xs
xsm
sm
md
lg

TU Care แอปฯ ช่วยเลือกบุรุษพยาบาลผู้สูงวัยให้ตรงความต้องการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จากปัญหาที่สังคมไทยในปัจจุบันกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเหมือนประเทศญี่ปุ่น จากการเทียบอัตราส่วนของบ้านที่เป็นครอบครัวขนาดกลาง ลูก 1 คนอาจจะต้องดูแลทั้งพ่อและแม่ เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องมีการดูแลเฉพาะแตกต่างจากวัยอื่นๆ จากสภาพร่างกายและโรคภัยไข้เจ็บของแต่ละคนที่ต่างกัน จึงต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาดูแลเป็นพิเศษ

นายบุตรคุณ เอี่ยมพงษ์ไพฑูรย์ และ นายภูวดิษฐ์ โรจนะสิทธิพงศ์ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “TU Care แมชชิ่งบุรุษพยาบาล” ขึ้นมา แอปฯ นี้จะแบ่งการใช้งานออกเป็น 2 ส่วนคือ ผู้สูงอายุ สำหรับใช้ค้นหาผู้ดูแลที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง โดยอาศัยข้อมูลจีพีเอส พร้อมกันนี้ระบบจะทำการบันทึกข้อมูลของผู้ดูแลอย่างละเอียด ทั้งชื่อ-นามสกุลจริง หน่วยงานที่สังกัด ความเชี่ยวชาญในการดูแล วันและเวลาที่สะดวก ฯลฯ และส่วนของผู้ดูแล ที่สามารถเลือก “รับการดูแล” หรือ “ปฏิเสธ” ได้ตามความเหมาะสม แอปฯ ยังระบุข้อมูลของผู้สูงอายุ ทั้งชื่อ-นามสกุลจริง อาการเจ็บป่วย อาการแพ้ วันเวลาที่สะดวก เบอร์ติดต่อญาติ (กรณีฉุกเฉิน) ฯลฯ



นักศึกษาทั้งสองอธิบายให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงการทำงานของแอปฯ ดังนี้ ทางฝั่งของผู้ดูแลจะเข้าระบบด้วยหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้ จากนั้นระบบจะส่งรหัสสำหรับเข้าสู่ระบบมายังข้อความ เป็นรหัสแบบใช้ครั้งเดียว เมื่อเข้าระบบได้แล้ว จะรอกล่องขาเข้าเพื่อรอผู้สูงอายุหรือผู้ส่งคำร้อง ส่งคำร้องเข้าสู่ระบบ ซึ่งทางฝั่งผู้ส่งคำร้องสามารถเลือกผู้ดูแลได้จากแผนที่ ที่แสดงผู้ดูแลที่อยู่บริเวณใกล้เคียง หรือเลือกได้จากรายการ ซึ่งในรายการผู้ส่งคำร้องสามารถเลือกกด คัดกรองเพศ อายุ คะแนนรีวิวสูงสุด-ต่ำสุด และความทักษะของผู้ดูแลได้

“เมื่อเลือกผู้ดูแลได้แล้ว ที่หน้าต่างนั้นจะมีรายละเอียดของผู้ดูแลและรีวิวเกี่ยวกับผู้ดูแลคนนี้ จากผู้ที่เคยรับบริการก่อนหน้า หากอ่านแล้วรู้สึกว่าผู้ดูแลคนนี้ดีผู้ส่งคำร้องสามารถกดจองได้เลย หลังจากที่จองแล้วก็สามารถเลือกวันและเวลาที่ต้องการรับการดูแล ระบบจะจับคู่ทั้งสองฝั่งให้เกิดการดูแลและได้รับการดูแล เมื่อฝั่งของผู้ส่งคำร้องกดจับคู่เสร็จแล้ว จะขึ้นรหัส 4 ตัวที่แถบด้านล่างสุดของหน้าจอขึ้นมา ในส่วนคำร้องจะเด้งเข้ามาที่กล่องขาเข้าของฝั่งผู้ดูแล ผู้ดูแลจะเห็นว่า ใครเป็นผู้ส่งคำร้องเข้ามา พร้อมมีแจ้งเตือนที่แถบแจ้งเตือนของมือถือ ผู้ดูแลสามารถกดเข้าไปดูข้อมูลรายละเอียดของผู้ส่งคำร้องได้ และยังสามารถเลือกได้ว่าจะยืนยันการจองหรือจะยกเลิกการจองของผู้ขอรับการดูแลได้”

