อย.-กสทช. ตรวจเข้มโฆษณาอาหารเสริมและเครื่องสำอางผิดกฎหมาย เริ่มเห็นผลช่องเก่าจำนวนลดลง แต่ยังพบช่องดาวเทียม และเคเบิลทีวี ที่ไม่เคยโฆษณา และเว็บไซต์ทำผิดเพิ่ม
พล.ท. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมด้วยนายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ ภก. สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 21-25 พ.ค. 2561 สำนักงาน กสทช. และ อย. ยังได้ทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3
พบว่าจำนวนช่องทีวีดิจิทัลที่มีการออกอากาศโฆษณาผิดกฎหมายมีจำนวนลดลงเช่นเดียวกับช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และเคเบิลทีวี ที่เคยสั่งระงับการออกอากาศโฆษณาผิดกฎหมายช่วงสองสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีจำนวนลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม พบว่ามีช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และเคเบิลทีวีช่องใหม่ที่ยังไม่เคยโฆษณา และเว็บไซต์ มีการกระทำผิดเพิ่มขึ้น
นายฐากร เปิดเผยว่า สำหรับช่องทีวีดิจิทัลที่พบสัปดาห์ก่อนมีทั้งหมด 3 ช่องที่ออกอากาศโฆษณาอาหารและเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ได้แก่ 1. ช่องสปริงนิวส์ ผลิตภัณฑ์อัลฟ่า คอลโรฟิลล์ พลัส 2. ช่อง NOW ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชาริส และ 3. ช่องเนชั่นทีวี ผลิตภัณฑ์ LOLITA
ส่วนช่องโทรทัศน์ดาวเทียม และเคเบิลทีวี ที่เพิ่มใหม่มีจำนวน 7 ช่อง ได้แก่ 1. ช่อง T Variety 2. ช่อง 4050 Channel 3. ช่อง Hit Variety 4. ช่อง People TV 5. ช่อง Lao Star 6. ช่อง DOONEE Series และ 7. ช่อง Cool Channel รวมผลิตภัณฑ์ที่พบใหม่ 10 ผลิตภัณฑ์ คือ สบู่สมุนไพร จาเป่า, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เมก้าไวท์, เครื่องสำอาง มิราเคิลไวท์, ผลิตภัณฑ์ Kriss, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันมะพร้าวชนิดแคปซูล ออร์กรีน, ผลิตภัณฑ์อาหารน้ำมันงาดำสกัดเย็น ตรา นิโกะ, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตรานพเก้า, ผลิตภัณฑ์อาหาร เมก้า-ไวท์, ผลิตภัณฑ์ Delsy Super Solution Serum และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพชง ซึ่งจากการตรวจพบผลิตภัณฑ์ในสัปดาห์นี้จะเป็นกลุ่มเครื่องสำอางที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ฝ่าฝืนมาตรา 41 วรรค 2 พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
ขณะที่เว็บไซต์พบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายเพิ่มอีก 50 URL ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กระตุ้นและยกระดับภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคต่างๆ ผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาว ปรับสมดุลผิว ลดความหมองคล้ำ และผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพทางเพศ
“สัปดาห์นี้ภาพรวมจะเห็นชัดเจนว่าจำนวนช่องเก่า และผลิตภัณฑ์ที่มีการออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมายมีจำนวนลดลง เป็นทิศทางที่ดีขึ้นในกลุ่มโทรทัศน์ช่องเก่า แต่ก็ยังพบช่องใหม่ที่ทำผิด ซึ่งเป็นช่องดาวเทียม และเคเบิลทีวี และเว็บไซต์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น” นายฐากร กล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16-18 พ.ค. 2561 พบว่ามีทีวีดิจิทัลเพียง 2 ช่องที่ออกอากาศโฆษณาอาหารและเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ส่วนช่องโทรทัศน์ดาวเทียม และเคเบิลทีวี มีทั้งหมด 10 ช่อง รวม 13 ผลิตภัณฑ์ และโฆษณาในฝั่งเว็บไซต์มีจำนวน 20 URL ส่วนวันที่ 4-15 พ.ค. 2561 ซึ่งเป็นสัปดาห์แรกที่ทั้งสองหน่วยงานร่วมมือกัน สำนักงาน กสทช. ได้ระงับการออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมายในทีวีดิจิทัลไปแล้ว จำนวน 7 ช่อง รวม 13 ผลิตภัณฑ์ ช่องโทรทัศน์ดาวเทียม และเคเบิลทีวี จำนวน 25 ช่อง 22 ผลิตภัณฑ์ และเว็บไซต์จำนวน 10 URL