พพ.ชูมาตรการทางการเงินและการให้คำปรึกษา 4 โครงการใหญ่ เพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการโรงงานและอาคาร เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านพลังงาน งบลงทุนรวม 500 ล้านบาท คาดผู้เข้าร่วมโครงการ 400 แห่ง เกิดผลประหยัดพลังงานในภาพรวมประมาณ 100.5 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ktoe ช่วยชาติประหยัดพลังงานได้กว่า 2,512 ล้านบาท
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ. ) เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดงานสัมมนาโครงการ “มหกรรมการเงินเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 2561” ว่าเพื่อให้เกิดการสนับสนุนและเพิ่มแรงจูงใจให้แก่สถานประกอบการตัดสินใจลงทุนเกี่ยวกับมาตรการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และสามารถดำเนินการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างจริงจัง พพ.จึงได้ขับเคลื่อนโครงการสำคัญในปี 2561 นี้ 4 โครงการคาดใช้งบลงทุนรวม 500 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 400 แห่ง พพ.ซึ่งมุ่งหวังทั้งหมดจะช่วยให้เกิดผลประหยัดพลังงานในภาพรวม ประมาณ 100.5 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และช่วยชาติประหยัดพลังงานได้กว่า 2,512 ล้านบาท
สำหรับ 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการให้คำปรึกษาเชิงปฏิบัติการเพื่ออนุรักษ์พลังงานความร้อน (Heat Facilitator) 2. โครงการให้คำปรึกษาเชิงปฏิบัติการเพื่ออนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า (Electric Facilitator) 3. โครงการส่งเสริมการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง (Internet of Thing) ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน (IOT) และ 4. โครงการส่งเสริมการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานความร้อนด้วยวิธีอุดหนุนผลประหยัด (DSM Heat)
ทั้งนี้ เกณฑ์ให้การสนับสนุน โครงการให้คำปรึกษาฯ เพื่อการอนุรักษ์พลังงานความร้อน ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอาคารโรงงานควบคุม จำนวนไม่น้อยกว่า 60 แห่ง ผลประหยัดจากโครงการฯ 2,500 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (toe) /ปี โครงการให้คำปรึกษาฯ เพื่อการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอาคารโรงงานควบคุม จำนวนไม่น้อยกว่า 60 แห่ง ผลประหยัดจากโครงการฯ 1,000 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (toe)/ปี
มาตรการปรับปรุงระบบความร้อน (DSM Heat) ให้การสนับสนุนปรับปรุงระบบความร้อนในโรงงานอาคารควบุคม วงเงินรวม 250 ล้านบาท สนับสนุนผู้ใช้งาน (End User) หรือบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) ในการอนุรักษ์พลังงานความร้อน ผ่านรูปแบบการอุดหนุนผลประหยัดที่เกิดขึ้นจริงในหน่วยล้านบีทียูต่อปี (MMBTU/ปี) ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 70 บาท/หน่วยที่ประหยัดได้ในระยะเวลา 1 ปี โดยมีเงื่อนไขไม่เกินเงินลงทุนหรือไม่เกิน 10 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ Internet of Thing วงเงินรวม 220 ล้านบาท สนับสนุนเงินลงทุนสูงสุด ในอัตรา 20% ของเงินลงทุนในมาตรการนั้นๆ แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท เป็นต้น
“พพ.พร้อมเร่งโครงการอนุรักษ์พลังงานด้านไฟฟ้า ความร้อน และส่งเสริมการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ ในอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ให้แก่โรงงานและอาคารควบคุม ให้ได้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งจะนำมาสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความยั่งยืนในด้านการอนุรักษ์พลังงานของประเทศ โดยการสร้างแรงจูงใจ อีกทั้งยังให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจ จะช่วยให้เกิดแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อประโยชน์และยั่งยืนต่อไป” นายประพนธ์กล่าว