xs
xsm
sm
md
lg

อีริคสัน-กสทช. ประสานเสียงไทยจะไป 5G ค่ายมือถือต้องมีคลื่นในมือคนละ 100 MHz

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นาดีน อัลเลน และฐากร ตัณฑสิทธิ์
อีริคสัน กสทช. เห็นพ้อง ไทยจะก้าวสู่ยุค 5G ได้ โอเปอเรเตอร์ ต้องมีคลื่นรายละ 100 MHz รับเทคโนโลยี IoT และ AI หากใครเริ่มก่อนจะสามารถเพิ่มรายได้สูงถึง 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2569 ด้าน “ฐากร” แจงโอเปอเรเตอร์ไทยมีความถี่สูงสุดแค่ 55 MHz ชี้ชวนเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz

นาดีน อัลเลน ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2566 ประชากรทั่วโลก 20% จะใช้บริการ 5G ดังนั้น ในช่วงปี 2563-2565 ต้องมีการวางพื้นฐานคลื่นความถี่ให้ดี โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ต้องมีความถี่ทั้งคลื่นต่ำ กลาง สูง ผสมผสานกัน ซึ่งต้องมีปริมาณคลื่นความถี่อยู่ในมืออย่างน้อยรายละ 100 MHz และควรเป็นคลื่นที่อยู่ติดกันด้วย

ผลการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ของอีริคสัน เกี่ยวกับเครือข่ายเคลื่อนที่ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (enhanced mobile broadband) พบว่า วิวัฒนาการสู่ 5G จะช่วยลดต้นทุนต่อกิกะไบต์ให้น้อยลงถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับ 4G ในปัจจุบัน เพื่อช่วยผู้ให้บริการสามารถสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจจากการประยุกต์การใช้งานจากเทคโนโลยี 5G อีริคสันได้ขยายความสามารถของระบบเครือข่ายหลัก (Core Network) ให้รองรับ 5G NR รวมถึงเพิ่มศักยภาพด้วยโซลูชัน Distributed Cloud

อีกทั้ง รายงาน 5G Business Potential ของอีริคสัน พบว่า ผู้ให้บริการในประเทศไทยจะสามารถเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้นถึง 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 22% ของรายได้ที่คาดการณ์ไว้ภายในปี พ.ศ. 2569 โดยการพลิกโฉมสู่ระบบดิจิทัลของอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ยานยนต์ และการผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยี 5G และ IoT โดยอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมด้านพลังงาน และสาธารณูปโภค จะเป็นภาคส่วนที่ผู้ให้บริการสามารถสร้างรายได้จาก 5G ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ อีริคสัน ยังเปิดเผยรายงานผลกระทบของ 5G ต่ออุตสาหกรรม โดยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของ 5G จากบริษัทมากกว่า 900 แห่ง และพนักงานมากกว่า 1,000 คนใน 10 อุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน รายงานระบุว่า อุตสาหกรรมต่างๆ จะเริ่มทดสอบการใช้งาน 5G ในต้นปีนี้ หลังจากนั้น จะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมากกว่า70 % ของบริษัทเหล่านี้ มีเป้าหมายที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในกระบวนการผลิตภายในปี 2564

อุตสาหกรรมที่จะเริ่มนำมาใช้ในปี 2563 คือ ภาคการผลิต พลังงานและสาธารณูปโภค การขนส่งสาธารณะ และการบริการทางการเงิน ทั้งนี้ ผู้ให้บริการในประเทศไทยจะยกระดับสู่ 5G โดยหวังผลเชิงกลยุทธ์ในการสร้างความได้เปรียบในฐานะผู้บุกเบิกตลาดเป็นเจ้าแรก

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการในปัจจุบันกำลังมองหาวิธีเพิ่มความสามารถในการรองรับการใช้งานของเครือข่ายของตนโดยเฉพาะในเขตเมือง Street Macro ของอีริคสัน จะช่วยเติมเต็มการรองรับของเครือข่ายเพื่อยกระดับศักยภาพ ช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถตอบสนองตามความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นได้

การผสมผสานของผลิตภัณฑ์เครือข่ายรับส่งสัญญาณวิทยุที่เปิดตัวมาใหม่ ร่วมกับผลิตภัณฑ์เครือข่ายรับส่งสัญญาณวิทยุระบบ 4G ที่สามารถรองรับเทคโนโลยี 5G ซึ่งถูกใช้งานอยู่แล้วในปัจจุบัน จะช่วยให้ผู้ให้บริการในประเทศไทยสามารถเปลี่ยนผ่านจาก 4G สู่ 5G ได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น ด้วยแพลตฟอร์ม 5G ของอีริคสัน ผู้ให้บริการจะมีเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีโอกาสที่จะสร้างรายได้ใหม่ๆ จากผู้ใช้บริการกลุ่มใหม่ และการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

