xs
xsm
sm
md
lg

'พุทธิพงษ์' เตรียมดึงคลื่น 3500 MHz จากไทยคม ประมูล 5G

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รมว.ดีอีเอส เผยอยู่ระหว่างการศึกษานำคลื่น 3500 MHz ของไทยคม ออกมาประมูลล่วงหน้าก่อนหมดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย. 2564 พร้อมกับการประมูลคลื่น 5G หวังจูงใจเอกชนเข้าร่วมประมูล โดยยินดีสลับคลื่นตามข้อเสนอ กสทช. คาดใช้เงินในการย้ายอุปกรณ์ 900 ล้านบาท เร่งหนุน ทีโอที-กสท สรุปแผนประมูล 5G รองรับการให้บริการภาคสังคม ด้าน2รัฐวิสาหกิจ รับลูกพร้อมสู้ 5G

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่าประเทศไทยไม่ควรตกขบวน 5G ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในกลางปีหน้า ดังนั้นประเทศไทยควรเปิดให้บริการ 5G ในปีหน้า เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เห็นด้วย และเน้นย้ำว่าต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้

ดังนั้น ตนเอง กำลังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้ของการนำคลื่น 3500 MHz จำนวน 300 MHz ของบริษัท ไทยคม ที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในเดือนก.ย. 2564 มาประมูลล่วงหน้าไปพร้อมกับการประมูล 4 คลื่นความถี่ ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วางแผนให้มีการประมูลในช่วงไตรมาสแรกปีหน้าเพื่อให้มีคลื่น เพียงพอในการทำ 5G เพราะคลื่นที่คาดว่าเอกชนจะสนใจประมูลมีเพียงคลื่น 2600 MHz เท่านั้น จึงไม่เพียงพอในการทำ5G ซึ่งอาจจะไม่จูงใจ และ ทำให้เอกชนวางแผนในการทำ 5G ไม่สมบูรณ์แบบ

ก่อนหน้านี้ ตนเองได้หารือกับ กสทช.แล้ว พบว่า หากต้องย้ายคลื่นย่าน 3500 MHzไปยังคลื่น3700-4200 MHz แทนตามที่กสทช.เสนอ จะต้องใช้เงินในการเปลี่ยนอุปกรณ์ประมาณ 900 ล้านบาท หากสามารถเจรจากันได้ และมีมาตรการเยียวยาลูกค้า ก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหา

นอกจากนี้ ในวันที่ 30 ต.ค.ได้นัดให้นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และพ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มารายงานแผนการดำเนินการควบรวม2องค์กรอีกครั้งเพื่อให้เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด รวมถึงแผนการประมูลคลื่น 5G เมื่อควบรวมกัน เพื่อให้เป็นโอเปอเรเตอร์รายที่ 4 ในการเข้าร่วมประมูลด้วย

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า 5G ยังมีมิติการให้บริการสวัสดิการเพื่อสังคม การดูแลประชาชน งานด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องลงทุน รัฐวิสาหกิจจะต้องเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้ หากควบรวมไม่ทัน ก็ร่วมกันประมูลไปก่อนได้ เพราะท้ายที่สุดก็คือองค์กรเดียวกัน ส่วนเรื่องคณะกรรมการ 5G แห่งชาติ คาดว่ายังไม่เสร็จภายในเร็วๆนี้ เพราะต้องทำความเข้าใจกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องในการเป็นคณะกรรมการก่อน

ด้าน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม (มหาชน) กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทเตรียมทำแผนประมูล 5G เพื่อเสนอต่อรมว.ดีอีเอส ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ เพื่อให้แผนการควบรวมเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ มีศักยภาพมากกว่าแค่การควบรวมธุรกิจและพนักงานเข้าด้วยกันเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า ทั้ง กสท และ ทีโอที ควรเป็นผู้ให้บริการ 5G ของรัฐบาล เช่นเดียวกับ ภาคธนาคารที่มีธนาคารกรุงไทย เป็นของรัฐ ภาคพลังงาน มี บริษัท ปตท . จำกัด (มหาชน) เป็นของภาครัฐ เป็นต้น ดังนั้นภาคโทรคมนาคมก็ต้องมีหน่วยงานของรัฐให้บริการ สำหรับคลื่นที่สนใจคือคลื่น 3500 MHz ที่อยู่กับไทยคม เพราะเป็นคลื่นที่เหมาะสมในการทำ5G หากจะลงทุนเฉพาะพื้นที่ก็สามารถทำได้ เช่น พื้นที่โครงการดิจิทัล พาร์ค แต่หากจะลงโครงข่ายทั่วประเทศ ต้องร่วมมือกับ ทีโอที เพราะมีคลื่นจำนวนมากกว่า

ขณะที่นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คาดว่าทีโอที และ กสท จะต้องใช้เงินลงทุนประมูลและลงทุนเครือข่ายประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าทั้ง 2องค์กรจะมีศักยภาพและทำให้เห็นภาพชัดว่าเมื่อควบรวมกันแล้วมีผลงานชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการกับภาครัฐและสังคม เพื่อให้บริการเฉพาะพื้นที่ แต่ส่วนการให้บริการทั่วประเทศนั้นคงยากเพราะทีโอทีไม่มีคลื่นย่านความถี่ต่ำในการให้บริการ มีแต่คลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น