สปสช.กำหนดโควตาผ่าตัดตาต้อกระจก 1.2 แสนดวง กระจายทุกเขตสุขภาพ อัตราเหมาจ่ายค่าผ่าตัด 5-9 พันบาท ตั้งเป้าอีก 2 ปี ไม่มีผู้ป่วยตาบอดจากตาต้อกระจก
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานคณะทำงานเกี่ยวกับตาต้อกระจก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันสำหรับผู้ป่วยตาต้อกระจก ถือเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศมานาน โดยขณะนี้ยังมีประชาชนที่ตาบอดจากตาต้อกระจกจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มติของ สปสช.ที่ร่วมดำเนินการกับกระทรวงสาธารณสุข เห็นตรงกัน คือ ต้องเกิดเป้าหมายเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ตาบอด หรือมองเห็นเลือนรางจากตาต้อกระจก ให้ได้รับการผ่าตัดเพื่อให้กลับมามองเห็นได้อย่างเดิมซึ่งเป้าหมายสูงสุด คือ ภายในปี 2563 จะต้องไม่มีผู้ป่วยตาบอดจากตาต้อกระจกในประเทศไทยอีกต่อไป เพื่อเพิ่มคุณภาพในการใช้ชีวิตของประชาชน
นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดโควตาการผ่าตัดในปี 2561 โดย สปสช.สามารถผ่าตัดตาต้อกระจกทั้งสำหรับผู้ที่ตาบอดและมองเห็นเลือนรางในจำนวน 120,000 ดวงตา ซึ่งจะกระจายโควตาไปยังเขตบริการสุขภาพทุกแห่งทั่วประเทศ ตามผลสำรวจประชากรที่ต้องได้รับการผ่าตัดตามสิทธิประโยชน์
“เราแบ่งเป็นการผ่าตัด 100,000 ดวงตา ให้กับเขตบริการสุขภาพทั่วประเทศ ขณะที่อีก 20,000 ดวงตาจะกันเอาไว้ในส่วนกลาง เพื่อเป็นโควตาสำรองให้กับผู้ป่วยแต่ละเขตบริการสุขภาพที่ต้องการผ่าตัดเพิ่มเติม” นพ.สุพรรณ กล่าวและว่า ในส่วนของโรงพยาบาลที่ผ่าตัดตาต้อกระจกนั้น สปสช.จะมีอัตราเหมาจ่ายค่าผ่าตัดให้ตั้งแต่ 5,000-9,000 บาท ซึ่งความแตกต่างจะขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากพบว่าเป้าหมายแรกสำเร็จแล้ว คือ ไม่ให้มีคนตาบอดจากตาต้อกระจกในประเทศไทยอีกต่อไป ก็จะเป็นขั้นตอนการพัฒนาโดยการอบรมแพทย์ให้เชี่ยวชาญด้านจักษุ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการฝึกอบรมแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกระดับทั้งในส่วนตำบล อำเภอ เพื่อให้ได้แพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญกลับไปอยู่ในพื้นที่เขตบริการสุขภาพ และช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ และเมื่อสำเร็จแล้วแผนการอนาคต คือ นำสิทธิประโยชน์ผ่าตัดตาต้อกระจกเข้าสู่ระบบบริการปกติต่อไป