ฟ้ามีตา นายกฯ รับลูกสั่ง “วิษณุ” ฟังเสียงคัดค้านตั้ง 2 บริษัทลูก กสท โทรคมนาคม และทีโอที พร้อมตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการรวบบอร์ดเหลือเพียงชุดเดียว คาดประชุมนัดแรกภายในสัปดาห์นี้ ด้านคนวงในแจงผู้บริหาร บอร์ด พนักงาน กสท โทรคมนาคม ต่างไม่เห็นด้วยกับแนวทางตั้งบริษัทลูก ขณะที่ผู้บริหารทีโอที เลือกที่จะไม่ฟังเสียงพนักงาน และไม่ยอมรับความจริง หรือดูผลของการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา รวมถึงไม่บอกความจริงกับพนักงานด้วยว่าดีจริงหรือไม่ หากแยกทรัพย์สินออกไป
นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2560 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญตัวแทนสหภาพฯ กสท โทรคมนาคม และสหภาพฯ ทีโอที พร้อมด้วย น.อ. สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เข้าหารือถึงแนวทางในการแก้ปัญหาของทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้มาหาแนวทางร่วมกัน ซึ่งตนเองได้เสนอให้ทั้ง 2 บริษัท คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม และบริษัท ทีโอที ยุบคณะกรรมการ (บอร์ด) จากเดิมที่ต่างคนต่างมีบริษัทละบอร์ด เหลือเพียงบอร์ดชุดเดียวเพื่อดูแลธุรกิจของทั้ง 2 บริษัท ไม่ให้การทำงานทับซ้อนกัน โดยจะมีข้อดีมากกว่าการแยกทรัพย์สินออกไปอยู่ 2 บริษัทลูกอย่างบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co.) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co.)
เมื่อหารือและสอบถามความเห็นเรียบร้อยแล้ว นายวิษณุจึงสั่งการให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการรวมบอร์ดเป็นชุดเดียว โดยมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน ได้แก่ สหภาพฯ กสท โทรคมนาคม, สหภาพฯ ทีโอที, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), กระทรวงดีอี และกรมบัญชีกลาง ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมนัดแรกกันภายในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ตนเองยังได้เดินทางเข้าพบสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อชี้แจงข้อดี ข้อเสีย ของการตั้ง 2 บริษัทลูกด้วย โดยอธิบายให้ สตง. เข้าใจว่า หาก 2 บริษัทลูกที่แยกออกไปไม่ได้ดีกว่าที่อยู่แต่เดิม ใครจะรับผิดชอบ ซึ่ง สตง. ก็รับฟัง และเตรียมจะเรียกสหภาพฯ ทีโอที เข้ามารับฟังความเห็นด้วย จากนั้น จะมีการขอรายงานจาก คนร. เพื่อมาพิจารณาต่อไป
“บริษัทที่จดทะเบียนไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ก็จดไป แต่แนวทางคัดค้านของเราก็ทำต่อไป และเชื่อว่า ถึงขณะนี้ผู้ใหญ่รับฟังเรามากขึ้น นายกฯ มอบหมายให้ท่านวิษณุมาดูแลเรื่องนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องไปยื่นหนังสือถึงท่านนายกฯ อีก แต่เราก็จะชี้แจงข้อเท็จจริง ถ้าแยกไป 2 บริษัท ทรัพย์สินถูกแยกออกไป แต่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นกว่าเก่า แล้วจะทำไปทำไม อนาคตเสียหายใครจะรับผิดชอบ การเดินหน้าของสหภาพฯ ทั้งสองบริษัทจะทำต่อไป เพราะเราไม่เห็นด้วย ถ้าแยกออกไปแล้วดี ผมไม่คัดค้านอยู่แล้ว และการมีบอร์ดเดียว อาจจะแบ่งเป็นบอร์ดเล็ก 2 ชุด เป็นบอร์ดทำงานแยกไปดู กสท โทรคมนาคม กับทีโอที ส่วนบอร์ดใหญ่ก็มีหน้าที่ตัดสิน และดูภาพรวมทั้งหมดเหมือนโครงสร้างการทำงานของ กสทช. อย่างแต่ก่อนก็ได้ ส่วนปัญหาข้อพิพาท ผมเชื่อว่า เอกชนก็อยากจบเรื่องนี้ หากมีการเจรจาเป็นพันธมิตรร่วมกัน” นายสังวรณ์ กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ผู้บริหารและบอร์ดของ กสท โทรคมนาคม ก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับการแยกทรัพย์สินออกไป เพราะบริษัทที่ปรึกษาที่จ้างมาก็บอกแล้วว่าแยกไปจะขาดทุน แต่บริษัทที่ปรึกษาก็ไม่กล้าฟันธงว่าดีหรือไม่ดี เพราะต้องการทำงานตามใจเจ้าของเงินที่จ้าง ซึ่งมันไม่ถูกต้อง หากวิเคราะห์เห็นแล้วว่าไม่ดีก็ต้องบอกให้ยกเลิกแผน
นอกจากนี้ ทั้ง 2 บริษัทยังมีทรัพย์สินที่ทับซ้อนกัน และแยกไม่ออกว่าจะแบ่งไปอยู่บริษัทไหน เพราะที่ผ่านทั้ง กสท โทรคมนาคม และทีโอที ต่างก็มีการสร้างบริการแบบครบวงจร ทรัพย์สินบางส่วนจึงทำงานร่วมกัน ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร สุดท้ายก็ให้ทั้ง 2 บริษัทตกลงกันเอง ทรัพย์สินตรงนี้จึงยังประเมินไม่ได้ สุดท้ายก็จะเป็นปัญหาอีก ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีเพียง กสท โทรคมนาคม เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย แต่ฝ่ายบริหารของทีโอที กลับไม่ฟังเสียงพนักงาน และไม่ยอมรับความจริง หรือดูผลของการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา รวมถึงไม่บอกความจริงกับพนักงานด้วยว่าดีจริงหรือไม่ หากแยกทรัพย์สินออกไป