xs
xsm
sm
md
lg

GSMA ยัน กสทช.ลดราคาประมูล 900 MHz แลกระบบกันคลื่นรบกวน 2,000 ลบ. “น้อยเกินไป”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มร. เบร็ต ทาร์นัตเซอร์
สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) เสนอ กสทช.ไม่ควรส่งต่อภาระจัดทำระบบป้องกันคลื่นรบกวน ซึ่งถือเป็นระบบรักษาความปลอดภัยประชาชนไปให้ผู้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบุถ้า กสทช.ต้องการจัดสรรคลื่นที่อยู่ชิดกับโครงการ GSM-R ก็ควรจะลดราคาลงให้มากขึ้น ยืนยันข้อเสนอนี้เป็นผลจากการศึกษาล่าสุดที่พบว่า ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาคลื่นความถี่ที่สูง ซึ่งการจะประมูลหรือไม่ประมูลของดีแทคนั้นไม่เกี่ยวข้องกับ GSMA

มร.คริสเตียน โกเมซ ประธานด้านนโยบายคลื่นความถี่และกฎระเบียบ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ GSMA ระบุว่า รู้สึกยินดีที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎการประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz ทั้งเรื่องการแบ่งย่อยคลื่นความถี่ออกมาเป็นช่วงละ 5 MHz จากเดิมที่ต้องประมูลเป็นบล็อกใหญ่ รวมถึงการยกเลิกเงื่อนไข N-1 ที่กำหนดให้จำนวนผู้ชนะประมูลต้องน้อยกว่าผู้เข้าร่วมประมูลอย่างน้อย 1 รายเสมอ แต่ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางดี GSMA มองว่า ยังมีอุปสรรคสำคัญให้วงการโทรคมนาคมไทยก้าวไปไม่ไกลเต็มที่ คือ การกำหนดให้ผู้ชนะคลื่น 900 MHz ต้องจัดทำระบบป้องกันสัญญาณรบกวนรถไฟ (GSM-R) แต่ทาง กสทช.กำหนดให้ลดราคาเพียงเล็กน้อยเพื่อชดเชยมาตรการป้องกันภัยนี้

“ส่วนลดนี้น้อยมาก ไม่เหมาะสมกับที่โอเปอเรเตอร์ต้องลงทุนระบบนี้” โกเมซ ระบุ “เรื่องนี้น่ากังวลเพราะระบบอาณัติสัญญาญเป็นระบบสำคัญในการรักษาชีวิตผู้บริโภค เรียกว่าเป็นระบบนิรภัยที่ไม่ควรกำหนดในเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ น่ากังวลที่ภาครัฐส่งผ่านหน้าที่รับผิดชอบในความปลอดภัยประชาชนแก่โอเปอเรเตอร์”

ส่วนลดที่ GSMA กล่าวถึงคือ ราคาส่วนลด 2,000 ล้านบาท จากราคาประมูล ชดเชยให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz รับหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่ และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ส่วนลดดังกล่าวเป็นราคาที่ กสทช.ระบุว่า มีทีมงานเทคนิคศึกษามาแล้ว และผ่านประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถเข้าไปแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงได้

อย่างไรก็ตาม GSMA ระบุว่า ไม่สามารถเสนอตัวเลขส่วนลดชัดเจนว่า กสทช.ควรลดลงเท่าไหร่ แต่มองว่าควรต้องกำหนดราคาให้ต่ำพอที่โอเปอเรเตอร์จะเห็นโอกาสในการเอามาใช้ โดยย้ำว่าปกติแล้ว GSM-R ในต่างประเทศไม่เคย “ชิด” กับคลื่นให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากเช่นนี้ แม้จะมีบางกรณีในประเทศแถบยุโรปที่พบปัญหาลักษณะเดียวกัน แต่ก็มีการแยก GSM-R ออกมา แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นย่านใด

