xs
xsm
sm
md
lg

“โกลบเทค” บริษัทลูกซีดีจีชักธงรบ IoT ไทยปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โกลบเทค บริษัทเครือซีดีจี ประกาศปีนี้โฟกัสธุรกิจเพิ่มเติมจากเดิม 2 ส่วน หนึ่งในนั้น คือ ไอโอที (IoT) ที่เชื่อว่าจะโตแรง และเร็วที่สุดในปีนี้ นำร่องหาทางจับพันธมิตร 3 กลุ่ม “อสังหา-ภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับคลังสินค้า-ภาคการเกษตร” คาดปีนี้ธุรกิจ IoT จะขยายตัวจนครองสัดส่วน 5% ของรายได้รวมโกลบเทค ก่อนจะก้าวกระโดดแตะหลัก 20% ในปีหน้า บนเป้าหมายรายได้รวมที่ตั้งไว้ 200 ล้านบาทตลอดปี 2018

นายวิชัย แสงหิรัญวัฒนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โกลบเทค จำกัด กล่าวว่า รายได้รวมปี 2018 ที่บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ 200 ล้านบาทนั้น เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่ทำได้ 160 ล้านบาท ความคาดหวังนี้เกิดขึ้น เนื่องจากโกลบเทค เห็นแนวโน้มการตื่นตัวของตลาดไทย โดยปีนี้บริษัทจะโฟกัสเพิ่มเติม 2 ส่วนธุรกิจ คือ ระบบเอดัส (ADAS) ที่จะถูกผนึกเข้ากับโซลูชัน เพื่อธุรกิจรถขนส่งซึ่งเน้นความปลอดภัย และระบบไอโอที (IoT) ระบบอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ที่ธุรกิจสามารถติดเซ็นเซอร์บนสิ่งของเครื่องจักร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการแบบเรียลไทม์

“ปีนี้ธุรกิจที่เราจะโฟกัสเพิ่มเติม คือ IoT และ ADAS โกลบเทค จับมือกับบริษัทเดลีเวิร์กส์ (Daliworks) ของเกาหลีใต้มาให้บริการ IoT ในไทยทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน แพลตฟอร์มนี้ทำได้ทั้งสมาร์ทโฮม สมาร์ทแวร์เฮาส์ และสมาร์ทฟาร์ม เชื่อว่า IoT จะโตเร็วกว่า ADAS เราหวังว่า โกลบเทคน่าจะครองมาร์เกตแชร์ตลาดแผนที่ IoT เกินครึ่งในไทยปีนี้ เพราะเราเป็นบริษัทรายแรกที่ผนวกแผนที่เข้ากับระบบ IoT”

วิชัย อธิบายว่า การผนวกระบบ IoT เข้ากับแผนที่จะช่วยให้ธุรกิจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เช่น ธุรกิจเฮลท์แคร์ ที่ IoT จะช่วยให้ รพ. รู้ตำแหน่งของผู้ป่วยโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องอธิบายทาง และอีกหลายธุรกิจที่สามารถนำระบบ IoT ไปต่อยอดเพิ่มเติมจากระบบ GPS ที่ธุรกิจขนส่งใช้อยู่

“การ์ทเนอร์ เชื่อว่า ปี 2020 หรืออีก 2 ปี จะมีอุปกรณ์กว่า 2 หมื่นล้านตัวเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ตัวเลขนี้แสดงถึงแนวโน้มในการใช้งานที่จะเยอะมาก คิดเป็นมูลค่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เมืองไทยจะมีโอกาสตรงนี้” นายวิชัย ระบุ “ภายใน 2 ปี ไม่ว่าหน่วยงานรัฐหรือเอกชนจะใช้ IoT มากกว่า 65% ในการดำเนินงาน และบริหารจัดการ ขณะที่ตัวบุคคล เชื่อว่าจำนวนอุปกรณ์ IoT จะมีมากกว่า 4 เท่าของจำนวนประชากร”

