สหภาพฯ ทีโอที ออกแถลงการณฺ์ขับไล่ มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เหตุหมดความชอบธรรมในการบริหารจัดการ พร้อมเรียกร้องให้ลาออกภายในวันที่ 6 พ.ค. นี้ ไม่เช่นนั้น การประชุมที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 พ.ค. จะเปลี่ยนเป็นการชุมนุมขับไล่แทน
นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทีโอที เดินหน้าออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 3 โดยระบุว่า ทุกวันนี้ด้วยการลุกฮือของพนักงาน บมจ. ทีโอที และสมาชิก สรท. ทั่วประเทศ สวมชุดดำ และเข้าร่วมกิจกรรมของ สรท. หลายครั้ง เช่น การร่วมเดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ในวันที่ 12 มีนาคม การไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม
การเดินเท้าจากกระทรวงการคลังไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 30 มีนาคม หรือการทำกิจกรรมถือป้ายประท้วงที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่แจ้งวัฒนะ และการเดินเท้าไปกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในวันที่ 25 เมษายน และอีกหลายๆ กิจกรรมที่ผ่านมา
เพื่อร่วมกันคัดค้านการจัดตั้งบริษัท NBN และบริษัท NGDC และการโอนทรัพย์สินโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ไปให้บริษัท NBN และบริษัท NGDC ที่จัดตั้งขึ้น ที่ดำเนินการโดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทีโอที โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของพนักงานในองค์กร และไม่เคยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับการประกอบธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของ บมจ. ทีโอที
การทำกิจกรรมในหลายๆ ครั้งของ สรท. ได้สร้างการรับรู้ในเชิงสังคมมากขึ้นทั้งภายในและภายนอก บมจ. ทีโอที ว่า ขณะนี้กำลังเกิดปัญหาภายใน บมจ. ทีโอที ด้วยจะมีการถ่ายโอนสมบัติชาติ ได้แก่ โครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ไปไว้ในนิติบุคคลที่จัดตั้งโดยกฎหมายประกอบกิจการของเอกชน (บริษัท NBN และบริษัท NGDC) สุ่มเสี่ยงที่สมบัติชาตินี้ จะถูกเปลี่ยนมือไปสู่นายทุนเอกชนอย่างง่ายดาย
ทำให้ บมจ. ทีโอที หมดคุณค่าในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม จนมิอาจจะอยู่รอดในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง สิ้นสุดการสืบสานพระราชปณิธานของล้นเกล้าล้นกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช ที่ทรงพระกรุณาสร้างหน่วยงานรัฐขึ้นให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมแก่ประชาชนในรัชสมัยของพระองค์ท่าน อันเป็นบริการเพื่อประโยชน์สาธารณะ รองรับการพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และหน่วยงานรัฐนั้น ได้รับการพัฒนาเป็น บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ในปัจจุบันนี้
ในที่ประชุมของคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านของ บมจ. ทีโอที, บมจ. กสท โทรคมนาคม, บริษัท NBN และบริษัท NGDC ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ผลการประชุมหารือทำให้ทราบว่า นโยบายการจัดตั้ง NBN เพื่อนำทรัพย์สินโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม มารวมกันนั้น รัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน
แต่ในทางปฏิบัติ ปัญหาการลงทุนซ้ำซ้อนไม่อาจสามารถแก้ไขได้จากการนำทรัพย์สินมารวมกัน แต่จะส่งผลทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น ด้วยจะมีรัฐวิสาหกิจเพิ่มจาก 2 เป็น 4 องค์กร และที่สำคัญการโอนทรัพย์สินโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการประกอบกิจการของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ตลอดระยะเวลาปีกว่า ตั้งแต่ที่ บมจ. ทีโอที เสนอแผนธุรกิจของ บริษัท NBN ต่อคณะกรรมการ คนร. จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของมติคณะรัฐมนตรี และในที่สุด มีการจัดตั้งบริษัท NBN โดยมี กจญ. เป็นผู้ร่วมก่อการในจัดตั้ง (ผู้ถือหุ้น) พร้อมทั้งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น บมจ. ทีโอที ได้เปิดประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติเห็นชอบในการโอนทรัพย์สินโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมของ บมจ. ทีโอที ไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายเกิดขึ้นกับ บมจ. ทีโอที
ทั้งงบประมาณจำนวนมากในการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อเขียนแผน การอนุมัติเงินงบประมาณให้บริษัท NBN ไปดำเนินงาน การเห็นชอบให้บริษัท NBN กู้ยืมเงิน 200 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง และอีกพันกว่าล้านบาท เพื่อจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม และการสร้างความขัดแย้งของคนในองค์กรอย่างที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ของ บมจ. ทีโอที ที่พนักงานในองค์กรมากกว่า 5,000 คนจะลุกขึ้นมาประท้วงการดำเนินการของ กจญ. หรือการขอยุติการทำหน้าที่ของผู้จัดการส่วน
รวมทั้งผู้จัดการในหน่วยธุรกิจ ป. กว่า 500 คน ที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของ กจญ. แม้ว่า กจญ. จะได้มีหนังสือเชิญผู้จัดการส่วนสังกัดหน่วยธุรกิจ ป. เข้าร่วมประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัท NBN ในวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา และมีข้อสรุปของการหารือ คือ การนำเสนอทางเลือกใหม่ ให้รัฐบาลพิจารณา แทนการโอนทรัพย์สินโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมไปให้บริษัท NBN และบริษัท NGDC และจะได้นำเสนอทางเลือกใหม่นี้ให้พนักงาน ได้ทราบในวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 นี้ ซึ่ง กจญ. รับปากจะชี้แจงให้พนักงานได้รับทราบ
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเหล่านั้น เป็นแนวคิดที่ผู้บริหารและพนักงาน บมจ. กสท โทรคมนาคม รวมทั้งคณะกรรมการ บมจ. กสท โทรคมนาคม และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้นำเสนอในที่ประชุมของคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านฯ แล้ว มิใช่เรื่องใหม่ และ กจญ. ก็ปฏิเสธวิธีการนี้ตั้งแต่แรก โดยเลือกที่จะลองให้บริษัท NBN นำทรัพย์สินโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมไปบริหารจัดการก่อน หากพบว่าประสบกับภาวะขาดทุน ไม่อาจทนอยู่ต่อได้ จึงค่อยโอนทรัพย์สินกลับคืน
ดังนั้น ไม่ว่า กจญ. จะชี้แจงเหตุผลอะไรก็ตาม ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 กจญ. หมดความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่ผู้บริหารสูงสุด นำพา บมจ. ทีโอที อีกต่อไป พนักงาน บมจ. ทีโอที และ สรท. จะอาศัยช่องทางการเจรจาร่วมระหว่างผู้แทนรัฐบาล ผู้แทนฝ่ายบริหาร และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 องค์กร ในเวทีของคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านฯ เพื่อร่วมกันพิจารณาหาทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าแนวทางการจัดตั้งบริษัท NBN และการโอนทรัพย์สินโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมไปให้บริษัท NBN โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา กจญ. อีกต่อไป
จึงขอเรียกร้องให้ กจญ. ลาออกภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2561 มิฉะนั้น ในการประชุมชี้แจงที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 จะเป็นเวทีการประท้วงขับไล่ กจญ. อีกครั้ง เพราะบทสรุปก็คือ บมจ. ทีโอที ไม่จำเป็นต้องมี กจญ. ที่ชื่อ นายมนต์ชัย หนูสง เพื่อนำพา บมจ. ทีโอที อีกต่อไป