xs
xsm
sm
md
lg

2 สหภาพทีโอที-กสท โทรคมนาคม ยัน นั่งคณะทำงานเพื่อค้านแยกทรัพย์สิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


2 สหภาพฯ ทีโอที-กสท โทรคมนาคม ยินดีนั่งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านตั้ง 2 บริษัทลูก ร่วมกับกระทรวงดีอี ชี้การต่อสู้ที่ผ่านมาได้ผล ยันไม่ควรแยกทรัพย์สินไปยังบริษัทลูก ขณะที่ปลัดดีอี ย้ำ คณะทำงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของ 2 บริษัทแม่ไปยังบริษัทลูกเพื่อให้การถ่ายโอนทรัพย์สิน และธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น

หลังจากที่ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่าน ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา

โดยได้เชิญประธานสหภาพของทั้ง ทีโอที และ กสท เข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้วยนั้น ประธานทั้ง 2 สหภาพได้แสดงท่าทีต่อการเข้าร่วมเป็นคณะทำงานครั้งนี้ผ่านการแถลงการณ์แก่พนักงาน เมื่อวันที่ 6 เม.ย. โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ควรแยกทรัพย์สินบริษัทแม่ไปยังบริษัทลูก

นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพฯ กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า แม้ว่ากระทรวงการคลังจะมีมติในการอนุมัติการโอนทรัพย์สินของบริษัทแม่ไปยังบริษัทลูกลงวันที่ 28 มี.ค. 2561 เพื่อให้โอนทรัพย์สินหลังวันที่ 31 มี.ค.ก็ตาม แต่เมื่อกระทรวงดีอี มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาปัญหาร่วมกันที่คาดว่าจะใช้เวลา 3-6 เดือน จึงทำให้มีโอกาสในการชะลอการโอนทรัพย์สินออกไปก่อน ส่วนการเข้าไปนั่งเป็นคณะทำงานนั้น ตนยังยึดมั่นในแนวทางเดิม คือ การไม่แยกโครงข่ายที่เป็นทรัพย์สินและบริการหลักออกจาก กสท โทรคมนาคม และทีโอที

“ขอเรียนว่าการที่เข้าไปเป็นคณะทำงาน มันก็เป็นดาบสองคม คือ คมแรก ถ้าผู้แทนพนักงานของทั้ง 2 สหภาพฯ เข้าร่วมประชุม คือ เป็นตราประทับ เกิดความชอบธรรมที่ถูกต้อง แต่ถ้าเราไม่เข้าร่วมประชุม เราก็ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าเค้าคิดอย่างไร และไม่มีโอกาสออกความคิดเห็น ซึ่งก็จะเป็นโอกาสของอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างว่าได้เชิญแล้ว แต่ไม่เข้าร่วม คมที่สอง ถ้าเราเข้าร่วมประชุม ก็จะรับรู้ว่า แนวทางที่เค้าคิดอย่างไรถูกต้องตามกฎหมาย จะได้นำข้อมูลออกมาให้เพื่อนสมาชิกได้รับรู้ และกลับมาพิจารณาร่วมกันได้ และสามารถออกความคิดเห็นในแนวทางของพวกเรา โดยต้องมีการจดบันทึกการประชุมให้ชัดเจน และอาจจะได้มาซึ่งหลักฐาน นำไปสู่กระบวนการร้องต่อศาล”

ด้านนายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพฯทีโอที แถลงการณ์ว่า การปรับปรุงประสิทธิภาพ และลดการซ้ำซ้อน ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีจัดตั้งบริษัทใหม่ ดังนั้น หากกระทรวงดีอี สามารถทำได้ตามที่สหภาพฯ เสนอได้แก่ 1. ยกเลิกการแยกทรัพย์สินไปยังบริษัทลูก 2. ให้กำหนดแผนธุรกิจของทีโอที เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ แทนการแยกทรัพย์สินไปยังบริษัทลูก

3. การกำหนดแผนฟื้นฟูขอให้สหภาพฯ และพนักงาน มีส่วนร่วม เพื่อตกผลึกทุกฝ่ายแบบไตรภาคี อันประกอบด้วย ผู้แทนรัฐ ฝ่ายบริหาร และสหภาพแรงงาน ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน และ 4. บริษัท NBN ที่ตั้งขึ้นขอให้ทำหน้าที่รับงานสร้าง/ขยายโครงข่ายเส้นใยแก้วนำแสง ซึ่งเป็นเนื้องานที่มีความจำเป็น หากรัฐบาลต้องการให้สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ขณะที่นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอี เปิดเผยว่า ในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกระทรวงการคลัง มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาและดำเนินการในหลายด้าน ซึ่งเป็นข้อห่วงใยของสหภาพฯ และพนักงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรอบคอบมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจของทั้ง 4 บริษัทมีความเข้มแข็งในระยะยาว กระทรวงดีอี จึงได้เสนอจัดตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อพิจารณารายละเอียดในด้านต่าง ๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้

สำหรับคณะทำงานชุดนี้จะมีปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานคณะทำงาน และประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย, ด้านเทคนิค, ด้านการบริหารจัดการ และด้านการบริหารบุคคล ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนจากคณะกรรมการของทั้ง 4 บริษัท กรรมการผู้จัดการใหญ่ของทั้ง 4 บริษัท ผู้แทนสหภาพ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ผู้แทนพนักงานของ ทีโอที, กสท โทรคมนาคม, NBN และ NGDC ร่วมเป็นคณะทำงาน

คณะทำงานชุดดังกล่าวจะศึกษาและพิจารณาแผน รวมถึงรายละเอียดที่ชัดเจนการดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของ ทีโอที, กสท โทรคมนาคม ให้แก่ NBN และ NGDC เพื่อให้การถ่ายโอนทรัพย์สิน และธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น และไม่กระทบต่อการบริการ รวมถึงแผนธุรกิจของทั้ง 4 บริษัทหลังการถ่ายโอนธุรกิจในระยะยาวด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น