xs
xsm
sm
md
lg

วีเอ็มแวร์ ชี้โอเปอเรเตอร์ควรลงทุน คลาวด์ เน็ตเวิร์ก รับ 5G

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วีเอ็มแวร์ เผย 5G เกิด IoT จะตามมา ข้อมูลและแอปพลิเคชันจะสูงขึ้น โอเปอเรเตอร์ควรสร้างเน็ตเวิร์กให้พร้อมในการให้บริการแบบคลาวด์ พร้อมเปิดตัว VMware NSX มั่นใจโอเปอเรเตอร์ต้องลงทุน

นายซานเจย์ เค เดซมุขฮ์ รองประธานและกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเกาหลี (SEAK) บริษัท วีเอ็มแวร์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค 5G ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) สามารถให้บริการด้วยความเร็วเทียบเท่าหรือดีกว่าการใช้ฟิกซ์บรอดแบนด์ เมื่อ 5G เกิด สิ่งที่จะตามมาก็คือ IoT เทคโนโลยีนี้จะทำให้มีเซ็นเซอร์ในการเก็บข้อมูลมากขึ้น ข้อมูลที่ต้องการจัดเก็บจะมีมากขึ้น แอปพลิเคชันใหม่ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ผู้ใช้งานในปัจจุบันไม่เพียงเชื่อมต่อข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ เดสก์ท็อป และแล็ปท็อป แต่ยังใช้งานเชื่อมต่อผ่านทางอุปกรณ์มือถืออีกด้วย

โอเปอร์เรเตอร์เองจึงควรมีความพร้อมในการเตรียมลงทุนเน็ตเวิร์กโดยใช้สถาปัตยกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ และเน็ตเวิร์กฟังก์ชันเวอร์ชวลไลเซชัน (Network Functions Virtualization-NFV) ตัวอย่างเช่น แง่มุมหนึ่งของการใช้งาน 5G ที่เรียกว่า การแบ่งเครือข่าย (network slicing) คือ การแบ่งและปรับขนาดเครือข่ายในรูปแบบการให้บริการ as-a-service และแบบออนดีมานด์

ขั้นตอนนี้ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานขั้นสูงที่ควบคุมโดยซอฟต์แวร์เพื่อดำเนินการ ระบบเครือข่ายเดิมขององค์กรด้านโทรคมนาคมส่วนใหญ่ ไม่สามารถให้บริการ 5G ได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะสามารถรองรับการรับส่งข้อมูลด้วยเสียงวิดีโอ และข้อมูลต่างๆ ได้ แต่ยังไม่เพียงพอกับการใช้งาน 5G

ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันจึงต้องได้รับการปรับปรุงใหม่ด้วยการใช้ NFV เพื่อให้มีความคล่องตัว และเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น สถาปัตยกรรมของระบบเน็ตเวิร์กจึงต้องถูกพัฒนาเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ข้อมูลส่วนตัวขององค์กร, บนคลาวด์สาธารณะ, เครือข่ายโทรคมนาคม, สาขาขององค์กร และจุดเชื่อมต่อปลายทาง นอกจากนี้ สถาปัตยกรรมของระบบเน็ตเวิร์กยังต้องสามารถมอบความปลอดภัยได้ไม่ว่าองค์กรจะใช้คลาวด์ใดก็ตาม รวมถึงสามารถจัดการให้ศูนย์ข้อมูล คลาวด์ และสาขา ดำเนินงานร่วมกันได้

ปัจจุบัน องค์กรต่างๆ ในประเทศไทยได้เริ่มปฏิรูประบบดิจิทัลในองค์กรเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า และพนักงาน และเพื่อผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งการปรับตัวนี้ยังส่งผลมาจากที่ในปัจจุบันผู้ใช้งานคุยเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น โดยจากข้อมูลของ International Telecommunication Union (ITU) ระบุว่าในปี พ.ศ. 2560 อัตราการสมัครสมาชิกบรอดแบนด์บนมือถือในประเทศไทยสูงถึง 99%

ขณะที่องค์กรต่างๆ พยายามจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารมากขึ้น ส่งผลให้ระบบเครือข่ายและการรักษาความปลอดภัยขององค์กรมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อมีการเคลื่อนย้ายของข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลส่วนกลาง (Centralized data centers) ไปยังแอปพลิเคชันต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ (hyper distributed applications) และที่ปลายทางของระบบเน็ตเวิร์ก (Edge) จึงเชื่อว่าองค์กรจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น