“5G และ IoT คือ พื้นฐานที่จะนำไปสู่วิสัยทัศน์ดิจิทัล ไทยแลนด์ เราเชื่อว่า ผู้ให้บริการในประเทศไทย และรัฐบาลควรเตรียมความพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อมองหาโอกาส และเข้าถึงศักยภาพจากเทคโนโลยี 5G ได้อย่างเต็มที่ อีริคสันอยู่ในฐานะที่เหมาะสมที่จะสนับสนุนผู้ให้บริการ และรัฐบาลบนเส้นทางที่มุ่งสู่ 5G เพราะเรากำลังสร้างระบบนิเวศ 5G ระดับโลกที่มีความแข็งแกร่ง และมีผลิตภัณฑ์ 5G ที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพื่อส่งเสริมการเติบโตที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว”

นาดีน กล่าวว่า สำหรับอีริคสันนั้น ได้เปิดตัวโซลูชันเครือข่ายรูปแบบใหม่ “Street Macro” เพื่อช่วยให้ผู้ให้บริการในประเทศไทยสามารถพัฒนาจากระบบ 4G ไปสู่ระบบ 5G โดยStreet Macro เป็นผลิตภัณฑ์เครือข่ายรับส่งสัญญาณวิทยุรุ่นใหม่จากอีริคสัน ที่ตอบโจทย์ผู้ให้บริการที่มีข้อจำกัดในการหาสถานที่ตั้งสถานีฐานในเขตเมือง 5G และ IoT (Internet of Things) จะส่งเสริมผู้ให้บริการในประเทศไทยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ ลดต้นทุนการปฏิบัติงาน พร้อมเร่งเดินหน้าสู่วิสัยทัศน์ดิจิทัลไทยแลนด์

นอกจากนี้ อีริคสัน ยังเปิดตัวผลิตภัณฑ์เครือข่ายรับส่งสัญญาณวิทยุรุ่นใหม่ที่สนับสนุนเทคโนโลยี Massive MIMO ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านจาก 4G ไปสู่ 5G เพิ่มศักยภาพความจุรองรับการใช้งานของเครือข่าย และลดความซับซ้อนสำหรับการนำไปใช้ในวงกว้าง

ทั้งนี้ อีริคสัน เปิดตัว 5G แพลตฟอร์มครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พร้อมขยายต่อยอดเพิ่มเติมในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ประกอบไปด้วย 5G Core, Radio และ transport portfolios พร้อมด้วยระบบสนับสนุนการปฏิบัติงาน และธุรกิจ (OSS/BSS) การบริหารเครือข่ายแ ละการรักษาความปลอดภัย

อีริคสัน ยังเปิดตัวซอฟต์แวร์เพื่อการพาณิชย์ โครงสร้างเครือข่ายวิทยุ (RAN) สำหรับเทคโนโลยี 5G ตามมาตรฐาน 3GPP 5G New Radio (NR) ที่ได้รับการอนุมัติเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้ โดยซอฟต์แวร์นี้จะช่วยเติมเต็มให้กับผลิตภัณฑ์เบสแบนด์ และผลิตภัณฑ์เครือข่ายรับส่งสัญญาณวิทยุ 5G ของอีริคสัน ที่ได้เปิดตัวไปแล้ว

ดังนั้น Radio System ของอีริคสันทั้งหมดที่ถูกติดตั้งตั้งแต่ปี 2558 จะสามารถรองรับ 5G NR ด้วยการติดตั้งซอฟต์แวร์ ซึ่งจะตอบสนองต่อปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้น และรองรับการเข้าถึงเนื้อหามัลติมีเดีย อย่างวิดีโอสตรีมมิง 4K/8K, Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้โอเปอเรเตอร์ไทยมีความจุของคลื่นความถี่เพียง 55 MHz, 45 MHz เท่านั้น ทั้งที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู กำหนดให้มีคลื่นรายละไม่น้อยกว่า 100 MHz ถึงจะสามารถให้บริการ 5G ได้ ดังนั้นในวันที่ 15 มิ.ย. นี้ ขอให้โอเปอเรเตอร์มายื่นซองเพื่อเข้าร่วมประมูลในวันที่ 4 ส.ค. นี้ ในคลื่น 1800 MHz เพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางธุรกิจ เพราะในปี 2563 จะเข้าสู่ยุคการให้บริการ IoT และ AI เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ดังนั้น 5G จะเป็นตัวขับเคลื่อนสองสิ่งนี้

ขณะที่ กสทช. เองก็มีแผนจะนำหลักเกณฑ์การคืนคลื่นความถี่ และมาตรการเยียวยาคลื่น เข้าที่ประชุม กสทช. ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อนำออกมาประชาพิจารณ์ภายในเร็วๆ นี้ โดยเชื่อว่าคลื่น 2600 MHz ของ อสมท จะเป็นคลื่นที่นำมาใช้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น