xs
xsm
sm
md
lg

“Huawei OS” ทางรอดมังกรไร้ Android

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ข่าวล่าสุดระบุ หัวเว่ย (Huawei) ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก กำลังเร่งมือพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเอง เพื่อเป็นแผนสำรองในกรณีที่ไม่อาจพึ่งพา Android ได้อีกต่อไป ประเด็น “Huawei OS” นี้ได้รับความสนใจล้นหลามว่า จุดแตกหักอาจจะใกล้เข้ามาทุกที ในวันที่ทางการสหรัฐฯ เริ่มใช้ไม้แข็งกับบริษัทโทรคมนาคมจีนเต็มรูปแบบ

ตั้งแต่ต้นปี Huawei ต้องผจญวิกฤตมากมายในตลาดสหรัฐฯ ที่เห็นชัด คือ กลางเดือนกุมภาพันธ์ หน่วยข่าวกรองสำคัญรวม 6 แห่งของสหรัฐฯ เตือนประชาชนชาวอเมริกันว่าไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของจีน โดยเฉพาะ Huawei เพราะหวั่นใจว่า ข้อมูลผู้ใช้จะถูกแอบส่งกลับไปยังแดนมังกร ขณะที่รายงานเมื่อสัปดาห์ปลายเมษายนที่ผ่านมา ชี้ว่ากระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้เริ่มตรวจสอบ Huawei แล้วในข้อหาละเมิดข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยการส่งสินค้าไปยังอิหร่านอย่างผิดกฎหมาย

การตรวจสอบนี้ อาจทำให้ Huawei ถูกปิดกั้นไม่ให้ใช้เทคโนโลยีและบริการของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมถึงนานาบริการบนแพลตฟอร์ม Android ของกูเกิล (Google) ด้วย แน่นอนว่า Huawei รู้ดีถึงความเสี่ยงนี้ เพราะรายงานจากสื่อจีนเผยว่า Huawei มีแผนสำรองเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ การสร้างระบบปฏิบัติการของตัวเอง

***ไทม์ไลน์ Huawei โคม่าพิษลุงแซม

Huawei มีข่าวเริ่มพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองตั้งแต่ปี 2012 เพื่อให้เป็นระบบปฏิบัติการทางเลือกสัญชาติมังกรที่เทียบชั้น Android และ iOS ได้ การพัฒนานี้เกิดขึ้นก่อนที่บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์คู่แข่งอย่างแซตทีอี (ZTE) จะถูกสหรัฐฯ ลงดาบคว่ำบาตร เพราะฝ่าฝืนคำสั่งห้ามส่งออกอุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสารด้านโทรคมนาคมไปยังอิหร่าน และเกาหลีเหนือ

นักวิเคราะห์จึงฟันธงว่าเป็นไปได้ที่ Huawei จะตั้งความหวังครั้งใหม่ให้ไอเดียเรื่อง OS ของตัวเองเป็นแผนสำรอง ให้บริษัทไม่ต้องเคว้งคว้างไร้แพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือ หาก Huawei ต้องโทษแบนจากสหรัฐฯในอนาคต

แม้จะยังไม่แบนเต็มตัว แต่สื่อมองว่า Huawei นั้นถูกสหรัฐฯ สั่งแบนไปครึ่งหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะกรณีที่หัวหน้าเอฟบีไอ ซีไอเอ รวมถึงผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ เอ็นเอสเอ ประกาศในงานประชุมคณะกรรมการข่าวกรองวุฒิสภา (Senate Intelligence Committee) เมื่อวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2018 วันนั้น ผู้อำนวยการเอฟบีไอ “คริส เรย์” (Chris Wray) กล่าวว่า รัฐบาลอเมริกันมีความกังวลมากเกี่ยวกับความเสี่ยงในการอนุญาตให้บริษัทนอกสหรัฐฯ เข้ามามีอำนาจภายในเครือข่ายโทรคมนาคมของประเทศ ความเสี่ยงนี้อาจเปิดประตูให้ต่างชาติสามารถปรับเปลี่ยน หรือขโมยข้อมูลโดยมิชอบ รวมถึงทำการจารกรรมที่ไม่สามารถตรวจพบได้

คำเตือนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะชุมชนข่าวกรองสหรัฐฯ แสดงจุดยืนไม่ไว้วางใจในผลิตภัณฑ์จีน โดยเฉพาะ Huawei มายาวนาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Huawei เป็นบริษัทซึ่งก่อตั้งโดยอดีตวิศวกรที่เคยประจำการในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People’s Liberation Army) และได้รับคำจำกัดความจากนักการเมืองสหรัฐฯ ว่าเป็น “แขนขาของรัฐบาลจีนที่มีประสิทธิภาพ”

ที่ผ่านมา Huawei เริ่มธุรกิจด้วยฐานะบริษัทโทรคมนาคม และเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน แต่ผลคือ Huawei ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อในช่วงหลายปีมานี้ โดยเฉพาะเมื่อเดือนกันยายน 2017 ยักษ์ใหญ่แดนมังกรอย่าง Huawei สามารถแซงหน้าแอปเปิล (Apple) ขึ้นเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากซัมซุง (Samsung)

แต่ Huawei กลับไม่เคยประสบความสำเร็จในตลาดอเมริกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้ที่มีรายได้สูง บาดแผลใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นช่วงมกราคม 2017 ซึ่งเป็นเวลาที่ Huawei วางแผนเปิดตัวเรือธง Mate 10 Pro ใหม่ในสหรัฐฯ ผ่านโอเปอเรเตอร์ใหญ่ “เอทีแอนด์ที” (AT&T) แต่โอเปอเรเตอร์อเมริกันตัดสินใจถอนตัวในนาทีสุดท้าย เนื่องจากแรงกดดันทางการเมือง

การตัดสินใจนี้ ทำให้ ริชาร์ด หยู (Richard Yu) ซีอีโอ Huawei กล่าวนอกบทบนเวทีงาน CES ว่า การถอนตัวของ AT&T เป็นความสูญเสียยิ่งใหญ่ของ Huawei ก็จริง แต่เป็นความสูญเสียที่มากกว่าสำหรับผู้บริโภค จุดนี้ สำนักข่าวอเมริกันเชื่อว่า Huawei จะยังคงพยายามหาทางขายสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นในสหรัฐฯ ต่อไป

ยังมีบางรายงานระบุว่า ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ กำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ห้ามพนักงานของรัฐใช้โทรศัพท์ Huawei และ ZTE ทั้งหมด คาดว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งในอนาคต ทั้งหมดนี้เกิดหลังจากที่การเสนอราคาของ Huawei ที่ต้องการทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์กับรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 2014 ถูกระงับไป

จุดที่ทำให้ Huawei OS ถูกหยิบขึ้นมารายงานต่อชาวโลก คือ ข่าวช่วงวันที่ 17 เมษายน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศห้ามบริษัทอเมริกันขายสินค้าให้ ZTE นาน 7 ปี เพื่อลงโทษที่ ZTE ละเมิดข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในปีที่แล้ว ด้วยการส่งสินค้าไปยังอิหร่านอย่างผิดกฎหมายจนถูกจับได้ เบื้องต้น มีการประเมินแล้วว่า Huawei กำลังถูกสอบด้วยข้อหาเดียวกัน ซึ่งหากพบว่าผิดจริง Huawei จะถูกปิดกั้นจากเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันทั้งหมด ทั้งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์

ZTE นั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่อันดับ 2 ของจีน ตามข้อมูลจากบริษัทวิจัย Canalys แบรนด์รองอย่าง ZTE ถือเป็นผู้จัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 4 ตามหลัง Apple, Samsung และ LG ในภาพรวม ZTE มีส่วนแบ่งตลาด 11.2% ในตลาดสหรัฐฯ (สถิติปี 2017)

*** อาจไม่ต้องจำใจจาก Android

แม้ว่าโอกาสที่ Huawei จะถูกบีบให้แจ้งเกิด “Huawei OS” ของตัวเองนั้นมีสูง แต่ความที่ Android เป็นโอเพนซอร์ส ซึ่งใครก็ใช้ได้ อาจทำให้ Huawei ไม่จำเป็นต้องจำใจจาก Android อย่างที่กังวลกัน นอกจากนี้ ระบบปฏิบัติการของตัวเองอาจสร้างปัญหาให้ Huawei ก็ได้ เนื่องจากที่ผ่านมา การทำให้โอเอสประสบความสำเร็จในวงกว้างนั้น ถูกฟันธงแล้วว่าแทบจะไม่มีหวัง เห็นได้ชัดจากระบบปฏิบัติการทิเซน (Tizen) ของ Samsung ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า