“แม้ว่า 5G จะยังไม่มาในไทย แต่เราก็เริ่มมีการพูดคุยกับลูกค้าเดิมของเราอย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) แล้วถึงทิศทางในการลงทุนด้านเทคโนโลยีดังกล่าว ดังนั้น จึงเชื่อว่าโอเปอเรเตอร์รายอื่นก็ต้องการเช่นกัน”

ด้านนายเอกภาวิน สุขอนันต์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย วีเอ็มแวร์ กล่าวว่า ในแง่มุมสำหรับบริษัทเอกชน แอปพลิเคชันในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน ในแง่มุมของภาครัฐ แอปพลิเคชันที่มีประสิทธิภาพจะสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพในการบริการของภาครัฐได้ ในฐานะที่ประเทศไทยกำลังถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้าตามดิจิทัลโรดแมป และวิสัยทัศน์ในการก้าวเป็นสมาร์ทซิตี วีเอ็มแวร์มุ่งมั่นที่จะช่วยให้องค์กรในประเทศไทยมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการช่วยให้สามารถสร้างสรรค์, จัดการ, รักษาความปลอดภัย และเชื่อมต่อแอปพลิเคชันเข้ากับผู้ใช้งาน และข้อมูล ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

ทั้งนี้ Economist Intelligence Unit ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 8 ของเอเชีย ในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล ขณะที่ไอดีซี คาดว่า ในปี 2561 จำนวน 30% ของซีไอโอในประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับการสร้างธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น และ 5G คือ โอกาสครั้งสำคัญที่ผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร จะสามารถสร้างความแตกต่าง และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ แก่ลูกค้า

เทคโนโลยี 5G จะช่วยให้ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารมีความคล่องตัว และความรวดเร็ว ในการสร้างและเปิดตัวแอปพลิเคชันและบริการใหม่ๆ รวมถึงช่วยให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ดียิ่งขึ้น สำหรับบริษัทด้านโทรคมนาคม และผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร (communications service providers-CSPs) ที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้งานในอนาคต ก็จะได้รับผลกระทบในแง่มุมต่างๆ เช่นกัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการใช้งานเทคโนโลยี 5G ผู้นำองค์กรต้องคิดไปให้ไกล มากกว่าแค่การวางเครือข่ายใยแก้วความเร็วสูง

นายซานเจย์ กล่าวต่อว่า ด้วยแอปพลิเคชันและข้อมูลที่กระจายตัวอยู่ทุกที่ องค์กรต่างๆ ไม่สามารถพึ่งพาเน็ตเวิร์กแบบฮาร์ดแวร์เดิมที่ติดตั้งภายในศูนย์ข้อมูลของตนเพื่อดำเนินธุรกิจได้อีกต่อไป ด้วยเวอร์ชวล คลาวด์ เน็ตเวิร์ก ธุรกิจจะสามารถสร้างสถาปัตยกรรมเน็ตเวิร์กที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์แบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยให้สามารถให้บริการแอปพลิเคชัน และข้อมูลได้ในทุกที่ เวอร์ชวล คลาวด์ เน็ตเวิร์ก สามารถใช้งานได้ในสเกลระดับโลก ทำให้การเชื่อมต่อจากจุดปลายทางของการใช้งานเน็ตเวิร์กหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งสอดคล้องกัน ที่สำคัญยังมีระบบรักษาความปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับแอปพลิเคชันและข้อมูลที่เป็นอิสระจากโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ หรือสถานที่ตั้ง

ดังนั้น เพื่อทำให้เกิดระบบเครือข่ายที่มีระบบการรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐานที่จำเป็น วีเอ็มแวร์ได้เปิดตัว VMware NSX และกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับรักษาความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยให้ฝ่ายไอทีสามารถควบคุม เชื่อมต่อ รักษาความปลอดภัย และใช้งานได้จากสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมือนกัน กลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ จะช่วยให้องค์กรสามารถเชื่อมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงทำให้แอปพลิเคชัน และข้อมูลที่อยู่ภายในดาต้าเซ็นเตอร์ สาขาองค์กร และคลาวด์ มีความปลอดภัย ลูกค้าจะสามารถจัดการระบบเครือข่าย และความปลอดภัยได้อย่างสอดคล้องกัน ทั้งในศูนย์ข้อมูลขององค์กร หรือบนพับลิกคลาวด์ เช่น AWS Azure และ IBM Cloud


กำลังโหลดความคิดเห็น