xs
xsm
sm
md
lg

ผวาจีนสอดแนม! กลาโหมสหรัฐฯ สั่งหยุดขายมือถือ “Huawei” ในฐานทัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หยุดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและโมเด็มที่ผลิตโดย หัวเหว่ย เทคโนโลยี (Huawei Technologies) และ ซีทีอี คอร์ป (ZTE Corp) สองบริษัทเทคโนโลยีของจีนตามร้านค้าต่างๆ ในฐานทัพทหารของพวกเขา โดยอ้างความเป็นไปได้เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความมั่นคง

พ.ต.เดฟ อีสเบิร์น โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยในวันพุธ (2 พ.ค.) ว่า ณ วันที่ 25 เมษายน ทางเพนตากอนให้ออกคำสั่งให้ถอดผลิตภัณฑ์เหล่านี้หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องออกจากร้านค้าในฐานทัพสหรัฐฯ ทั่วโลก “อุปกรณ์เหล่านี้อาจก่อความเสี่ยงที่ไม่อาจยอมรับได้ต่อบุคลากรและภารกิจของกระทรวง”

คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นตามหลังความเคลื่อนไหวต่างๆ นานาของสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายลดหรือหยุด หัวเหว่ย และซีทีอี จากการเข้าถึงเศรษฐกิจอเมริกา ท่ามกลางคำกล่าวหาว่าทั้งสองบริษัทอาจใช้เทคโนโลยีของพวกเขาสอดแนมอเมริกันชน

ตัวแทนของทั้ง หัวเหว่ย และ ซีทีอี ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อความเคลื่อนไหวล่าสุดของเพนตากอน แต่ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยปฏิเสธคำกล่าวหาที่ว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาถูกใช้สำหรับสอดแนม

เพนตากอนเน้นย้ำระหว่างแสดงความคิดเห็นกับรอยเตอร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 ว่า พวกผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ, เอฟบีไอ, ซีไอเอ, สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานข่าวกรองกลาโหม ต่างให้ปากคำกับวุฒิสภาสหรัฐฯ ตรงกันว่าผลิตภัณฑ์ของหัวเหว่ย อาจเสี่ยงเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของผู้ใช้งานและเตือนพลเมืองอเมริกันว่าควรหลีกเลี่ยงใช้งานสมาร์ทโฟนหัวเหว่ยเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ของซีทีอี

“เรารู้สึกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ จากการปล่อยให้บริษัทหรือหน่วยงานใดก็ตาม ที่พัวพันกับรัฐบาลต่างชาติ เข้ามามีอำนาจภายในเครือข่ายโทรคมนาคมของเรา ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันหรือเข้ามาควบคุมโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของเรานำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นภัย การขโมยข้อมูล หรือเกิดการสอดแนมที่ตรวจจับไม่ได้” ผู้อำนวยการเอฟบีไอกล่าว

อย่างไรก็ตาม โฆษกของหัวเหว่ยตอบโต้ในตอนนั้นว่า “หัวเหว่ยตระหนักถึงการกระทำของรัฐบาลสหรัฐฯหลายครั้ง ที่ดูเหมือนมุ่งยับยั้งการทำธุรกิจของบริษัทในตลาดสหรัฐฯ บริษัทไม่ได้ก่อความเสี่ยงทางไซเบอร์ไปมากกว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่นๆ” พร้อมเสริมว่า หัวเหว่ยได้รับความเชื่อใจจากรัฐบาลและผู้บริโภคถึง 170 ประเทศทั่วโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น