xs
xsm
sm
md
lg

6 เทรนด์ชี้เป้า Apple ครึ่งหลังปี 2018

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทุกสิ่งที่ถูกประกาศในงานประชุมนักพัฒนาประจำปีของแอปเปิล ล้วนบอกใบ้เส้นทางที่เจ้าพ่อไอโฟนจะเดินไปตลอด 6 เดือนที่เหลือของปี สำหรับปีนี้ งาน WWDC 2018 ถูกใช้เป็นเวทีจุดประกายให้นักพัฒนาเตรียมตัวรับโอกาสใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการอัปเดตทั้ง iOS, watchOS, tvOS และ macOS

ขณะที่ผู้บริโภคคาดหวังเรื่องดีไวซ์ใหม่ ภายในงานปีนี้ไม่มีการเปิดตัวอุปกรณ์ หรือบริการใหม่ใดๆ ออกมาเลย แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะย้อนกลับไป 2 ปีก่อนหน้านี้ ทางแอปเปิลก็เคยไม่ประกาศเปิดตัวสินค้าหรือบริการมาแล้วในงาน WWDC 2016

ดังนั้น โฟกัสหลักของงานจึงตกไปอยู่กับการพัฒนาฟีเจอร์ และประสิทธิภาพโดยรวม ที่จะมาช่วยยกระดับอีโคซิสเตมส์ของแอปเปิล ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ยังช่วยให้เห็นทิศทางที่แอปเปิล จะก้าวเดินต่อไปในอุตสาหกรรมนี้

***1. ขนาดทิม คุก ยังบอกว่าใช้ iPhone มากเกินไป

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจหลังจากงาน WWDC 2018 “ทิม คุก” ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทางซีเอ็นเอ็น (CNN) ระบุถึงพฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทโฟนของเขาในปัจจุบันว่า เขาใช้เวลากับมือถือมากเกินไป และคิดว่าผู้ใช้ควรมีทางเลือกในการใช้งานให้มากขึ้น

ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสืบเนื่องจากที่ในงาน WWDC 2018 เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ทางแอปเปิล ได้มีการเปิดเผยถึงฟีเจอร์ใหม่ที่จะมาบน iOS เวอร์ชัน 12 ที่จะเปิดให้ผู้บริโภคทั่วไปใช้งานได้ในช่วงปลายปีนี้ ด้วยการแนะนำเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานรับรู้ว่าในแต่ละวันใช้งาน iPhone ไปมากน้อยแค่ไหน

จุดสำคัญ คือ ฟีเจอร์อย่าง Screen Time ไม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพียงแค่แจ้งว่า ในแต่ละวันผู้ใช้หยิบจับ iPhone กี่ครั้ง เปิดใช้งานหน้าจอกี่นาที หรือกี่ชั่วโมง แต่ยังใส่ใจรายละเอียดมากกว่านั้นว่า ในแต่ละวันใช้งานแต่ละแอปใดเป็นเวลาเท่าไหร่ ไปจนถึงมีรายงานให้ดูในแต่ละสัปดาห์ว่า การใช้ในช่วงเวลาใดมีการแจ้งเตือนเข้ามาเป็นประจำ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ตั้งจำกัดเวลาในการใช้งานแอปพลิเคชันได้ โดยเมื่อใช้งานไปจนใกล้ถึงเวลาที่กำหนดจะมีการแจ้งเตือนขึ้นมา และในกรณีที่หมดเวลาการใช้งานแล้วตัวแอปจะไม่สามารถใช้งานได้ โดยจะแสดงผลขึ้นมาว่าครบเวลาที่กำหนดแล้ว แต่ถ้าต้องการใช้งานต่อจริงๆ ก็สามารถกดยกเลิกได้

ความสามารถดังกล่าวยังเปิดให้ผู้ปกครองสามารถเข้าไปควบคุมระยะเวลาในการใช้งาน iOS ดีไวซ์ของบุตรหลาน โดยสามารถกำหนดให้สามารถใช้งานแอปตามช่วงเวลา และระยะเวลาที่กำหนดได้ ผ่านโปรแกรมอย่าง Family Sharing ที่แอปเปิลให้ความสำคัญเสมอมา

ที่น่าสนใจ คือ ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ทางกูเกิล (Google) ประกาศฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับ Digital Wellbeing โดยเป็นการแสดงรายละเอียดการใช้งานแอนดรอยด์โฟน (Android Dashboard) ที่ใกล้เคียงกันออกมา


แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตเทคโนโลยีเริ่มตระหนักแล้วว่า ด้วยพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว จึงทำให้เกิดแนวคิดในการนำข้อมูลเหล่านี้มาแสดงผล เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงการใช้งานที่เกิดขึ้น และถือเป็นทิศทางที่ดีของแบรนด์ระดับโลกที่ผู้ผลิตหันมาใส่ใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

***2. ให้ Siri เข้ามาช่วยแทน

ในส่วนของผู้ช่วยส่วนตัวอย่าง สิริ (Siri) ทางแอปเปิล ก็มีการพัฒนาความสามารถให้มากขึ้นบน iOS 12 ด้วยการเพิ่มความสามารถในการป้อนชุดคำสั่งของ Siri (Siri Shortcuts) ให้ตอบสนองกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต

ภายในงานได้มีการยกตัวอย่างที่ช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น คือ เมื่อสั่ง Siri ว่ากำลังเดินทางกลับบ้าน ชุดคำสั่งที่ตั้งค่าไว้ อย่างการเปิดแผนที่นำทางกลับบ้านก็จะเปิดขึ้นบน iPhone หรือระบบนำทางในรถยนต์

ถัดมา คือ การส่งข้อความแจ้งเตือนที่บ้านว่ากำลังเดินทางกลับ จะถึงในเวลาเท่าใด โดยใช้การคำนวนระยะทางจากแผนที่ นอกจากนี้ ยังสามารถป้อนชุดคำสั่งเพิ่มเติมคู่กับการสั่งงานระบบสมาร์ทโฮมอย่าง สั่งให้เปิดไฟหน้าบ้าน เปิดเครื่องปรับอากาศในห้องนอนก่อนถึงบ้าน 5 นาที เป็นต้น

ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการสั่งงานเพียงประโยคเดียวว่า “เดินทางกลับบ้าน” แน่นอนว่า ผู้ใช้สามารถประยุกต์ใช้คำสั่งเหล่านี้ ร่วมกับประโยคสั่งงานอื่นๆ อย่างเช่น กรณีที่ตอนเช้าเดินทางออกจากบ้าน ต้องแวะร้านกาแฟ เพื่อซื้อก่อนเข้าที่ทำงานเป็นประจำ ก็สามารถสั่งให้ Siri ส่งข้อความบอกที่ร้านกาแฟว่ากำลังจะไปถึงในกี่นาที

ที่น่าสนใจ คือ ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคที่ได้ประโยชน์จากการสร้างชุดคำสั่งดังกล่าว แต่ในมุมของนักพัฒนาก็เช่นกัน เพราะช่วยให้สามารถตั้งชุดคำสั่งสำเร็จรูปให้ Siri นำไปใช้งานได้สะดวกขึ้น จากเดิมที่ผู้ใช้ต้องมาคอยสั่งงานทีละอย่าง

***3. มุ่งพัฒนา AR ต่อเนื่อง

อีกความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจภายในงาน คือ การที่แอปเปิล ใช้ระยะเวลากว่า 20 นาที ในการแสดงให้นักพัฒนาเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี AR พร้อมกับการประกาศใช้งานไฟล์รูปแบบใหม่ในชื่อนามสกุล USDZ ที่สามารถบันทึกรายละเอียดของไฟล์กราฟิก 3 มิติ และแอนิเมชันได้

พร้อมกับดึงทาง Adobe ออกมาช่วยสร้างความมั่นใจแก่ท้องตลาดว่า การอัปเดตครั้งต่อไปของชุดโปรแกรม Adobe CC จะรองรับการใช้งานไฟล์ดังกล่าวเช่นเดียวกับการใช้งานบนอุปกรณ์ iOS รวมถึงการนำผู้ผลิตของเล่นอย่าง Lego มานำเสนอรูปแบบของเล่นในยุคดิจิทัลที่ผสมผสาน Lego เข้ากับโลกของ AR ที่จะช่วยเปิดโลกแห่งจินตนาการได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็แสดงให้นักพัฒนาเห็นถึงความสามารถที่พัฒนาขึ้นของชุดเครื่องมือการเขียนโปรแกรม ARkit2 ที่เปิดให้สามารถใช้งานพร้อมๆ กันหลายดีไวซ์ รวมถึงความแม่นยำในการนำ AR ไปใช้สร้างวัตถุจำลอง หรือวัดขนาดพื้นที่ต่างๆ

