แม้ว่าจะมีการเสริม “ดีแทคเทอร์โบ” บริการ 4G บนคลื่นความถี่ 2300 MHz ภายใต้การร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้ามาแต่จำนวนลูกค้ารวมของดีแทคยังลดลงต่อเนื่องลงมาอยู่ที่ 21.6 ล้านราย โดยจำนวนลูกค้ารายเดือนเพิ่มขึ้น แต่ลูกค้าเติมเงินยังลดลง ส่วนกำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 2 อยู่ที่ 179 ล้านบาท
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 แม้จะมีการชำระเงินจำนวน 840 ล้านบาทให้กับทีโอที แต่ EBITDA margin ยังคงรักษาระดับที่สูงกว่า 40% ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่เข้มแข็ง ภายใต้แนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพของการทำงาน
นอกจากนี้ การพัฒนาบริการและดูแลลูกค้าปรับตัวดีขึ้น ทั้งในกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินและระบบรายเดือน อันเป็นผลจากกลยุทธ์การสร้างความคุ้มค่าให้แก่ลูกค้า ที่ถูกเสริมโดยการเปิดตัวของโครงข่ายดีแทคเทอร์โบ
ขณะเดียวกัน ดีแทคกำลังพิจารณาข้อกำหนดและเงื่อนไขของการประมูลคลื่นความถี่900 MHz และ 1800 MHz เพื่อประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของคลื่นความถี่ทั้งสองคลื่น ทั้งนี้บอร์ดบริหารของดีแทคจะตัดสินใจเกี่ยวกับการเข้าร่วมประมูลเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งดีแทคมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการลูกค้าได้ต่อเนื่องอย่างไม่มีผลกระทบ ไม่ว่าผลของการประมูลคลื่นความถี่จะเป็นเช่นไร
ทั้งนี้ ในช่วงสิ้นไตรมาส 2/2561 ดีแทคมีฐานลูกค้ารวมอยู่ที่ 21.6 ล้านราย ลดลงจากในช่วงไตรมาส 1 ที่ 21.8 ล้านราย โดยมีลูกค้ารายเดือนเพิ่มขึ้น 154,000 เลขหมาย ส่วนลูกค้าในระบบเติมเงินลดลง 354,000 เลขหมาย ลูกค้ากว่า 98% ลงทะเบียนใช้งานภายใต้บริษัทดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของดีแทคที่ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่น 2100 MHz จาก กสทช.
โดยทาง ดีแทค ยืนยันว่า มีการพัฒนาโครงข่ายบนคลื่น 2100 MHz อย่างต่อเนื่อง ทั้งการติดตั้งเสาส่งสัญญาณและสถานีฐานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการสิ้นสุดของสัมปทานในเดือนกันยายน 2561 ปัจจุบันเครือข่ายของดีแทคครอบคลุม 94% ของประชากรทั่วทั้งประเทศ และไม่ว่าผลการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz จะออกมาเป็นอย่างไร บริษัทจะยังคงสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องไม่มีผลกระทบ
ส่วนรายได้จากการให้บริการไม่รวม IC ลดลง 2.3% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้จากบริการโทรทางไกลระหว่างประเทศ ในขณะที่รายได้จากการให้บริการหลัก (รายได้จากบริการเสียงและข้อมูล) ยังอยู่ที่ระดับคงที่ ส่วน EBITDA margin ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 40.4% ของรายได้รวม ลดลงเล็กน้อยจาก 41.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้จะมีการชำระเงินจำนวน 840 ล้านบาทให้กับทีโอที ภายใต้สัญญาการให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 MHz
ผลสรุปโดยรวม ดีแทค มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 179 ล้านบาท เนื่องจาก EBITDA ที่ลดลงจากการจ่ายเงินให้กับทีโอที และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของต้นทุนการให้บริการที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (EBITDA – CAPEX) ในไตรมาส 2/2561 ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 4.6 พันล้านบาท อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 0.6 เท่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ 1.6 เท่า และเงินสดในมืออยู่ที่ 3.13 หมื่นล้านบาท ซึ่งแสดงถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจลงทุนในอนาคตของดีแทค และจากผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2561 บริษัทประกาศจ่ายเงินปันผลในอัตรา 1.01 บาทต่อหุ้น
ดีแทคยังคงประมาณการทางการเงินสำหรับปี 2561 ไว้ในระดับเดิม โดยคาดการณ์ว่ารายได้จากการให้บริการ (ไม่รวม IC) จะใกล้เคียงกับปีก่อน EBITDA margin จะอยู่ในช่วง 34% - 36% และ CAPEX จะอยู่ระหว่าง 1.5-1.8 หมื่นล้านบาท