บริการแชตและอีเพย์เมนต์ยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างวีแชต (WeChat) ตกเป็นแบรนด์สัญชาติจีนรายล่าสุดที่ถูกแบนจากการใช้งานในต่างประเทศ โดยประเทศที่ออกมาแบนวีแชตในครั้งนี้ คือ ออสเตรเลีย เมื่อกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลีย เผยว่า บริการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของทางกระทรวง
แม้ไม่มีการเอ่ยว่าเป็นการแบนเพราะกังวลเรื่องซีเคียวริตีแต่อย่างใด แต่กระทรวงกลาโหมของออสเตรเลียก็ระบุชัดว่า ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันที่ไม่ตรงตามมาตรฐานของกระทรวง จะไม่ได้รับสิทธิให้ใช้บนเครือข่ายและอุปกรณ์โมบายล์ พร้อมกับบอกว่า นโยบายนี้ยังรวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียบนระบบเน็ตเวิร์ก และอุปกรณ์โมบายล์ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ในกระทรวงจะต้องรับนโยบายนี้ ห้ามดาวน์โหลดวีแชต ลงในโทรศัพท์ของที่ทำงานด้วย
อย่างไรก็ตาม มีการลดหย่อนให้สามารถใช้งานโซเชียลมีเดียได้บางตัว และเฟซบุ๊ก (Facebook) ก็เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันที่ได้รับอนุญาต
ขณะที่กระทรวงกลาโหมหาทางออกสวย ๆ ให้ตัวเอง และวีแชต แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีที่ไม่ประสงค์เปิดเผยนาม เผยว่า วีแชต มีความสามารถในการมอนิเตอร์ข้อมูล ซึ่งความสามารถนี้เป็นเหตุผลเดียวกับที่อินเดียตัดสินใจแบนวีแชต และแอปพลิเคชันสัญชาติจีนอีก 40 ตัวไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
นอกจากความกังวลของกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลียแล้ว ยังมี Li Shufu ประธานของ Geely Holding ที่เคยออกมากล่าวถึงประธานของเทนเซ็นต์อย่าง Ma Huateng ว่า Ma คือ คนที่สามารถล่วงรู้พฤติกรรมการใช้งานของทุกคนในวีแชต จนเป็นข่าวครึกโครม อย่างไรก็ตาม เทนเซ็นต์ บริษัทผู้พัฒนาวีแชต ก็เคยออกมาอธิบายว่า บริษัทไม่มีนโยบายเก็บข้อมูลประวัติการแชตของผู้ใช้งานแต่อย่างใด
ไม่เพียงวีแชต ที่เจอเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนหน้านี้ โดรนสัญชาติจีนอย่าง DJI ก็ถูกหน่วยงานด้านทหารของสหรัฐอเมริกาแบนมาแล้วเช่นกัน โดยอ้างปัญหาเรื่องความปลอดภัย รวมถึงบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่างหัวเว่ย (Huawei) และแซดทีอี (ZTE) ที่ไม่สามารถจับมือกับค่ายผู้ให้บริการโทรคมนาคมในสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากถูกกดดันโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
จากพฤติการณ์แล้ว สหรัฐอเมริกากำลังมองเทคโนโลยีจากจีนว่าเป็นเครื่องมือสอดแนม และถือเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงของประเทศ
ในกรณีของออสเตรเลีย สื่ออย่าง The Australian Financial Review ได้รายงานว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายซีเคียวริตีของสหรัฐอเมริกาได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อประเทศออสเตรเลีย เกี่ยวกับการที่จีนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเครือข่าย 5G ของประเทศ หรือในเดือนมกราคม ทางการสหรัฐอเมริกาได้มีการบล็อกการโอนเงินจาก Moneygram ไปยังแอนท์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial) บริษัทลูกของอาลีบาบา
ขณะที่ฟากของนักวิเคราะห์มองว่า การสะกัดกั้นวีแชต เป็นปัญหาทางการเมือง และทำเพื่อแสดงตนว่าออสเตรเลียอยู่ข้างเดียวกับสหรัฐอเมริกา เช่น Li Yi จาก The Shanghai Academy of Social Scicences ที่บอกว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า การอนุญาตให้ใช้วีแชต อาจทำให้ข้อความที่ส่งถึงกันนั้น ถูกมอนิเตอร์ได้โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาล
“มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นแทบทุกประเทศ เช่น ในจีนเอง เราก็แบนวอตช์แอป (WhatsApp) และเฟซบุ๊ก (Facebook) เช่นกัน” Li Yi กล่าว
มองโลกในแง่ดี
กรณีนี้มีนักวิเคราะห์มองว่า ถึงแม้ออสเตรเลียจะแบนวีแชต แต่ไม่ได้หมายความว่า ออสเตรเลียจะปิดประตูการค้าใส่จีน เพราะสมาร์ทโฟนอย่างหัวเว่ย และแซดทีอี ก็ยังเดินหน้าชิงส่วนแบ่งในออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าทางรัฐบาลจะแบนบริษัทเหล่านี้จากบางโปรเจกต์ก็ตาม
สำหรับวีแชตนั้น เป็นของบริษัทเทนเซ็นต์ (Tencent) ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเป็นประจำต่อเดือนที่ 1 พันล้านคน โดยนอกจากผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว ยังมีแบรนด์ต่าง ๆ สื่อ ภาครัฐ และเซเลบริตีใช้งานอยู่มากมาย ซึ่งตัวทำรายได้ให้กับวีแชต คือ Official Account ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา รายได้จากค่าโฆษณาของเทนเซ็นต์ พุ่งขึ้น 63 เปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับ 6.9 พันล้านหยวน และมี Official Account ที่แอ็กทีฟอยู่ทุกเดือนไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านแอ็กเคานต์ ส่วนผู้ใช้งานนั้นอยู่ที่ 979 ล้านคนต่อเดือน (อ้างอิงจากเซาท์ไชน่ามอนิ่งโพสต์)
แต่ทั้งหมดนี้ หากมองในแง่ร้ายก็ต้องถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ลำบากสำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่จากโลกตะวันตกอย่างเฟซบุ๊ก และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหญ่ยักษ์จากโลกตะวันออกอย่างวีแชต ที่ต้องเผชิญกับปัญหาการกีดกันทางการค้า และการเมือง จนทำให้ประเทศจำนวนหนึ่งไม่สามารถเปิดใจยอมรับได้ แต่หากมองในแง่ดี นี่ก็เป็นการสร้างสมดุลให้โลกในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน เพราะถ้าวันใดวันหนึ่งเหลือยักษ์ใหญ่เพียงตัวเดียว ผู้บริโภคก็อาจไม่สนุกอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นได้