วิชัย สรุปว่า IoT เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ชีวิตทุกคนดีขึ้น ช่วยให้ธุรกิจมีกำไรมากขึ้น และเมื่อโลกหมุนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แรงงานหายากขึ้น IoT จะมีส่วนผลักดันให้ตอบโจทย์บนข้อจำกัดที่ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน IoT ยังช่วยผลักดันให้เกิดไทย 4.0 ได้ดีขึ้นด้วย

“ข้อมูลไอดีซี บอกว่า ปีหน้าอัตราการใช้งาน IoT ต่อประชากรทั่วเอเชียจะขยายตัว ประเทศที่มีการใช้งานสูงสุด คือ ออสเตรเลีย ส่วนไทยจะอยู่ที่ 2.2 อุปกรณ์ต่อหนึ่งคน ซึ่งถ้าไทยมีประชากรประมาณ 60 ล้านคน คาดว่าจะมี 120 ล้านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ” วิชัย อธิบาย “ไทยเราอยู่ตรงกลางๆ เป็นรองสิงคโปร์ มาเลยเซียเช่นเดิม ที่น่าสนใจ คือ ในเอเชีย ประเทศที่ใช้ IoT มาก คือ เกาหลีใต้ เพราะรัฐบาลสนับสนุนมาก มีซอฟต์แวร์ มีแพลตฟอร์มรองรับ”

นี่คือเหตุผลที่ทำให้โกลบเทค จับมือกับบริษัท (Daliworks) ผู้ให้บริการ IoT เกาหลีใต้ นำแพลตฟอร์มธิงส์พลัส (ThingPlus) มาให้บริการในประเทศไทย ที่ผ่านมา ThingPlus) ถูกใช้บริหารจัดการข้อมูล IoT บนคลาวด์แบบเรียลไทม์จนเป็นแพลตฟอร์มมาตรฐานของเอสเคเทเลคอม (SK Telecom) และมีการใช้งานแล้วที่ญี่ปุ่น, เวียดนาม, อิหร่าน, แอฟริกาใต้, อังกฤษ, อินโดนีเซีย และบราซิล

ทั้งหมดนี้ โกลบเทค จะให้บริการในไทยด้วยชื่อ NOSTRA Thing+ IoT Platform พร้อมให้บริการแล้วสำหรับทุกธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งปีนี้ โกลบเทคมีแผนรุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคการผลิต และภาคการเกษตร ตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้ 5% เมื่อเทียบกับรายได้รวม

ตัวเลขนี้ไม่เกินจริง เพราะบริษัทฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน ประเมินว่า ประเทศไทย IoT อาจสร้างเม็ดเงินมากกว่า 34,000 ล้านบาทภายในปี 2020 จุดนี้เชื่อว่า การวางรากฐานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยของ กสทช. เป็นการเตรียมความพร้อมบริการ IoT ชั้นยอดให้กับประเทศไทย

*** ADAS อีกเดิมพัน

นอกจาก IoT ปีนี้ โกลบเทค ระบุว่าจะให้ความสำคัญกับธุรกิจระบบ ADAS (Advanced Driver-Assistance Systems) ด้วยการร่วมมือกับบริษัทโมบิลอาย (Mobileye) บริษัทอิสราเอล ที่ถูกอินเทลซื้อไปเมื่อปีที่แล้ว

“บริษัทนี้ทำระบบ ADAS ใช้กล้องจับความเร็วรถคันหน้า เทียบกับความเร็วรถเรา เพื่อเตือนไม่ให้เกิดเหตุชนท้ายคันหน้า ตรวจจับเลนถนน ตรวจจับคน ตรวจจับป้าย ว่าขับรถเกินความเร็วที่กำหนดหรือเปล่า” วิชัย กล่าวต่อ “นอกจากเตือนคนขับ ระบบนี้สามารถออกรายงานให้บริษัท สามารถควบคุมการขับให้พนักงานขับรถปลอดภัยมากขึ้น ระบบนี้สามารถใช้ร่วมกับระบบติดตามรถยนต์ GPS ที่ธุรกิจขนส่งใช้อยู่ในขณะนี้”

