xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯกสท ค้านตั้งบริษัทลูกจูงมือลงเหว (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
จิ้งจกร้องยังชะงัก แต่นี้สหภาพฯทักก็น่าจะฟังบ้าง ประธานสหภาพฯ กสท ส่งหนังสือค้านการตั้งบริษัทลูกต่อประธานบอร์ด กสท , สตง. และ สภาพัฒน์ เผยทำไมยังเดินหน้าทั้งที่บริษัทที่ปรึกษา วิเคราะห์ผลการแตกบริษัทลูกของกสท และ ทีโอที แล้วพบว่า ขาดทุนต่อเนื่องเกินกว่า 5 ปี ส่งผลกระทบต่อบริษัทแม่ ต้องเพิ่มทุนหากการดำเนินงานไม่เป็นตามคาด สุดท้ายอาจเป็นช่องนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชนฮุบในอนาคต

สังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co.) และ บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และ ศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co.) จึงได้ส่งหนังสือขอให้พิจารณาผลกระทบ จากนโยบายการแก้ไขปัญหา กสท และ บริษัท ทีโอที ในการจัดตั้งบริษัทลูก ที่อ้างเหตุเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน แต่สร้างปัญหาระยะยาวให้กับ กสท ต่อ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม ประธานบอร์ด กสท ,สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมทั้ง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์

จากนั้นขอให้หน่วยงานดังกล่าวโปรดแจ้งเป็นหนังสือถึง แนวทางแก้ปัญหา ดังกล่าวให้ สหภาพฯทราบด้วย เนื่องจากเห็นว่า หากในอนาคตเกิดความเสียหาย ต่อ กสท และ ทีโอที จาก มติครม. สหภาพฯจึงขอสงวนสิทธิ ที่จะฟ้องร้องต่อศาลในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในทางอาญา หากทำให้องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 157 กับหน่วยงานที่ทำให้เกิดความเสียหาย ต่อไป

'บริษัทลูกที่ตั้งขึ้นใหม่ เป็นรัฐวิสาหกิจต้องปฎิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 2550 และระเบียบกระทรวงการคลัง 2549 จะเกิดความคล่องตัวจริงหรือ พนักงานที่อยู่บริษัทใหม่ไม่ใช่พนักงานรัฐวิสาหกิจ ไม่มีสวัสดิการ ใช้ประกันสังคม และการจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจสินทรัพย์ใครจะรับรอง มีหน่วยงานรัฐ หรือ สคร. ใครจะรับผิดชอบว่าทรัพย์สินที่ตรวจสอบถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่'

***บ.ลูกขาดทุนเกิน 5 ปี /ข้อพิพาทยังไม่จบ

หนังสือดังกล่าวระบุใจความสำคัญว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำกับให้ กสท และ ทีโอที จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อวิเคราะห์แผนการดำเนินงาน แผนการลงทุน แหล่งเงินลงทุน ทั้งนี้ กสท ได้จ้างบริษัท ดีลอยท์ ประเทศไทย เป็นบริษัทที่ปรึกษา ด้วยวงเงินไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ให้วิเคราะห์แผนดำเนินการเพื่อจัดตั้งบริษัท NGDC โดยมีรูปแบบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการค้าส่งโครงข่ายระหว่างประเทศ และให้บริการศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต มีพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการ

ส่วน ทีโอที ได้จ้าง บริษัท ไพรซ์ วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เป็นบริษัทที่ปรึกษา ด้วยวงเงินไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ให้วิเคราะห์แผนดำเนินการ เพื่อจัดตั้ง บริษัท NBN โดยมีรูปแบบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการค้าส่งโครงข่าย และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมภายในประเทศ ถือครองทรัพย์สินประเภทโครงข่ายหลัก ระบบสื่อสัญญาณ โครงข่ายสายตอนนอก เคเบิลใยแก้วนำแสง ตามรูปแบบที่ กระทรวง ดีอี นำเสนอต่อ ครม.

สหภาพฯ เห็นว่า ผลการวิเคราะห์แผนการดำเนินงาน ของบริษัทที่ปรึกษาทั้ง 2 บริษัท วิเคราะห์ให้เห็นถึงที่มาของประมาณการทางการเงินของบริษัทลูก ทั้ง 2 บริษัท มีผลประกอบการที่ขาดทุนต่อเนื่องเกินกว่า 5 ปี จะส่งผลกระทบต่อบริษัทแม่ (กสท และ ทีโอที) ต้องเพิ่มทุน หากการดำเนินงานไม่เป็นตามคาด และไม่มีความชัดเจนที่มาของรายได้ อาจทำให้เกิดปัญหาการดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ตามมา บริษัทลูกและบริษัทแม่ ไม่มีความมั่นคง องค์กรของรัฐขาดความน่าเชื่อถือ สุดท้ายอาจจะเป็นช่องทาง นำทรัพย์สินของรัฐให้เอกชนร่วมทุนหรือ เข้าครอบครอง หรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในอนาคต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งนี้ อาจจะมีผลกระทบหลายด้าน จึงควรต้องจัดให้มีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็น ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงก่อน