***4. ยกระดับ Apple Watch ให้ฉลาดมากขึ้น

ถัดจากการนำเสนอ iOS 12 ก็ถึงคราวของ Apple Watch ที่ในคราวนี้ถูกนำเสนอในแง่ของการเป็นเครื่องมือที่จะมาช่วยติดตามสุขภาพของผู้ใช้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้การสื่อสารได้ง่ายขึ้นผ่านฟีเจอร์ใหม่อย่าง Walkie-Talkie

เริ่มด้วยการเรียกดราม่าจาก ทิม คุก ที่ขึ้นมาเล่าให้ฟังว่า ก่อนงานนี้จะเริ่มขึ้น Apple Watch ได้กลายเป็นอุปกรณ์ในการช่วยชีวิตคุณตาคนหนึ่งที่เกิดโรคหัวใจกำเริบขณะเดินอยู่ในสวนสาธรณะ ซึ่งโชคดีที่เขาสวมใส่ Apple Watch Cellular อยู่จึงสามารถใช้โทร.เรียกรถฉุกเฉินได้ทันเวลา

ความสามารถที่น่าสนใจของ WatchOS ใหม่ ก็คือการเพิ่มโหมดแข่งขัน เพื่อท้าทายกับเพื่อนๆ ในการออกกำลังกาย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้งานออกกำลังกาย หรือใช้ชีวิตให้มีสุขภาพดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อชนะการท้าทายต่างๆ ก็จะได้รับรางวัลเป็นเข็มกลัดภายในแอปพลิเคชัน

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอรูปแบบการสื่อสารใหม่บน Apple Watch ด้วยการนำแนวคิดของวิทยุสื่อสาร Walkie-Talkie มาใช้งาน ด้วยการติดตั้งลงบนนาฬิกา ทำการเชื่อมต่อกันจากรายชื่อผู้ติดต่อ หลังจากนั้น ก็สามารถใช้ Apple Watch คุยกับเพื่อนได้ตลอดเวลาที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

***5. ผสมผสานการใช้งาน mac เข้ากับ iOS

ถือเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องหลังจากที่แอปเปิล เริ่มนำเสนอ iPad Pro ออกสู่ท้องตลาดว่า ในอนาคต ทางแอปเปิล จะทำการรวม iOS และ macOS เข้าด้วยกัน เพราะปัจจุบัน iPad Pro ก็สามารถทำงานในหลายๆ อย่างได้ไม่ต่างจากบนเครื่องแมคแล้ว

แต่ภายในงานทางแอปเปิล ออกมายืนยันว่าจะไม่มีการรวม iOS เข้ากับ macOS แน่นอน เพราะในท้ายที่สุดแล้วการใช้งานของผู้บริโภคก็แตกต่างกันอยู่ดี เพียงแต่ว่าจะมีการนำเครื่องมือบางส่วนมาให้นักพัฒนาใช้งาน ด้วยการแปลงแอปที่ใช้บน iOS เข้ามาใช้งานบน macOS ได้ ทำให้นักพัฒนาแอปบน iOS มีโอกาสในการขยายตลาดมากขึ้น เพราะถ้าพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาแล้วสามารถใช้งานได้ทั้งบน iPhone iPad และ mac ก็จะมีโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้แมค สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบ Apple Home เพื่อสั่งงานระบบสมาร์ทโฮมได้ด้วย จากเดิมที่ผู้ใช้สามารถสั่งงานได้เฉพาะบนอุปกรณ์ iOS หรือลำโพงอัจริยะอย่าง HomePod เท่านั้น

***6. รอใช้งานกันปลายปี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ควรรับรู้ไว้ คือ กว่าผู้บริโภคทั่วไปจะสามารถเข้าถึงฟีเจอร์ที่เปิดตัวภายในงานนี้ได้ ก็ต้องรอให้ทางแอปเปิล ปล่อยอัปเดตระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ทั้ง iOS 12, watchOS 5, tvOS 12 และ macOS 10.14 Mojave ในช่วงปลายปีนี้

เพราะปัจจุบันจะมีเพียงกลุ่มนักพัฒนาเท่านั้น ที่สามารถดาวน์โหลดระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ไปใช้งานบนพื้นฐานของการทดสอบใช้งานแอปพลิเคชันเป็นหลักเท่านั้น ซึ่งตามปกติแล้วกว่าแอปเปิล จะเปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปอัปเดตไปใช้งานก็จะอยู่ในช่วงที่มีผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ออกมา