GSMA จึงเสนอ 3 แนวทางเพื่อเป็นทางออกกรณี GSM-R ในการประมูลคลื่น 900 ได้แก่ 1.ไม่ส่งต่อภาระจัดทำระบบรักษาความปลอดภัยของประชาชนไปยังผู้ให้บริการเครือข่าย 2.ลดเงื่อนไขให้ผู้ให้บริการสามารถลงทุนเพื่อทำให้ระบบ GSM-R สามารถทำงานได้ และ 3.ถ้า กสทช.ต้องการใช้คลื่นที่อยู่ชิดกับ GSM-R ก็ควรจะลดราคาลงให้มากกว่านี้ เพื่อให้โอเปอเรเตอร์มีงบไปแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่พร้อมนี้

ประเด็น GSM-R ถือเป็น 1 ในหลายความกังวลที่ GSMA มองวงการโทรคมนาคมไทย นั่นคือ ราคาเริ่มต้นประมูลที่ยังสูง จุดนี้ GSMA ย้ำว่าแม้การยกเลิก N-1 จะทำให้กลไกจัดสรรคลื่นทำได้ดีขึ้น และการลดขนาดของบล็อกในการประมูล จะทำให้การประมูลคล่องตัวมากขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ GSMA เหล่านี้ยังอยู่บนราคาเริ่มต้นประมูลที่สูงอยู่ เชื่อว่าจะยังเป็นอุปสรรคให้การพัฒนาโทรคมนาคมไทยไม่เป็นไปอย่างเต็มที่

รายงาน “การกำหนดราคาคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนา (Spectrum Pricing in Developing Countries)” ฉบับล่าสุด ที่ GSMA จัดทำขึ้น ระบุว่า วันนี้ราคาคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉลี่ยสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วถึง 3 เท่า การกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่สูงเช่นนี้เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างทั่วถึง

ขณะที่ราคาจอง (reserved price) การประมูลคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาจะสูงกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วถึง 5 เท่า ทั้งหมดนี้ทำให้บรอดแบนด์ในประเทศกำลังพัฒนามีราคาแพงกว่า และมีคุณภาพต่ำกว่า กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการใช้งานของผู้บริโภค

GSMA ย้ำว่า ผลการศึกษานี้สรุปจากการศึกษาการกระจายคลื่นความถี่มากกว่า 1,000 รายการใน 102 ประเทศ (60 ประเทศที่กำลังพัฒนา และ 42 ประเทศที่พัฒนาแล้ว) ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปี 2017 ทำให้การศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์การกำหนดราคาคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาที่ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ประเทศที่ถูกรวมอยู่ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ ได้แก่ ประเทศแอลจีเรีย บังกลาเทศ บราซิล โคลัมเบีย อียิปต์ กานา อินเดีย จอร์แดน เม็กซิโก พม่า และไทย
มร. คริสเตียน โกเมซ
นอกจากนี้ GSMA มองว่าการประมูลคลื่น 900 และ 1800 เป็นการประมูลคลื่นที่ใช้งานอยู่แล้ว การต่ออายุจึงอาจเป็นกลไกที่สอดคล้องกับเป้าหมายจัดสรรคลื่นในระยะยาว ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุดจากเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ไทยควรจะมีกลไกในการต่ออายุให้โอเปอเรเตอร์มั่นใจในการลงทุนในประเทศไทย

“แนวโน้มที่เกิดขึ้นในประเทศที่ตั้งราคาประมูลคลื่นไว้สูง คือ ราคาบรอดแบนด์จะสูง แต่ความเร็วต่ำ ที่ผ่านมา ไทยโชคดีมากเพราะราคาบรอดแบนด์ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ความเร็วสูงกว่ามาตรฐาน” เบร็ต ทาร์นัตเซอร์ ประธานด้านคลื่นความถี่ของ GSMA กล่าว “แต่คิดว่าจะเป็นแบบนี้ไม่นาน เพราะการประมูลคลื่นความถี่ราคาสูงจะมีผลกระทบต่อสภาวะเหล่านี้ จากการศึกษาย้ำว่าเป็นเช่นนั้น คือ ราคาประมูลที่สูงมักจะเชื่อมโยงกับบริการที่แพงแต่คุณภาพที่ต่ำลง”

