xs
xsm
sm
md
lg

ยกที่ 2 ศึก ซีพียู “Intel-AMD”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การแข่งขันในตลาดซีพียู คอมพิวเตอร์ เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อ 2 คู่แข่งหลักอย่าง อินเทล (Intel) และเอเอ็มดี (AMD) เร่งเข็นนวัตกรรมออกมาเพื่อนำเสนอหน่วยประมวลผลที่มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ทั้งการเพิ่มแกนประมวลผล (Core) และการเพิ่มหน่วยการทำงานย่อย (Thread)

เพราะเมื่อมองไปในการแข่งขันช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า เหล่าผู้ผลิตต่างมุ่งไปที่การเพิ่มความเร็วในการทำงาน พร้อมไปกับการประหยัดพลังงานที่กลายเป็นเรื่องพื้นฐานของหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ แต่ไม่มีการเพิ่มแกนหน่วยประมวลผลที่จะทำให้ความเร็วเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอหน่วยประมวลผลแบบ Quad Core (4 แกน) สำหรับคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป หรือการนำเสนอหน่วยประมวลผลแบบ Dual Core (2 แกน) บนโน้ตบุ๊กที่ใช้เวลาเกือบ 10 ปี ถึงจะเริ่มนำหน่วยประมวลผลแบบ Octa Core (8 แกน) และ Quad Core (4 แกน) ออกมาให้ใช้งานบนเดสก์ท็อป และโน้ตบุ๊กตามลำดับ

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวผู้ผลิตหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ หันไปทุ่มพลังในการคิดค้นและวิจัยหน่วยประมวลผลสำหรับอุปกรณ์พกพาเป็นหลัก เพราะถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่เพิ่งเริ่มเติบโตในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าในท้ายที่สุดจะไม่ประสบความสำเร็จและหันกลับมาโฟกัสที่ตลาดพีซีเช่นเดิม

ประกอบกับสภาพการแข่งขันในตลาดคอมพิวเตอร์เองก็ไม่ได้หวือหวามากนัก เพราะแต่ละแบรนด์ต่างหันไปเน้นผลิตคอมพิวเตอร์พกพา (โน้ตบุ๊ก) ที่มีขนาดบางเบา และแบตเตอรีสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ทางเลือกของผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมา จึงค่อนข้างจำกัด

จนกระทั่งในช่วงปีที่ผ่านมา ทาง AMD เริ่มนำเสนอหน่วยประมวลผล Ryzen ออกสู่ตลาด มาชนกับช่วงที่ทาง Intel นำเสนอหน่วยประมวลผล 7th Intel Core หรือหน่วยประมวลผล Core i รุ่นที่ 7 มาสักพัก ซึ่งถ้ามองในแง่ของเทคโนโลยีแล้วกลายเป็นว่า AMD ได้กลับมาสร้างสีสันให้ตลาดอีกครั้งหนึ่ง

สถิติที่น่าสนใจหลังจากที่ AMD นำเสนอหน่วยประมวลผล Ryzen ออกสู่ตลาด คือ ส่วนแบ่งการตลาดของ AMD ที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากข้อมูลล่าสุดที่พบว่า ในตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และญี่ปุ่น AMD ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 40% จากก่อนหน้านี้ที่มาร์เกตแชร์อยู่ในช่วงไม่เกิน 10%

ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้ AMD กลับมาแข็งแกร่งในตลาดหน่วยประมวลผลสำหรับคอมพิวเตอร์อีกครั้ง ส่วนหนึ่งมาจากกระแสของวงการอีสปอร์ต ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย เพราะบรรดาเหล่าเกมเมอร์ที่มีความรู้ในแง่ของการประกอบคอมพิวเตอร์ ก็มองว่าสามารถเลือกใช้หน่วยประมวลผลที่ราคาประหยัดกว่า แต่ได้ประสิทธิภาพเทียบเท่า หรือสูงกว่าในบางมุมมาใช้งาน

***ส่องไลน์ซีพียูรุ่นใหม่ Intel-AMD

สิ่งที่น่าสนใจ คือ การที่ทาง Intel เข็นหน่วยประมวลผล Core i รุ่นที่ 8 (8th Gen Core i) ที่ทยอยออกมาสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่หน่วยประมวลผลสำหรับโน้ตบุ๊กประหยัดพลังงานในช่วงเดือนสิงหาคม ซีพียูเดสก์ท็อปประสิทธิภาพสูงในช่วงเดือนดุลาคม ซีพียูที่จับมือเป็นพันธมิตรกับเอเอ็มดีนำการ์ดจอออนบอร์ด Radeon RX มาใช้ในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ก่อนที่ในช่วงต้นเดือนเมษายน ที่ขนซีพียูชุดใหญ่ออกมานำเสนอแก่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยประมวลผลระดับสูงสำหรับโน้ตบุ๊ก (Core i9) ที่มาพร้อมการประมวลผล 6 แกน รวมถึงไลน์อัปสำหรับโน้ตบุ๊ก และเดสก์ท็อปสำหรับผู้บริโภคทั่วไป

