สธ.ชี้ ประเทศพัฒนากำหนด “สายตาเอียง” เป็นโรคที่ต้องมีสิทธิประโยชน์ จ่อผลักดัน “เลนส์แก้วตาเทียมแก้สายตาเอียง” เข้าสู่ระบบบัตรทอง ยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยไม่ต้องตัดแว่นบ่อย เผยราคาประมาณ 10,000 บาท แต่หากจัดซื้อรวม ราคาจะถูกลง
นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วยตาต้อกระจก ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ว่า สิทธิประโยชน์ผู้ป่วยตาต้อกระจกของบัตรทองดีขึ้นตามลำดับ เพื่อขจัดปัญหาตาบอดจากต้อกระจกให้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งในอดีตจะใช้เลนส์ขนาด 6 มิลลิเมตร ผ่าตัดแผลใหญ่และต้องเย็บแผลหลายเข็ม แต่มีการศึกษาจนพบว่า สามารถใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็กได้ ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่มีความคุ้มค่า ผู้ปวยฟื้นตัวเร็วกลับไปทำงานได้ สปสช.จึงได้อนุมัติให้มีการเบิกจ่ายการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแผลเล็ก โดยใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดนิ่มที่พับได้ ขณะที่บุคลากรด้านจักษุมีการพัฒนามาโดยตลอด แม้ยังไม่เพียงพอแต่ดีขึ้นและให้บริการได้อย่างครอบคลุม โดย สธ.ร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ เพื่อให้โควตาจักษุแพทย์เพิ่มขึ้นอีกกว่า 100 คน ซึ่งหากเป็นไปตามอัตรานี้ อีก 2-3 ปี คาดว่าบุคลากรจะเพียงพอ และมีการทำระบบสารสนเทศเพื่อให้ส่วนกลางสามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดตามตัวชี้วัดหรือไม่ เช่น ป่วยชนิดบอดต้องผ่าตัดภายใน 30 วัน หรือถ้าไม่ถึงกับบอดต้องได้รับการผ่าตัดภายใน 90 วัน เพื่อประกันคุณภาพการรักษา และเพิ่มศักยภาพในการผ่าตัดได้มากขึ้น
นพ.ปานเนตร กล่าวว่า หลังจากเคลียร์ผู้ป่วยต้อกระจกชนิดบอดได้แล้ว จะเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าระดับคุณภาพชีวิต คือ จริงๆ แล้วตาของเราจะมีสายตาเอียงอยู่ด้วย ซึ่งต้องแก้ด้วยการใส่แว่น แต่พัฒนาการในปัจจุบันพบว่า มีเลนส์แก้วตาเทียมที่แก้สายตาเอียงได้ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย ให้เบิกเลนส์แก้วตาเทียมเพื่อแก้สายตาเอียงได้ด้วย ซึ่งจะจบทีเดียว ไม่ต้องไปตัดแว่นอีก ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยด้วย โดยประเทศที่พัฒนาแล้วมองว่า สายตาเอียงเป็นโรค ต้องมีสิทธิประโยชน์ในการดูแล ซึ่งขณะนี้เราพยายามเสนอให้พิจารณานำเลนส์แก้วตาเทียมชนิดแก้เอียงเข้ามาอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งราคาของเลนส์เกือบ 1 หมื่นบาท แต่ถ้าเราซื้อมากๆ และมีการต่อรองราคา เชื่อว่าราคาจะลดลงอย่างมาก
“สมมติราคาเลนส์แก้สายตาเอียงอยู่ที่ 8,000 บาท ขณะที่เลนส์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันราคา 2,800 บาท หมายความว่าราคาแพงขึ้นราว 5,000 บาท โดยมีผู้ป่วยที่ต้องใช้เลนส์แก้สายตาเอียงประมาณ 6 หมื่นคน แต่ถ้าเราใช้กระบวนการต่อรองราคาน่าจะทำให้ต่ำลงเหลือไม่ถึง 5,000 บาทได้ ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่า” นพ.ปานเนตร กล่าว