นอกจากนี้ ADAS ยังถูกนำมาให้บริการแบบเน้นความปลอดภัยในรูปแบบเทเลเมติกส์ (Telematics) ซึ่งจะช่วยให้คนขับสื่อสารกับศูนย์ให้บริการได้ง่าย ขณะนี้ค่ายรถอย่างโตโยต้า และเอ็มจี ล้วนทำระบบ Telematic ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถเดินทางสบายขึ้น มีจองร้านอาหาร จองโรงแรม ซึ่งในประเทศไทย โกลบเทค มีร่วมมือกับบริษัทอย่าง “วงใน” เรียบร้อย

“ในอนาคต ค่ายรถจะออกระบบ Telemetics มาให้บริการผู้ใช้รถสะดวกสบายขึ้น ค่ายรถจะไม่ได้แข่งที่สมรรถภาพรถอย่างเดียว นอกจากนี้ คาดว่าบริษัทประกันภัยรถจะสามารถติดระบบนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถลดเบี้ยประกันลงได้สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมขับรถดี”

นอกจาก 2 เทรนด์นี้ โกลบเทค ระบุว่า จะเน้นปรับปรุงข้อมูลแผนที่ประเทศไทยให้ทันสมัย ควบคู่ไปกับการสร้างแผนที่ในอาคาร (อินดอร์แมป) อนาคตหวังให้คนไทยสามารถใช้แผนที่นำทางถึงห้องในอาคารได้ ซึ่งธุรกิจจะสามารถใช้ระบบนี้ประยุกต์เข้ากับ IoT ได้

“แผนที่ในอนาคตจะช่วยบอกได้เมื่อมีการแจ้งเตือนไฟไหม้ เราทำทั้งแผนที่ภายในห้าง และแผนที่สถานีรถไฟฟ้า”

สำหรับโกลบเทคนั้น เป็น 1 ในบริษัทเครือซีดีจี ให้บริการข้อมูลแผนที่ดิจิทัลในนามนอสตร้า (NOSTRA) มานานกว่า 20 ปี ปัจจุบัน ซีดีจี มี 6 บริษัท โดย 3 บริษัทในจำนวนนี้ดำเนินการระบบแผนที่ ตัวอย่างเช่น GIS ที่เอาระบบแผนที่จากโกลบเทคมาอินทีเกรดให้ลูกค้า จุดนี้วิชัย ย้ำว่า โกลบเทคไม่เพียงผลิตแผนที่ทั่วอาเซียน แต่ยังนำแผนที่มาใส่ข้อมูลประชากร เช่น รพ. นี้มีกี่เตียง รร. มีนักเรียนกี่คน ซึ่งช่วยธุรกิจวางแผนจากข้อมูลเชิงลึกบนพื้นที่นี้ได้

สัดส่วนรายได้ล่าสุดของโกลบเทค พบว่า รายได้หลักคือธุรกิจให้บริการข้อมูลสำหรับ GPS ติดรถยนต์ 60% รองลงมา เป็นบริการ GIS และออนไลน์แมป 30% ขณะที่ธุรกิจอื่นมีสัดส่วน 2%

“ปีหน้า คาดว่าธุรกิจแผนที่ระบบนำทางยังเป็นพระเอกอยู่ 60% เหมือนเดิม สำหรับสินค้าใหม่ ADAS และ IoT นั้นเพิ่งเริ่มปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 5% และ GIS รวมถึงโลคอลคอนเทนต์ และบริการแผนที่ออนไลน์ จะมีสัดส่วน 32% ธุรกิจอื่นๆ จะยังเป็น 2% อยู่เหมือนเดิม”.


กำลังโหลดความคิดเห็น