ทำให้รวม ๆ แล้ว ปัจจุบัน Intel มีหน่วยประมวลผลที่อยู่ในไลน์อัปของเจนเนเรชันที่ 8 มากกว่า 30 รุ่นย่อย ให้เหล่าผู้ผลิตโน้ตบุ๊กเลือกนำไปใช้เพื่อผลิตโน้ตบุ๊กออกมาจำหน่าย รวมถึงให้หน้าร้านนำมาขายปลีกให้แก่ผู้ใช้ที่ต้องการประกอบคอมพิวเตอร์เอง

จุดเด่นที่ Intel เลือกนำเสนอหลัก ๆ ของ 8th Gen คือ เรื่องของประสิทธิภาพที่ดีขึ้นจากการเพิ่มแกนประมวลผล และหน่วยประมวลผลย่อยเข้ามา พร้อมไปกับการนำเสนอ Intel Optane ที่เป็นหน่วยความจำที่มาช่วงเร่งความเร็วในการทำงานของซีพียู

เพียงแต่ว่า Intel Optane จะทำงานร่วมกับหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่เท่านั้น และที่สำคัญ คือ ต้องจ่ายเงินซื้อเพิ่ม ถ้าต้องการใช้งานบนเดสก์ท็อป หรือถ้าผู้ผลิตโน้ตบุ๊กนำมาใช้งาน ก็จะได้เห็นกันในสัญลักษณ์อย่าง Intel Core i5+ i7+ i9+ มาเป็นจุดสังเกต

กลับมามองทางฝั่งของ AMD ที่จะทยอยนำเสนอ 2nd Gen Ryzen หรือ Ryzen ยุคที่ 2 ออกสู่ตลาด โดยมีกำหนดการวางตลาดพร้อมกันทั่วโลกเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยการนำเสนอไลน์อัปของซีพียูสำหรับผู้บริโภคก่อนอย่าง Ryzen 5 และ Ryzen 7

โดยออกมา 4 รุ่นด้วยกัน คือ Ryzen 5 2600/2600X และ Ryzen 7 2700/2700X ที่จะมาแทนที่ Ryzen ยุคแรกในกลุ่มกลาง-บนก่อน ส่วนในกลุ่มล่าง AMD จะยังคงใช้หน่วยประมวลผลที่เพิ่งอัปเกรดในช่วงต้นปีอย่าง Ryzen 3 และ Ryzen 5 ที่มาพร้อมกับกราฟิกการ์ดของ Radeon ไปก่อน

แต่แน่นอนว่าในอนาคตทาง AMD ก็จะทยอยออกหน่วยประมวลผลยุคที่ 2 ต่อเนื่องออกมา ทั้งในระดับบนภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์อย่าง Threadripper หรือเทียบได้กับ Core i9 ของทาง Intel รวมถึงในกลุ่ม Ryzen 3 ที่ได้รับการอัปเกรดความสามารถเพิ่มเติม

สำหรับเทคโนโลยีที่ AMD นำเสนอมาใน Ryzen ยุคที่ 2 ที่เป็นพื้นฐานเลย คือ การหันมาใช้สถาปัตยกรรมแบบ 12 นาโนเมตร ทำให้นอกจากการประมวลผลที่รวดเร็วขึ้น ก็ยังมาพร้อมกับการประหยัดไฟ และความร้อนของซีพียูที่ลดลง ที่สำคัญ คือ วางจำหน่ายในราคาที่ถูกลงเมื่อเทียบกับในยุคที่ 1

เบื้องต้น ราคาจำหน่ายของ 2nd Gen Ryzen 5 2600 จะเริ่มที่ 7,490 บาท ไปจนถึง Ryzen 7 2700X ที่ราคา 12,500 บาท แต่ที่น่าสนใจ คือ ในรุ่น 2700X AMD เลือกที่จะแถมพัดลมซีพียู Wraith Prism มาให้ใช้งานด้วย ดังนั้นผู้บริโภคก็ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม เพื่อซื้อพัดลมซีพียูเหมือนของคู่แข่งอย่าง Intel