เบร็ต ย้ำว่า แนวทางการกำหนดราคาประมูลสูงนั้นไม่สร้างประโยชน์แบบยั่งยืน เพราะบีบให้โอเปอเรเตอร์ไม่สามารถรักษาฐานะผู้นำ และการแข่งขันได้ในภูมิภาคนี้ โดยจากข้อมูล ไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 37 คน จาก 100 คน กว่า 90% ใช้ผ่านทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟน

“ตรงนี้ทำให้เห็นถึงความต้องการลงทุนเครือข่ายที่มากขึ้นของไทย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มที่ยังไม่มีเน็ตมือถือใช้ ราคาประมูลที่สูงอาจเป็นอุปสรรคให้โอเปอเรเตอร์เข้าถึงกลุ่มนี้ได้ยาก เป็นอุปสรรคในการผลักดันประเทศไทย 4.0 โอเปอเรเตอร์จะต้องแบกรับภาระ หากลุ่มทุนยังมีต้นทุนเรื่องระเบียบข้อบังคับที่สูง ล้วนทำให้เป็นเรื่องยากในการตอบความต้องการของตลาด”

GSMA เชื่อว่าหากไทยประมูลคลื่นในราคาที่สูงต่อไป ปัญหานี้จะเกิดขึ้นยาวนาน ในขณะที่ทั้งโลกกำลังก้าวไปสู่ยุค 5G ซึ่งจำเป็นต้องใช้คลื่นสูงกว่า 4G มาก ทำให้ราคาประมูลก็จะเป็นอุปสรรค 5G เช่นกัน

เมื่อถามว่าทำอย่างไรให้ราคาประมูลไม่สูงเกินไป ผู้บริหาร GSMA ระบุว่า รัฐต้องยอมให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดราคาเอง ซึ่งจะทำให้คลื่นมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจ และประชาชนเมื่อมีการนำมาใช้จริง

“ฉะนั้น ถ้ามองระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจจะทำได้เมื่อเอาคลื่นมาใช้ ความต้องการตรงนี้ถือว่าเหนือกว่าความต้องการสร้างรายได้ระยะสั้น เป็นเรื่องของปรัชญา และแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน”

ถ้าการประมูลคลื่นความถี่ไทยราคาสูงต่อไปเรื่อยๆ GSMA มองว่า ทรัพยากรทางเงินของโอเปอเรเตอร์ จะจมกับการจ่ายค่าใบอนุญาต แทนที่จะไปพัฒนาบริการใหม่

“ตรงนี้มีความสำคัญมากหากเราต้องการพัฒนาไปสู่ 5G”

GSMA ย้ำอีกว่า ราคาเริ่มต้นหรือราคาจองการประมูลคลื่น ถ้ากำหนดราคาไว้สูงมากจะไม่มีพื้นที่พอให้โอเปอเรเตอร์แข่งขันกันได้ ขณะเดียวกัน ผู้เล่นบางรายยังไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ตั้งแต่ต้น

“รัฐไม่ควรกำหนดเลยว่าใครเป็นคนแพ้ นี่คือสิ่งที่ต้องใช้กลไกการตลาด” เบร็ต ระบุ “ประโยชน์ของการกำหนดเริ่มต้นที่ต่ำลง คือ ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วมักจะลดราคาประมูลเพื่อเร่งให้ประชาชนใช้บรอดแบนด์บนมือถือมากขึ้น การลดจะทำให้โอเปอเรเตอร์มีเงินพัฒนาเครือข่าย เน้นที่การพัฒนามากกว่ารายได้แต่ละปี เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและประเทศได้รวดเร็วมากขึ้น”

GSMA ทิ้งท้ายว่า การตั้งราคาประมูลคลื่นไว้สูงนั้นไม่มีข้อดีเลย สิ่งที่ GSMA ต้องการคือ ต้องการการแข่งขันที่เป็นธรรม และอยากจะย้ำว่า การตัดสินใจที่จะเข้าร่วมว่าจะประมูลหรือไม่เป็นเรื่องของโอเปอเรเตอร์เอง GSMA ไม่ได้มีส่วนใดๆ

คำกล่าวของ GSMA สอดคล้องกับแถลงการณ์ที่ DTAC เพิ่งออกแถลงการณ์ ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากข่าวนี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น