xs
xsm
sm
md
lg

2 สหภาพฯ ทีโอที-กสท โทรคมนาคม ยื่นหนังสือลาออกจากคณะทำงานตั้งบริษัทลูกแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


2 สหภาพฯ ทีโอที-กสท โทรคมนาคม ยันเจตนารมณ์เดิม ไม่แยกทรัพย์สิน หลังเข้าร่วมประชุมคณะทำงานเปลี่ยนผ่านตั้ง 2 บริษัทลูก ร่วมกับกระทรวงดีอี แล้วความเห็นไม่ตรงกัน เหตุคณะทำงานยังต้องการแยกทรัพย์สิน ทำให้ทั้ง 2 สหภาพทนไม่ไหวต้องยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นคณะทำงาน

นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (11 เม.ย. 2561) ตนและนายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพฯ ทีโอที ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานพิจารณาแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) นัดแรก หลังจากที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้เชิญประธานทั้ง 2 สภาพฯเข้าร่วมประชุมเพื่อสร้างความชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวด้วย

แต่เนื่องจากที่ประชุมยังคงยืนยันที่จะแยกทรัพย์สินของบริษัทแม่ไปยังบริษัทลูก ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของสหภาพฯ ทั้งสองที่ต้องการคัดค้านการแยกทรัพย์สินไปยังบริษัทลูก แต่ต้องการให้หาทางออกในการเพิ่มประสิทธิภาพ และแผนการฟื้นฟู 2 บริษัทแม่ ดังนั้น ตนเองและนายพงศ์ฐิติ จึงได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นคณะทำงานชุดดังกล่าว

สหภาพฯทั้ง 2 บริษัท ได้ออกแถลงการณ์ร่วมในการถอนตัวและลาออกจากการเป็นคณะทำงานตามคำสั่งของกระทรวงดีอี โดยในแถลงการณ์ระบุว่า การแต่งตั้งคณะทำงานต้องมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกเลิกแนวทางโอนทรัพย์สินโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมไปจัดตั้งบริษัทลูก เนื่องจากคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานของกระทรวงดีอี และกระบวนการปรับโครงสร้างนั้น เข้าข่ายมิชอบด้วยกฎหมาย และขอให้พิจารณากำหนดแผนธุรกิจของบริษัทแม่ให้เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ และผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ตามลำดับ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับความมั่นคงของประเทศตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0  

นายสังวรณ์ ระบุว่า การประชุมครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากใน พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 80 วรรคสอง ระบุว่า “การนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือและแจ้งให้กรรมการทุกคนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน...” และวรรคสาม ระบุว่า “บทบัญญัติในวรรคสองมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งประธานกรรมการจะนัดประชุมเป็นอย่างอื่นก็ได้”

นอกจากนี้ สัดส่วนคณะทำงานก็ไม่มีสัดส่วนเสมอภาค ซึ่งคณะทำงานมี 21 คน มีปลัดกระทรวงดีอี และผู้แทน จำนวน 6 คน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ จำนวน 2 คน และบริษัทที่เกี่ยวข้องรวม 4 คน มีคณะทำงานบริษัท บริษัทละ 3 คน ยกเว้น NBN มีจำนวน 2 คน และมีตัวแทนซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสหภาพฯ 2 สหภาพฯ สหภาพฯ ละ 1 คน ดังนั้นการแต่งตั้งคณะทำงานจึงไม่เป็นตามหลักความเสมอภาค

“การจัดตั้งบริษัทลูกทั้ง 2 บริษัท ไม่ถูกกฎหมาย ไม่เป็นไปตามขั้นตอน ไม่เป็นไปตามมติ ครม. หากเราร่วมเป็นคณะทำงานก็จะกลายเป็นว่า เราเห็นด้วยกับเขาในการแยกทรัพย์สิน ดังนั้น เราถอนตัวดีกว่า” นายสังวรณ์ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น