xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.-อย. พบช่องออกอากาศโฆษณาอาหารผ่านทีวีลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กสทช.-อย. เดินหน้าสั่งระงับการออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมายทั้งอาหาร และเครื่องสำอางต่อเนื่อง หลังพบจำนวนช่องที่ออกอากาศลดลง ทีวีดิจิทัลเหลือเพียง 2 ช่อง แต่เว็บไซต์เพิ่มสูงขึ้น

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมด้วยนายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ ภก. สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า หลังจาก อย. กับ กสทช. ได้ทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. เป็นต้นมา พบว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยจำนวนช่องที่มีการออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมายมีจำนวนลดลง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16-18 พ.ค. 2561 พบว่ามีทีวีดิจิทัลเพียง 2 ช่องที่ออกอากาศโฆษณาอาหารและเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ได้แก่ ช่องสปริงนิวส์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร REAL อัลฟ่า คลอโรฟิลล์ และช่อง Nation TV ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชาริส ส่วนช่องโทรทัศน์ดาวเทียม หรือเคเบิลทีวี มีทั้งหมด 10 ช่อง รวม 13 ผลิตภัณฑ์ แต่การโฆษณาในฝั่งเว็บไซต์มีจำนวนเพิ่มขึ้น 20 URL ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาว่ามีผลกับโครงสร้างของร่างกาย การเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณเพื่อการรักษาโรค

เมื่อเปรียบเทียบจากวันที่ 4-15 พ.ค. 2561 ซึ่งเป็นสัปดาห์แรกที่ทั้งสองหน่วยงานร่วมมือกัน สำนักงาน กสทช. ได้ระงับการออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมายในทีวีดิจิทัลไปแล้ว จำนวน 7 ช่อง รวม 13 ผลิตภัณฑ์ ช่องโทรทัศน์ดาวเทียม หรือเคเบิลทีวี จำนวน 25 ช่อง 22 ผลิตภัณฑ์ และเว็บไซต์ จำนวน 10 URL

“หลังจากสำนักงาน กสทช. และ อย. ได้ทำงานร่วมกันเพื่อระงับการออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมาย พบว่า ขณะนี้ทิศทางเริ่มดีขึ้น จำนวนโฆษณาที่ผิดกฎหมายที่ไปออกช่องทีวีดิจิทัลเริ่มลดลง แต่ยังคงมีเว็บไซต์ที่อาจเพิ่มขึ้น แต่ทั้งสองหน่วยงานจะยังทำงานร่วมกันติดตามโฆษณาเหล่านี้อย่างเข้มข้น ผมเชื่อว่าในช่วง 1-2 เดือนจากนี้ แนวโน้มโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ผิดกฎหมายที่ออกอากาศผ่านโทรทัศน์จะมีจำนวนลดลง” นายฐากร กล่าว

ด้าน ภก. สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่า โฆษณาที่ผิดกฎหมายอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่โฆษณาว่าเป็นยารักษาโรค ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ส่วนเครื่องสำอางจะเป็นลักษณะการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจว่ามีผลต่อโครงสร้างของร่างกาย เช่น การปรับสีผิว ผิวขาว และหยุดผมร่วง ส่วนโฆษณาผ่านเว็บไซต์ที่พบเป็นเรื่องการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งได้ส่งเรื่องให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น