประกอบการ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงดีอีเอส กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดดังกล่าว ทำให้การเสวนาครั้งนี้เป็นเรื่องระดมความคิด ความเห็น ข้อมูลว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านจาก 4G เข้าสู่ 5G ที่จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในกาพัฒนาให้ 5G ของไทยเกิดขึ้นได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านจาก 4G เข้าสู่ 5G เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการมาถึงของ 5G ไม่ใช่ทำให้ 4G จะหายไป โดยในการคาดหมายอย่างน้อยอีก 5 ปีข้างหน้าโครงข่าย 4G จะยังคงเป็นโครงข่ายหลักในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับผู้บริโภคอยู่ และจะมีการอัพเกรดทางเทคโนโลยีไปสู่ 5G มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนความจำเป็นที่ต้องมี 5G ในวันนี้ คือการรองรับงานต่างๆ ในส่วนที่ 4G ยังไม่สามารถทำได้ คือการเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

“สรุปให้เข้าใจง่ายคือ 4G จะยังเป็นโครงข่ายหลักสำหรับผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี แต่อาจมีผู้บริโภคบางส่วนประมาณ 20% เปลี่ยนมาใช้ 5G ส่วน 5G จะถูกนำมาทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในการเป็นโครงสร้างดิจิทัลใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญควรนำเอารายได้ที่ได้จากการประมูลคลื่นที่เข้ากระทรวงการคลัง ไปใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนา 5G ของเรายังมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง ในเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ต้องการให้เป็น 5G ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับทั่วโลก ตนเห็นว่าหากต้องการให้เกิด 5G ให้ได้ในปีหน้าควร มีการเร่งนำคลื่นความถี่ย่าน 3.5 GHz มาใช้ เพราะถึงแม้ว่าคลื่นความถี่ 2600MHz จะมีผู้ให้บริการบางรายนำมาใช้ทำ 5G แล้วบ้าง เช่น Zain ในประเทศซาอุฯ แต่เขาก็ยังได้รับความถี่ 3.5 GHz จำนวนถึง 100MHz มาทำ 5G ด้วยเช่นกัน ในส่วนอีก 2 ราย คือ China Mobile ที่ได้ความถี่ 2600MHz แต่ก็มีการจัดสรร 3.5 GHz ให้กับ China Unicom ตรงนี้ชัดเจนคือประเทศไทยไม่ควรให้ความหวัง 5G บนคลื่น 2600MHz แต่เพียงอย่างเดียว ควรเร่งนำคลื่น 3.5 GHz กลับมาให้ได้ภายในปีหน้านี้ด้วย

“การสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยการไม่มองว่าจะต้องได้เงินจากการประมูลคลื่นในราคาสูงๆ เพราะการเปลี่ยนธุรกิจเข้าสู่ยุค 5G ในวันนี้ ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ประเทศมีความจำเป็นต้องเดินหน้า เพื่อการเป็นโครงสร้างพื้นฐานกับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นรัฐต้องเข้ามาช่วยอย่างจริงจัง เพราะการทำ 5G บนคลื่นความถี่ 2600 MHz ย่อมมีความเสี่ยง เพราะถ้าผู้ประกอบการมีรายได้จากความถี่ไปเพียง 60MHz ก็จะมีความเสี่ยงว่า 5G อาจมีคุณภาพด้อยกว่า 4G ได้ เพราะรายได้แต่ละความถี่ไม่เพียงพอที่จะทำ 5G อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน ออสเตรเลีย ที่ผู้ให้บริการบางรายที่ได้ความถี่ไม่พอ ดังนั้นเมื่อเปิดให้บริการ 5G จึงมีคุณภาพด้อยกว่า 4G ประเด็นสำคัญในการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงไม่น่าจะอยู่ที่เรื่องราคา แต่ควรจะดูแลว่าผู้ประกอบการแต่ละรายจะได้ความถี่ไปในจำนวนที่เพียงพอจะทำ 5G ให้มีคุณภาพ และจะต้องพิจารณารีบจัดสรรคลื่นความถี่ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดประโยชน์จะตกอยู่ที่พี่น้องคนไทยจะได้ใช้ 5G อย่างมีคุณภาพ” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น