ได้คืบอาจยังไม่พอ “ดีแทค” ยันหาก กสทช.ไม่ปรับกฎเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz ที่มีการกำหนดให้ผู้ชนะต้องดูแลเรื่องคลื่นรบกวน อาจยากที่ดีแทคในกลุ่มเทเลนอร์จะร่วมตัดสินใจเข้าร่วมประมูลเพื่อสร้างรายได้ให้รัฐบาลไทย
นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ให้ข้อมูลหลังจากเข้าไปหารือกับทาง กสทช.โดยเบื้องต้น กสทช.บอกว่า การแก้ประกาศทำไม่ทันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ กสทช. ทำได้คือการออกประกาศสำนักงานเพิ่มเติม เพื่อให้ความชัดเจนในบางประเด็น
“ต้องรอดูว่า กสทช. จะมีการทำอะไรเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว เพราะถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ถือเป็นการยากที่ดีแทคจะตัดสินใจเข้าร่วมการประมูล เพราะเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะพิจารณาบนเงื่อนไขการประมูลแบบนี้”
ทั้งนี้ ภายใต้ข้อกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงรับผิดชอบแก้ไขให้แก่ผู้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850 MHz และ 900 MHz รายอื่นด้วย
โดยระบบคมนาคมขนส่งทางราง จํานวน 4 โครงการ ของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ 1.โครงการปรับเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จาก LZB700M เป็นETCS Level 2 2.โครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย 3.โครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา รองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 4.โครงการติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคม (ระยะที่ 3 ติดตั้งระบบ GSM-R)
“ดีแทค ได้มีการคำนวณจากจำนวนสถานีฐานของผู้ให้บริการโครงข่ายรายอื่นที่ให้บริการบนคลื่น 850-900 MHz อย่างกลุ่มทรูมีจำนวนสถานีฐานให้บริการอยู่ 13,000 สถานีฐาน ไม่นับรวมกับทางเอไอเอส และการนำคลื่นไปใช้ในการขนส่งระบบราง ที่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงจำนวนสถานี เพราะข้อมูลเบื้องต้นมีแค่เส้นทางเท่านั้น”
สำหรับชุดคลื่นความถี่ 900 MHz ที่นำมาประมูลจะเป็นคลื่นความถี่ในช่วง 890-895/935-940 MHz 1 ชุด ชุดละ 2x5 MHz โดยราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 35,988 ล้านบาท โดยในการประมูลเคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 72 ล้านบาท โดยกำหนดให้ประมูลคลื่น 900 MHz ในวันเสาร์ที่ 18 ส.ค.2561
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากทาง กสทช. ระบุว่า ราคาส่วนลด 2,000 ล้านบาท เป็นราคาที่มีทีมงานเทคนิคศึกษามาแล้ว และเป็นราคาที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมาทำให้ไม่สามารถเข้าไปแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงได้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวถึงประเด็นที่ดีแทคเข้ามาหารือในวันนี้ (17 ก.ค.) ว่า หลักๆ เลยคือ เข้ามาขอความชัดเจนที่จะทำให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ในครั้งนี้ ไม่มีความเสี่ยง เพราะข้อมูลที่ออกมาในตอนนี้คือต้องเข้าไปติดตั้งตัวกรองสัญญาณกว่า 13,000 จุดที่มีการใช้งานอยู่แล้ว
รวมถึงต้องการทราบรายละเอียดของการติดตั้งตัวกรองสัญญาณตามแนวรถไฟ ที่ตอนนี้ทราบเฉพาะว่ามีกี่เส้นทาง แต่กว่าจะดำเนินการต้องรออีก 3 ปี เพราะปัจจุบันรถไฟยังไม่ได้สร้าง โดยก่อนหน้านี้ ทางรถไฟเคยของบประมาณ 5-600 ล้านบาท เพื่อมาทำตัวกรองสัญญาณ
ส่วนในประเด็นเรื่องของการที่เข้าไปทำระบบป้องกันคลื่นรบกวนใน 3 ราย คือ กสท, ทรู และเอไอเอส ถ้าทั้ง 3 รายไม่ให้ความร่วมมือจะทำอย่างไร ในจุดนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ถือเป็นโครงการที่ กสทช. กำกับดูแล กสทช.จะเป็นคนดำเนินการเอง เพราะฉนั้นไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น มีการเขียนป้องกันไว้หมดแล้ว
“สิ่งที่ดีแทคต้องทำในเวลานี้คือ ไม่ต้องไปวิตกกังวลอะไร แค่เข้ามายื่นซองเข้าประมูลในวันที่ 8 ส.ค. และมาเข้าร่วมประมูลในวันที่ 18 ส.ค. ถ้าชนะการประมูลก็มีเวลาอีก 90 วัน ก่อนชำระเงิน ค่อยมาคุยเงื่อนไขที่จะสร้างความชัดเจนต่อไป”