ถ้าผู้ดูแลกดรับการจองแล้ว แอปฯ จะให้กดโทรไปหาผู้ส่งคำร้อง เพื่อขอรหัส 4 ตัว ที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอของฝั่งผู้ส่งคำร้อง ซึ่งทางทีมพัฒนาตั้งค่าให้มีการโทรหากัน เนื่องจากต้องการให้เกิดความคุ้นเคยในเบื้องต้นก่อน เมื่อได้รับรหัส 4 ตัวจากทางฝั่งผู้ส่งคำรองแล้ว ฝั่งผู้ดูแลจะกดยืนยัน และใส่รหัส 4 ตัวที่ได้มาเพื่อทำการจับคู่ เมื่อกดยืนยันพร้อมใส่รหัสเสร็จแล้ว ที่หน้าต่างของแอปฯฝั่งผู้ดูแล ข้อมูลผู้ส่งคำร้องจะเข้าไปอยู่ที่กล่องผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแล ส่วนแอปฯ ทางฝั่งผู้ส่งคำร้องจะมีข้อมูลของผู้ดูแลเข้าไปอยู่ที่แถบข้างตรงรายการจองและมีส่วน QR code ปรากฏขึ้นมา

“เมื่อเริ่มงาน ผู้ดูแลต้องทำการกดปุ่มเริ่มงาน และสแกน QR code จากหน้าจอฝั่งผู้ส่งคำร้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ทั้งคู่มาเจอตัวกันจริงๆ เมื่อสแกนเสร็จแล้ว หน้าต่างของกล่องบันทึกกิจกรรมประจำวันจะปรากฏขึ้นมาที่มือถือของผู้ดูแล ผู้ดูแลจะทำการบันทึกสิ่งที่ดูแลผู้ป่วยลงไปในกล่อง เมื่อเสร็จสิ้นการดูแล ผู้ดูแลก็จะทำการกด “จบการดูแล” ทางฝั่งผู้ส่งคำร้องจะต้องให้ความเห็นหรือรีวิวการดูแล โดยการกดเข้าไปที่ไอคอนข้างๆ ไอคอนคัดกรอง ที่หน้ารีวิวจะมีการให้คะแนนเป็นดาวและใส่ความคิดเห็น เมื่อฝั่งผู้ส่งคำร้องรีวิวเสร็จ ทั้งคะแนนและความคิดเห็นจะไปปรากฏในโปรไฟล์ของผู้ดูแลคนดังกล่าว เพื่อให้ผู้ขอรับการดูแลคนต่อไปเข้ามาดูได้”

นายบุตรคุณ กล่าวว่า ปัญหาในตอนนี้เป็นเรื่องการที่ไม่มีผู้ใช้งานจริงมาใช้แอปฯ เพราะแอปฯ ดำเนินการด้วยการมีผู้ใช้จริงเข้ามาใช้ แต่อนาคตวางแผนไว้ว่า จะนำไปใช้กับหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อที่จะได้ลดขั้นตอนของการตรวจสอบพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลที่จะเข้ามาเป็นผู้ดูแล โดยให้ทางกระทรวงเป็นคนคัดกรองและเป็นคนกรอกประวัติผู้ดูแลเข้าไประบบเลย เนื่องจากทางกระทรวงจะมีบัญชีรายชื่อของผู้มีใบรับรองอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและป้องกันผู้ไม่หวังดีมาสมัครเป็นผู้ดูแล

“แอปฯ นี้เป็นแอปฯ ที่ผู้สูงอายุเป็นผู้เลือกผู้ดูแล โดยในปัจจุบันการส่งคำร้องเพื่อดูแลยังเป็นการดูแลแบบวันต่อวันอยู่ ต่อไปอาจมีการส่งคำร้องเพื่อขอรับกรดูแลเป็นรายอาทิตย์หรือรายเดือน จากนั้นจะพัฒนาให้ไปอยู่ระบบ iOS และปรับหน้าต่างของแอพลิเคชัน (User Interface) ให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น เพราะบางทีอาจจะเป็นผู้สูงอายุเข้ามาใช้งานเอง และเรื่องสุดท้ายที่จะพัฒนาคือเรื่องของการจ่ายเงิน เนื่องจากในช่วงแรกผู้ดูแลจะได้รับค่าตอบแทนเป็นการยินยอมจ่ายและรับจากทั้งสองฝ่ายก่อน หลังจากเปิดระบบไปได้ซักพักอาจจะมีโปรแกรมตัดเงินผ่านบัตรเข้ามาเสริม จุดเด่นของแอปฯ นี้ คือ ช่วยหาคนและคัดกรองคนที่จะมาดูแลผู้สูงอายุไปในตัว โดยจะได้ผู้ดูแลที่มีทักษะเฉพาะทางจริงๆ เพราะในตัวแอปฯ มีตัวคัดกรองที่เราสามารถเลือกได้ว่าต้องการผู้ดูแลแบบไหน หากไม่มีแอปฯ นี้ต้องทำการติดประกาศหาคนและจะใช้เวลานาน” นายบุตรคุณระบุ



กำลังโหลดความคิดเห็น