xs
xsm
sm
md
lg

กระชับพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา รองรับน้ำหลากปี 2561

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การดูแลบูรณาการเรื่องน้ำเป็นงานที่ต้องทำกันทั้งปี ด้วยประโยคเดียว “น้ำคือชีวิต”

ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน นับแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจนถึงปลายปีลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โอกาสเผชิญภัยน้ำหลากท่วมค่อนข้างสูง เป็นที่น่ากังวลทุกปี

ระฆังที่ตึกสันติไมตรีดังลั่นทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2561 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดตัวสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ท่ามกลาง 38 หน่วยงาน 7 กระทรวงเกี่ยวข้องด้านน้ำ

เป็นสัญญาณการบูรณาการงานด้านน้ำอย่างจริงจัง นอกจากยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ ซึ่งเป็นแผนระยะกลางและระยะยาวแล้ว ยังมีแผนระยะสั้นเฉพาะหน้า คือการรับมือกับฤดูน้ำหลาก เป็นประเด็นที่นายกรัฐมนตรีใส่ใจเป็นพิเศษ

เหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 น่าจะเป็นอุทาหรณ์ เพราะค่าความเสียหายมากถึง 1.4 ล้านล้านบาท

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ในฐานะเลขาธิการ สทนช. จึงลงพื้นที่เกาะติดภารกิจหน่วยงานกลางบูรณาการเรื่องน้ำ ประเดิมพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดอ่อนไหวเปราะบางก่อน 3 จุด ประกอบด้วย อ.ผักไห่ อ.เสนา และ อ.บางบาล

งานนี้ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่ส่งทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

ไม่เพียงแต่ทำความเข้าใจบทบาท และเชื่อมร้อยการทำงานระหว่างหน่วยงาน โดยมีการชี้แจงแผนงานและความคืบหน้ารับมือน้ำหลากของแต่ละหน่วยเท่านั้น หากแต่ยังต้องปรับจูนงานระหว่างหน่วยงานด้วย เพราะข้อมูลที่นำเสนอเห็นได้ชัดว่ามีโครงการทับซ้อนกัน โดยต่างฝ่ายต่างไม่รู้ เช่น โครงการของกรมชลประทานกับโครงการของท้องถิ่น โครงการสร้างถนนของกรมชลประทานกับกรมทางหลวงชนบท บางครั้งมีปัญหาขาดการสื่อสารระหว่างกัน เช่นอำเภอบางซ้ายแจ้งขอให้แก้ไขปัญหาอาคารชลประทานชำรุด กรมชลประทานได้รับงบประมาณซ่อมบำรุงมาแล้วก็ไม่ได้แจ้งให้ทราบ เป็นต้น

การแบข้อมูลของแต่ละหน่วยออกมา ทั้งแผนงาน โครงการ งบประมาณ ทำให้เห็นภาพปัญหาและการแก้ปัญหาชัดเจนขึ้น โดยมี สทนช.เป็นคนกลาง บางโครงการตั้งแผนไว้ปี 2563 ซึ่งช้าไปไม่ทันต่อสถานการณ์ สทนช.รับปากหาทางช่วยหาทางเร่งรัดให้เร็วขึ้น
กลายเป็นเรื่องน่าพิศวง เป็นไปได้อย่างไร ไม่น่าเชื่อ เพราะแต่เดิมถ้าบอกว่าโครงการใดบรรจุงบปีใดก็ปีนั้น ไม่ทันก็คือไม่ทัน ราษฎรต้องตั้งหน้าตั้งตาคอย ทั้งที่เป็นความเป็นความตายก็มี

หรือกรณี 2 หน่วยงานมีปัญหาการทำงานในบริเวณที่เชื่อมต่อกัน จากเดิมที่ต่างคนต่างทำตามที่ออกแบบไว้ ถ้าไม่ประสานกันก็จะมีปัญหาได้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ สทนช.ก็เป็นตัวประสานให้ 2 หน่วยร่วมมือกันเป็นทิศทางเดียวกัน เกิดประโยชน์ตรงวัตถุประสงค์

สทนช.จึงเปรียบเสมือนกรรมการกลาง และผู้ช่วยชี้แนะปัญหาไปในตัว

นอกจากประสานการทำงานของหน่วยงานด้านน้ำแล้ว เวทีที่ จ.พระนครศรีอยุธยา คือการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้รับฟัง รับรู้ แผนงาน โครงการ ของหน่วยงานรัฐที่ทำในพื้นที่ตัวเอง พร้อมทั้งสะท้อนความต้องการ ข้อจำกัดให้หน่วยงานได้รับรู้ด้วย และปรับแก้กันตรงนั้นด้วยเลย

คล้ายๆ เป็นการร่วมกันตั้งวงคุย แล้วร่วมกันปรับแก้กัน เห็นผลชัดๆ กันตรงนั้นเลย

จึงไม่เพียงแต่เป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐเท่านั้น หากข้ามฝั่งไปบูรณาการร่วมกับฝั่งราษฎรไปในตัวด้วย เป็นความพิเศษของหน่วยงานกลาง

แนวคิดเรื่องระหว่างน้ำท่วมอยู่นั้น ราษฎรยังสามารถเดินทางสัญจรทางถนนไปได้ นั่นหมายถึงเส้นทางถนนโดยหน่วยงานอื่นต้องยกระดับที่สูงพอ กรมชลประทานต้องปรับตัวเองด้วย ทั้งปริมาณน้ำและระดับความลึก เพราะในปี 2560 บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำผักไห่ตั้งเป้าหมายปล่อยให้น้ำเข้ามา 200 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่กลับมีน้ำเข้ามาจริงถึง 330 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ท่วมเส้นทางสัญจรไปไหนไม่ได้ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ฝ่ายปกครองอย่างนายอำเภอผักไห่เสนอให้จัดตั้งศูนย์อพยพราษฎรชั่วคราวรองรับน้ำหลากท่วมสูง หรือนายอำเภอบางซ้ายเสนอให้หน่วยงานรับผิดชอบแจ้งข้อมูลแท้จริงโดยไม่ปกปิด เช่น ท่วมก็บอกว่าท่วม เพื่อให้ราษฎรใช้วางแผนจัดการตัวเองได้ หรือข้อเสนอของตัวแทนกรมทางหลวงชนบท ที่เสนอจัดหาสถานที่จอดรถให้ราษฎรที่ถูกน้ำท่วมก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน

นี่เป็นเพียงหนังตัวอย่างในพื้นที่บางจุดเท่านั้น แต่เริ่มเห็นความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนโดย สทนช.ชัดเจนขึ้นระดับหนึ่ง

คำว่า “หน่วยงานบูรณาการด้านน้ำ” จะไม่ใช่คำเลื่อนลอยอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น