ความเป็นโอเพนซอร์สตอกย้ำว่า ทุกคนสามารถเข้าถึง Android ได้จากโครงการ Android Open Source หรือ AOSP ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ หรือรายเล็ก ทั้งหมดล้วนมีสิทธิตามไลเซนส์หรือใบอนุญาตโอเพนซอร์ส ซึ่งทั้งหมดถูกกำหนดขึ้นเพื่อไม่ให้มีการผูกขาดความเป็นเจ้าของซอร์สโค้ด เรียกว่า Google หรือรัฐบาลใดๆ ล้วนไม่ใช่เจ้าของชุดคำสั่งหลักใน Android

ดังนั้น Huawei หรือแม้แต่ ZTE และทุกคนล้วนสามารถใช้ Android ได้ตามที่ระบุใน AOSP โดยไม่ต้องกลัวคำสั่งของรัฐบาล แต่จุดที่มีปัญหา คือ บริการรอบด้าน รวมถึงไดรเวอร์ฮาร์ดแวร์ที่เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะของ Google และอีกหลายบริการทำให้ Android ทำงานดีเยี่ยมบนสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต

บริการที่เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะของ Google นั้น ได้แก่ แอปและบริการอย่างกูเกิลเพลย์สโตร์ (Google Play Store), จีเมล (Gmail), ยูทูป (YouTube), กูเกิลแม็ปส์ (Google Maps) และอื่นๆ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ ZTE สูญเสียไปแล้ว และ Huawei อาจจะต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม Huawei ไม่ใช่คนแรกที่พยายามหาทางออกไม่ให้ธุรกิจของตัวเองผูกติดกับ Android เกินไป เพราะ Samsung ก็พัฒนาโอเอส Tizen บนเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการพยายามพัฒนาแพลตฟอร์มมือถือที่ไม่ใช่ Android

แต่ Tizen ก็เงียบหายจ้อย แม้ว่า Samsung จะเริ่มต้นด้วยการพัฒนาระบบปฏิบัติการที่ใช้ Linux อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ทำให้ Tizen ได้รับความนิยม เพราะการขาดแคลนแอปพลิเคชันที่รองรับ โดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่เลือกพัฒนาเพียงแค่บน 2 แพลตฟอร์มเท่านั้นในวันนี้ คือ Android และ iOS

นอกจากนี้ บางเสียงวิเคราะห์ว่า Huawei อาจเลือกใช้เส้นทางเดียวกับระบบปฏิบัติการเซลฟิชโอเอส (Sailfish OS) ที่รัฐบาลรัสเซียว่าจ้างบริษัทจอลลา (Jolla) ในฟินแลนด์ พัฒนาขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของประเทศตะวันตก โดยอาจใช้กลวิธีเพิ่มคุณสมบัติเครื่อง หรือลดราคาให้ต่ำลง เพื่อดึงให้ผู้ใช้หันมาทดลองใช้โอเอสใหม่

ขณะเดียวกัน Huawei อาจเลือกเดินตามอุปกรณ์ตระกูลไฟร์ (Fire) ของแอมะซอน (Amazon) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ระบบ Android ที่ไม่ได้รับการรับรองจาก Google แต่ก็ยังทำตลาดได้คึกโครมในสหรัฐฯ

ไม่ว่าอย่างไร หาก Huawei เลือกหันหลังให้ Android เชื่อกันว่า กลุ่มบริการบนอุปกรณ์พกพาของ Google ที่เรียกรวมว่า Google Mobile Services จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะธุรกิจกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จในการเป็นส่วนหนึ่งของ Android แม้จะเป็นส่วนที่แยกต่างหาก แต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ไม่มีผู้ผลิตรายใดต้องการทิ้งบริการกลุ่มนี้ ความจริงนี้ทำให้ Google Mobile Services ได้รับความนิยมมีผู้ใช้หลักพันล้านราย

ไม่แน่ Google อาจรู้ดีอยู่แล้วว่าต้องพยายามหาทางรอดเหมือนกัน ในวันที่โลก Android ไร้เงามังกร.


กำลังโหลดความคิดเห็น