นอกจากนี้ ก็จะมีการเพิ่มมูลค่าให้แก่หน่วยประมวลผล อย่างการใส่เทคโนโลยี AMD StorageMI มาให้ใช้งานบนเมนบอร์ด AM4 หรือชิปเซ็ต AMD 400 ซีรีส์ โดยพื้นฐานการทำงานก็คือ ตัว StorageMI จะคล้ายกับ Intel Optane เพียงแต่ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อเพิ่ม

โดยจะใช้ซอฟต์แวร์เข้าไปช่วยบริหารจัดการพื้นที่เก็บข้อมูล ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยความเร็วระดับเดียวกับการใช้งาน SSD แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถเก็บข้อมูลบนฮาร์ดดิสก์หลักที่มีพื้นที่มากกว่า ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และบริหารจัดการข้อมูลได้ง่ายขึ้น

ถัดมา คือ AMD Sense MI หรือการนำระบบ Machine Intelligence (MI) มาใช้ในการบริหารจัดการซีพียู ทำให้สามารถเร่งความเร็วของซีพียูขึ้นไปได้พร้อมกันทุกแกน (AMD ใช้ชื่อการเร่งความเร็วซีพียูรุ่นใหม่ว่า Precision Boost 2) และยังช่วยให้นักโอเวอร์คล็อกสามารถรีดประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลได้ง่ายขึ้นด้วย

สุดท้าย คือ AMD Ryzen Master ที่อาจจะไม่ได้เหมาะกับผู้ใช้งานทั่วไป แต่ในมุมของผู้ที่ชื่นชอบการโอเวอร์คล็อก จะชื่นชอบเครื่องมือนี้มาก เพราะเป็นเหมือนตัวช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพของซีพียู ด้วยการปรับเพิ่มความเร็วในการใช้งานได้จากเครื่องมือของทาง AMD เอง

***ส่องทิศทาง AMD ลุยตลาดคอมพ์แบรนด์

เมื่อดูจากไลน์ของซีพียูที่เริ่มออกมาประชันกันในปีนี้ จะเห็นได้ว่า AMD ยังคงเน้นจากกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นเกมเมอร์ หรือกลุ่มที่ต้องการใช้งานหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงในการเรนเดอร์งานกราฟิกเป็นหลัก

ในมุมของ AMD มองว่า ผู้ใช้กลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุด เพราะเมื่อใช้งาน และเกิดความประทับใจ ก็จะเกิดการแนะนำไปยังกลุ่มคนใช้งานทั่วไป ซึ่งทาง AMD ก็จะทยอยออกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมออกมา ซึ่งแนวทางดังกล่าวทำให้ AMD ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา

เพียงแต่ถ้ากลับมามองในตลาดคอมพิวเตอร์ประเทศไทย ตลาดคอมพ์ประกอบยังถือเป็นตลาดที่มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับคอมพ์แบรนด์ทั้งที่เป็นเดสก์ท็อป และโน้ตบุ๊ก ที่บรรดาเหล่าผู้ผลิตเริ่มหันมามอง และให้ความสำคัญกับ AMD มากขึ้น

ดังนั้น ในปีนี้แนวทางของ AMD จึงเน้นไปที่การเพิ่มไลน์สินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น จากในปีที่ผ่านมา อาจจะเริ่มเห็นแค่ 1-2 รุ่น แต่ในปีนี้ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของ AMD มากขึ้น แบรนด์หลัก ๆ อย่าง เอเซอร์, เอชพี, เดลล์ และเลอโนโว ก็เริ่มนำไลน์สินค้าเข้ามาตอบรับในจุดนี้

อีกจุดที่น่าสนใจ คือ ด้วยสถานการณ์ของการ์ดจอประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่ ๆ ที่ยังคงขาดตลาดอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งทำให้ตลาดคอมพ์ประกอบเพื่อนำมาใช้งานไม่เติบโตเท่าที่ควร เพราะถ้าซื้อชิ้นส่วนแยกมาประกอบเอง จากปัจจัยเรื่องราคาการ์ดจอ และ RAM ที่มีความผันผวนอาจทำให้ไม่สามารถคุมงบประมาณได้

ทำให้ผู้บริโภคหลายรายเริ่มหันมามองคอมพ์ชุดจากแบรนด์ผู้ผลิตมากขึ้น เพราะบรรดาแบรนด์เหล่านี้ สามารถเข้าถึงการ์ดจอประสิทธิภาพสูงได้ในราคาต้นทุนจากโรงงาน ทำให้ปัจจุบัน การเลือกคอมพ์ชุดจากแบรนด์ ที่มีบริการหลังการขาย ยังได้ราคาที่ถูกกว่าคอมพ์ประกอบก็เป็นได้



กำลังโหลดความคิดเห็น