“ปลัดดีอี” สั่งชะลอการโอนทรัพสินอุปกรณ์ของทีโอที และ กสท ไปยังโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co.) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co.) ออกไปก่อน ท่ามกลางการโน้มน้าวจาก
แหล่งข่าวจากการประชุมคณะทำงาน NBN และ NGDC ในครั้งที่ 2 ในวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ให้ข้อมูลว่า ภายในที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการโอนทรัพย์สินอุปกรณ์ของ ทีโอที และ กสท ไปให้กับ NBN และ NGDC ด้วยการให้ข้อมูลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ว่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่ปลัดดีอี นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ที่นั่งเป็นประธานในที่ประชุม ระบุว่า แม้จะต้องจัดประชุมคณะทำงานอีกหลายครั้ง และต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะได้ข้อสรุปก็ต้องยอมเสียเวลา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาติดตามมา โดยเห็นควรให้ชะลอการโอนทรัพย์สินอุปกรณ์ของ ทีโอที และ กสท ออกไปก่อน
หากในอนาคต สรุปผลการประชุมคณะทำงานมีความเห็นว่า การโอนทรัพย์สินฯ จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี คณะทำงานมีข้อเสนอทางออกอื่นที่ดีกว่า ก็พร้อมที่จะนำเสนอความคิดเห็นของคณะทำงานตามลำดับชั้น เพื่อนำไปให้ ครม. พิจราณาทบทวนมติต่อไป
พร้อมยืนยันว่า แนวทางการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จะยึดประโยชน์ของหน่วยงานรัฐ และของประชาชนผู้ใช้บริการสื่อสารของรัฐเป็นหลัก และต้องดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับผู้ที่เข้าประชุมคณะทำงานฯหลักๆ ประกอบไปด้วย นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอี, พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT นายสุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการ กสท
นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจและบริการ กสท และ กรรมการ NBN, นางสาวธันวดี วงศ์ธีรฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการ NGDC, นายจิตภัทร บุนนาค ผู้บริหารกสท, นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท
นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), นางณัฏฐ์ณัชชา ไชยประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกฎหมาย, นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทีโอที, นางสาวรสา กาญจนสาย ผู้อำนวยการกองพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และผู้บริหารจาก NBN ดีอี กับผู้ร่วมสังเกตการณ์อีก 4 คน
ที่น่าสังเกต คือ ภายในที่ประชุม มีแต่นายมนต์ชัย ที่กล่าวถึงข้อดีของการโอนทรัพย์สินอุปกรณ์ของทีโอที ไปให้ NBN และ NGDC ร่วมกับตัวแทนจาก NBN และ NGDC ทั้งในแง่ความพร้อมในการรองรับ และสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องทำตาม พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542