xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ย ระบุไทยอาจเป็นเวฟ 2 ในการให้บริการ 5G ช่วงปี 2022

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หัวเว่ย” มองความพร้อมไทยอาจไม่มีความจำเป็นต้องเร่งให้บริการ 5G ในปี 2020 แต่คาดว่าจะมีความพร้อมในระดับคอมเมอร์เชียลภายในปี 2022 แทน เนื่องจากต้องรอทั้งความพร้อมของอีโคซิสเตมส์ และช่วงเวลาการลงทุนที่เหมาะสม โดยล่าสุด ได้จัด “หัวเว่ย โมบายล์ ไทยแลนด์ คองเกรส 2018” แสดงเทคโนโลยี 5G

นายเฉียง หัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินโอกาสการลงทุน 5G ในไทยว่าอาจจะเกิดขึ้นภายใน 4 ปีข้างหน้า หรือปี 2022 ซึ่งจะไม่ได้เป็นประเทศกลุ่มแรกที่ใช้งาน คาดว่าประเทศอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี จะเป็นกลุ่มแรก

“ที่มองว่าไทยจะได้ใช้ 5G ในปี 2022 เพราะว่าโอเปอเรเตอร์ไทยยังต้องคำนึงถึงต้นทุนในการลงทุน ถ้าลงทุนในช่วงแรกที่อีโคโนมี่ออฟสเกลยังไม่ได้ ต้นทุนก็จะสูง เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ยังไม่มีความต้องการในการใช้งาน จึงเป็นไปได้ว่าในปี 2022 5G จะพร้อมให้บริการในไทย”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเทคโนโลยี 5G จำเป็นต้องใช้งานหลาย ๆ คลื่นความถี่ร่วมกันเพื่อนำมาให้บริการ ดังนั้น เรื่องการนำคลื่นมาประมูลของทาง กสทช. ก็ถือเป็นอีกจุดที่จะเร่งให้เกิด 5G ในประเทศไทย เพราะต้องมีการนำทั้งคลื่นความถี่สูง และคลื่นความถี่ต่ำมาให้บริการ รวมถึงการที่ต้องร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้งาน อย่างในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ การนำ 5G มาใช้ในทางการแพทย์เพื่อผ่าตัด รวมกับการให้บริการ IoT ต่าง ๆ ที่จะเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

ทั้งนี้ หัวเว่ย มีแผนที่จะเปิดตัวสมาร์ทโฟน 5G รุ่นแรกของหัวเว่ย เพื่อให้กลายเป็นต้นแบบของสมาร์ทโฟนที่จะรองรับการใช้งาน 5G ให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงการนำเสนออีโคซิสเตมส์ในการนำ 5G ไปใช้งานในหลาย ๆ อุตสาหกรรม

นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แนวโน้มที่โอเปอเรเตอร์ในไทยจะลงทุน 5G อยู่ในช่วงเวฟที่สอง หลังจากในสหรัฐฯ ยุโรป จีน เกาหลี และญี่ปุ่นนั้น มีความเป็นไปได้สูง

“ในมุมของโอเปอเรเตอร์ ต้องมีการลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยี 5G มาให้บริการ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการลงทุนโครงข่าย 4G เพื่อให้บริการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ถ้าปริมาณผู้ที่ใช้งาน 5G ยังไม่ถึงจุดที่จะสร้างรายได้ให้แก่โอเปอเรเตอร์ ก็มีโอกาสที่จะยังไม่ลงทุนในช่วงแรก”

ส่วนในแง่ของคลื่นความถี่ ที่จะเห็นปัญหาแน่ ๆ เลย คือ เรื่องของคลื่นความถี่ต่ำ เนื่องจากปัจจุบันเหลือแค่คลื่น 700 MHz เท่านั้น ที่สามารถนำมาประมูลได้ แต่ก็ยังติดอยู่ที่ปัจจุบันผู้ให้บริการโทรทัศน์บนอนาล็อกบางรายยังมีสัมปทานในการใช้งานอยู่

“ถ้าผู้ให้บริการโทรทัศน์ทุกช่องพร้อมยุติอนาล็อกภายในปี 2020 กสทช. ชุดหน้าก็สามารถวางแผนประมูลคลื่น 700 MHz ได้ทันที ซึ่งก็จะช่วยปลดล็อกในแง่ของคลื่นความถี่ต่ำได้”

ขณะที่ในแง่ของคลื่นความถี่สูง ช่วง 1-6 GHz ในหลาย ๆ ประเทศก็เน้นในการนำคลื่นความถี่ย่าน C-Band (3.4-4.5 GHz) มาใช้งาน เพียงแต่ในไทยถูกนำมาให้ทีวีดาวเทียมใช้งานอยู่ ก็อาจจะใช้วิธีเดียวกับในฮ่องกง ที่ปรับช่วงคลื่น 3.4-3.6 GHz มาให้บริการ 5G ส่วน 3.6-3.7 GHz เป็นการ์ดแบนด์ ที่เหลือ 3.7-4.2 GHz ก็นำมาใช้กับทีวีดาวเทียมเช่นเดิม

นอกจากนี้ ยังมีในสหรัฐฯ ที่นำคลื่นความถี่สูงอย่าง 24.25-24.75 GHz, 37-43.5 GHz และ 66-86 GHz มาประมูล เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ให้บริการ OTT บางราย นำคลื่นความถี่สูงมาให้บริการ 5G โดยที่ไม่มีการกำกับดูแล

สำหรับงานหัวเว่ย โมบายล์ ไทยแลนด์ คองเกรส 2018 (Huawei Mobile Thailand Congress 2018-Huawei MTC 2018) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มีนาคมถึง 5 เมษายน 2561 เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีและโซลูชัน 5G, เครือข่ายออลคลาวด์, วิดีโอ และอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) ที่ศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ CSIC Thailand (Customer Solution Innovation and Integration Experience Center Thailand) ณ อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของหัวเว่ย กรุงเทพฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น