xs
xsm
sm
md
lg

มติ กสทช. ย้ำไม่เข้าประมูลคลื่นก็ไม่ต้องเยียวยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บอกดีแทคดังๆ มติ กสทช. ย้ำจะเข้าสู่มาตรการเยียวยาได้จะต้องยื่นประมูลเพื่อแสดงความประสงค์ใช้งานคลื่นความถี่เท่านั้น

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อรองรับการสิ้นสุดสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ความถี่ย่าน 850 MHz และ 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 และได้มีมติตามความเห็นของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2561 ดังนี้

1. เรื่องนี้ได้มีความเห็นของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ให้ความเห็นว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อรองรับการสิ้นสุดสัมปทานได้ โดยนำข้อเท็จจริงมาพิจารณาตามความเหมาะสมแล้วแต่กรณี ซึ่งไม่ผูกพันที่ต้องนำประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 มาบังคับใช้ทุกกรณี

2. สืบเนื่องจาก กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1740-1784/1835-1880 MHz เพื่อจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 และได้กำหนดให้มีการยื่นคำขอเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 แต่ผลปรากฏว่า ไม่มีผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งรวมถึงบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทในเครือด้วย จนกระทั่งต่อมา กสทช. จึงได้พิจารณาและมีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ดังกล่าว รวมทั้งได้อนุมัติให้จัดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เพิ่มเติมด้วยโดยกำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในวันที่ 18 ส.ค. 2561 และกำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในวันที่ 19 ส.ค. 2561 ซึ่งทั้งหมดนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

ดังนั้น โดยหลักการแล้ว เมื่อ กสทช. ดำเนินการจัดประมูลเพื่อเตรียมการรองรับผลของการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดังกล่าวได้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แต่ผู้รับสัมปทาน หรือบริษัทในเครือไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว ย่อมไม่สามารถได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ได้ เนื่องจากถือเป็นกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานหรือบริษัทในเครือเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวแล้ว แต่กระบวนการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่จะต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่ง (ประมาณ 3 เดือน) ดังนั้น ไม่ว่าผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จะเป็นผู้รับสัมปทานเดิม หรือบริษัทในเครือหรือไม่ก็ตาม ผู้รับสัมปทานเดิมย่อมได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ได้จนกว่า กสทช. จะได้จัดสรคลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายใหม่ และกำหนดวันหยุดการให้บริการ

เนื่องจากถือเป็นกรณีที่ผู้รับสัมปทานแสดงประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการ และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับบริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

3. เมื่อพิจารณาจากหลักการตามข้อ 1 และ 2 ประกอบกับข้อเท็จจริงแล้ว ที่ประชุม กสทช. จึงได้พิจารณาแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการของดีแทคตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 และได้มีมติ ดังนี้

3.1 ให้ความเห็นชอบแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยให้ดีแทคได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ได้จนกว่า กสทช. จะได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายใหม่ และกำหนดวันหยุดการให้บริการ

ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า ดีแทค หรือบริษัทในเครือจะต้องเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz เนื่องจากเป็นกรณีที่ดีแทค แสดงความประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการ และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับบริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง แต่หากดีแทค ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ก็ไม่ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 เนื่องจากเป็นกรณีที่ดีแทคไม่ประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการอีกต่อไป

3.2 โดยที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่ในระบบให้บริการของดีแทค ประมาณ 430,000 ราย และมีระบบรองรับการโอนย้ายเลขหมายโทรคมนาคมไปยังผู้ให้บริการรายอื่นสามารถรองรับการโอนย้ายได้สูงสุด 60,000 เลขหมายต่อวัน จึงเห็นควรเร่งรัดให้มีการประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับรู้เป็นการล่วงหน้าถึงวันที่จะสิ้นสุดการให้บริการ อีกทั้งให้ข้อมูลที่ชัดเจนต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น กรณีการโอนย้ายเลขหมายโทรคมนาคมของผู้ใช้บริการที่มีความประสงค์จะโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้บริการ

4. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ติดตามตรวจสอบข้อมูลจำนวนผู้ใช้บริการคงเหลือ พร้อมเงินคงค้างในระบบให้ กสทช. ทราบเป็นระยะ


กำลังโหลดความคิดเห็น