เบื้องต้น หลังจากมีผู้ดาวน์โหลด iOS 12 เวอร์ชันสำหรับนักพัฒนาไปติดตั้งใน iPad แล้วกลับพบว่า รูปแบบการสั่งงานบน iPad เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ในการใช้งานจำเป็นต้องใช้ควบคู่กับปุ่มโฮม แต่กลายเป็นว่าสามารถใช้วิธีการปัดใช้งานแบบใน iPhone X ได้แล้ว ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า iPad รุ่นใหม่ที่จะออกมาทำตลาด อาจจะมีการตัดปุ่มโฮมออกไป และใส่กล้อง TrueDepth เข้ามาช่วยในการปลดล็อกด้วยใบหน้าแทน ซึ่งจะควบคู่ไปกับการผลักดัน Memoji ให้ผู้ที่ไม่ได้ใช้งาน iPhone X สามารถใช้งานได้ด้วย

จะเห็นได้ว่าภายในระบบปฏิบัติการใหม่เหล่านี้ จะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถคาดการณ์ถึงผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่ออกมาได้ ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้ผู้บริโภคที่เฝ้ารอนวัตกรรมจากแอปเปิลมีความหวังเพิ่มขึ้นด้วย

---------

รู้จักนักพัฒนาไทย จาก “Rakuten Viki” ที่เข้าร่วม WWDC2018

ตลาดวิดีโอสตรีมมิงในต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป กลายเป็นตลาดใหญ่ของ Rakuten Viki แอปพลิเคชันวิดีโอสตรีมมิงที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ และที่น่าสนใจ คือ หนึ่งในทีมที่พัฒนาแอปในปัจจุบัน คือ คนไทย

ธงชัย กลยุทธสกุล นักพัฒนาแอปพลิเคชันบน iOS ของ Viki เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของ Viki ว่า ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2007 ก่อนถูกราคุเท็น ซื้อกิจการไปในปี 2013 ด้วยมูลค่ากว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นดีลขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น

การให้บริการวิดีโอสตรีมิงของ Viki จะเน้นการนำซีรีส์เกาหลี และเอเชียทั้งหลาย ไปฉายในแถบสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งภายในแอปมีจุดเด่นอยู่ที่กลุ่มผู้ใช้สามารถช่วยกันแปลคำบรรยายของซีรีส์เรื่องต่างๆ ได้ โดยมีผู้ดูแลควบคุมอีกทีหนึ่ง

ที่น่าสนใจ คือ ตลาดหลักของ Viki กลับเป็นชาวต่างชาติที่ไม่ใช่เอเชียเป็นหลัก แสดงให้เห็นถึงพลังของคอนเทนต์จากซีรีส์เกาหลี และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ ไม่แพ้ซีรีส์ฝรั่งที่เข้ามาทำตลาดในเอเชีย

ส่วนวิธีการสร้างรายได้ของ Viki จะมีด้วยกัน 2 ช่องทาง คือ การสมัครสมาชิกรายเดือน-รายปี ในราคา 4.99 เหรียญสหรัฐฯ และ 49.99 เหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ หรือถ้าไม่สมัครสมาชิกก็จะมีการขึ้นโฆษณาระหว่างรับชม

ธงชัย ยังฝากถึงนักพัฒนารุ่นใหม่ที่กำลังฝึกฝน และเรียนรู้อยู่ว่า ในการเป็นนักพัฒนาที่ดี ควรที่จะเรียนรู้ทางด้านธุรกิจด้วย เพราะนักพัฒนาส่วนใหญ่จะมีความรู้แค่การเขียนโปรแกรมเป็นหลัก ทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่งสามารถเขียนโปรแกรมได้ แต่ไม่มีพื้นฐานทางธุรกิจก็จะทำให้ต่อยอดได้ยาก

เมื่อถามถึงความประทับใจจากงาน WWDC 2018 ในครั้งนี้ ธงชัย ยกตัวอย่างมาให้เห็นได้ชัดเจน 2 อย่าง คือ เรื่องของการที่แอปเปิลเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพของตัวเครื่องบน iOS 12 ที่แม้ว่าจะเป็นเครื่องรุ่นเก่า แต่ก็ใช้งานได้เร็วขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมองถึงความสะดวกในการใช้งานชุดคำสั่งของ Siri ที่จะเปิดโอกาสให้นักพัฒนาแอปสามารถเชื่อมต่อเข้ากับผู้ช่วยส่วนตัวได้สะดวกขึ้น และจะทำให้เห็นการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้นด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น