เฝ้ามองการทำงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ด้วยใจระทึก ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้ ม.44 ประกาศจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาเมื่อปลายปี 2560
กำลังคนแค่นับนิ้วกับภารกิจการเป็นหน่วยงานกลางบูรณาการเรื่องน้ำ ซึ่งถือเป็นภารกิจใหญ่หลวง แต่ภายใต้ข้อจำกัดนั้นก็สามารถฟันฝ่ามาได้ไล่หลังการเพิ่มจำนวนคนไม่ถึง 100 คน
หน่วยงานกลางจริง มีอำนาจจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเรียกหน่วยงานอื่นมาแล้วชี้นิ้วสั่งตามความต้องการของตัวเองอย่างเดียว หากคิดอย่างนั้น สทนช.ก็พังตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว
ตรงกันข้าม สทนช.ยังต้องเข้าไปในลักษณะผู้ประสานความร่วมมือในฐานะหน่วยงานกลางเรื่องน้ำ มีทั้งการรับฟังความคิดเห็น แผนงาน โครงการ กระทั่งชี้แนะทางออกของปัญหา และ ฯลฯ เพื่อให้งานบริหารจัดการน้ำของประเทศเดินหน้าอย่างเป็นเอกภาพจริงจัง เกิดประโยชน์ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิมที่ต่างคนต่างทำ และบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลนี้ต้องการเห็นหน่วยงานกลางเรื่องน้ำเกิดขึ้นและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
การออกแบบ สทนช.จำกัดจำนวนกำลังพลในตัว เพราะทำหน้าที่ผู้กำหนด Regulator ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ Operator ดังนั้น ในการถ่ายโอนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นมาอยู่ที่ สทนช. ในระยะแรก หรือแม้ระยะถัดไปยังคงเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานน้ำมาแล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะจากกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ
ทุกวันนี้ที่ทำงานได้ขนาดนี้ถือว่าเกินไปจากความคาดหมายของหลายๆ คน ที่นึกปรามาสว่าจะเผชิญความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ
แต่เมื่อตั้งไข่ได้สำเร็จจนขับเคลื่อนงานได้ระดับหนึ่ง และร่วมกันจัดนิทรรศการและเปิดตัวกับบรรดาหน่วยงานด้านน้ำ 38 หน่วย 7 กระทรวง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประจักษ์เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา สทนช.เริ่มได้รับการพูดถึงและยอมรับตามมา
ยิ่งถ้าได้เห็นการขับเคลื่อนการบูรณาการรับมือน้ำหลากพื้นที่ลุ่มต่ำ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นการประเดิมติดตามงานในพื้นที่เสี่ยง ก็ได้เห็นภาพหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมกันจับมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบมากขึ้น เป็นภาพการเชื่อมร้อยการทำงานเข้าด้วยกัน ไม่ว่ากรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนเจ้าของพื้นที่ไม่ว่าจังหวัดหรืออำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นั่นเป็นการลงไปขับเคลื่อนเพียงพื้นที่เดียว หากมองการทำงานในขอบเขตทั่วประเทศ ในฐานะหน่วยงาน “แห่งชาติ” สทนช.ยังต้องทำงานอย่างหนัก โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าอย่างการรับมือน้ำท่วม ต้องเอกซเรย์ทั้งช่วงเตรียมการรับมือ ช่วงเกิดเหตุ และการฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ ตลอดจนการถอดบทเรียน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ตอบคำถามของพิธีกรบนเวทีสัมมนา การปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ถึงเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับน้ำว่า ยังต้องพึ่งพาความร่วมมือจากทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เป็นต้น
ฟังแล้วก็ชวนฉุกใจคิด
แน่นอนในช่วงเริ่มต้นตั้งไข่ยังอาจพอทำใจรับได้ แต่อนาคตอันไม่นานนับแต่นี้ไป หาก สทนช.ยังคงยืมจมูกหายใจด้วยการแบมือขอข้อมูลหลักจากหน่วยงานที่เป็น Operator เหล่านี้ ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็น Regulator ก็จะเป็นภาพที่ดูไม่จืดและไม่น่าจะถูกหลักการทำงาน
ตรงกันข้าม ด้านหนึ่งแม้ สทนช.พึ่งพาจากหน่วยงาน Operator แต่อีกด้านหนึ่ง สทนช. ต้องมีศูนย์ข้อมูลของตัวเอง ทั้งการสร้างสมดุลข้อมูลและการวางกรอบทิศทางข้อมูลที่กว้างขึ้นหรือลึกขึ้น เพื่อสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง และตอบโจทย์หน่วยงานกลางด้านน้ำอย่างที่รัฐบาลต้องการ
ทุกวันนี้ ข้อมูลที่ได้รับยังต้องถามว่า เป็นข้อมูลที่ สทนช.ต้องการมากน้อยเพียงใด มีความถูกต้องเชื่อถือได้แค่ไหน และยังมีข้อมูลสำคัญที่ยังไม่ได้ส่งมาบ้างหรือไม่
ว่ากันไม่ได้ เพราะเมื่อเป็นการขอความอนุเคราะห์ ก็สุดแต่เจ้าของข้อมูลจะให้หรือไม่ให้ หรือหากให้ก็ช้ำเกินกว่าจะเยียวยา
แต่เป็นการบ้านที่นายกรัฐมนตรีอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรรับรู้และพิจารณาอย่างจริงจังว่า ศูนย์ข้อมูลน้ำอย่างเต็มระบบของ สทนช.เป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่
ไม่เช่นนั้น Regulator อย่าง สทนช.ที่มีข้อมูลจำกัด เปรียบไปก็คล้ายๆ กับคนตาบอดไปสอนคนตาดีอย่าง Operator เดินนั่นแหละ