การแยกทรัพย์สินและปรับโครงสร้าง ของ กสท และ ทีโอทีตามที่เสนอครม.ไม่ได้แก้ปัญหา อย่างแท้จริง เพราะปัญหาที่ผ่านมา นอกจากการแทรกแซงทางการเมืองแล้ว ยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนี้

1.ความชัดเจน ของนโยบายรัฐบาล ว่าจะให้ กสท และ ทีโอที เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องแข่งขันหารายได้นำส่งรัฐ หรือเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อสาธารณะประโยชน์ ไม่แสวงหารายได้

2.เพื่อเข้าสู่ระบบการแข่งขันเสรี กสท และ ทีโอที เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องมีการแข่งขันและหารายได้ ควรมีหน่วยงานเดียวที่กำกับดูแล เพราะที่ผ่านมามีหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงดีอี ,กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการ

3.ปรับแก้ กฎระเบียบ ขั้นตอนที่ทำให้ล่าช้าของภาครัฐ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขัน พร้อมหารายได้ เพื่อบริการประชาชน

4.ปรับเปลี่ยนนโยบายการกำกับดูแลของ กสทช. โดยคำนึงถึงผู้ประกอบการที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ให้สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อทางเลือกของประชาชน ลดการผูกขาดจากเอกชน

5.เร่งแก้ไขข้อพิพาทต่าง ๆ ของกสท จากข้อมูล 22 มิถุนายน 2560 กรณีพิพาทกับDTAC , TRUE MOVE , DPC ที่ กสท เป็นโจทก์ 96 คดี มีทุนทรัพย์ 211,065,372,284.77 บาท ข้อพิพาทที่ กสท เป็นจำเลย 29 คดี มีทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 12,859,425,435.56 บาท กสท เป็นโจทก์พิพาทกับ กสทช. 17 คดีรวมทุนทรัพย์ 309,202,054,768.81 บาท และกรณีพิพาทกับทีโอที กรณี กสท เป็นโจทก์ 7 คดี รวมทุนทรัพย์ 913,311,780.73 บาท กรณีเป็นจำเลย 7 คดี รวมทุนทรัพย์ 352,675,729,647.10 บาท

'การอ้างเหตุให้ ครม. มีมติปรับโครงสร้าง จัดตั้ง บริษัทNBN และ บริษัทNGDC เพื่อแก้ไขปัญหาของ กสท และทีโอที เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลดความซ้ำซ้อนของการลงทุนในระยะยาวและให้บริษัทที่จัดตั้งมีประสิทธิภาพในการบริหารเท่ากับเอกชน เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง ในทางกลับกัน กสท จะขาดโอกาสทางธุรกิจ ไม่สามารถแข่งขัน และสร้างบริการ Convergence ใหม่ๆ ต่างจากผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ทรู คอร์ปอเรชั่น, เอไอเอส , ทริปเปิลทรี อินเตอร์เน็ต ที่มีโครงข่ายพื้นฐานเป็นของตนเอง และให้บริการครบวงจร ได้'
สังวรณ์ระบุว่า กสท จะขาดโอกาสทางธุรกิจ ไม่สามารถแข่งขัน และสร้างบริการ Convergence ใหม่ๆ ต่างจากผู้ประกอบการรายใหญ่
***ต้องประเมินทรัพย์สินให้ถูกต้องครบถ้วนก่อน

ทั้งนี้ สหภาพฯ เห็นว่าสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำให้มีความชัดเจนก่อนการจัดตั้งบริษัทลูกคือ1.ต้องมีความชัดเจนในการตรวจสอบ ความถูกต้องของทรัพย์สิน การประเมิน มูลค่า และชนิดของสินทรัพย์ ที่จะนำเข้าไปในNGDC และ NBN ให้ครบถ้วน เนื่องจากข้อมูลของทรัพย์สินที่มีจำนวนมากและกระจัดกระจาย ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ได้มีการรวบรวมข้อมูลเป็นปัจจุบันแล้วหรือไม่ ควรต้องมีหน่วยงานของรัฐเช่น สตง. รับรองข้อมูลด้วยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และบริการ ของทั้งสองบริษัท

2.ต้องมีความชัดเจนในการซื้อบริการของ กสท และทีโอที จาก NGDC และNBN ทั้งในด้านปริมาณ ราคา และระยะเวลา เพื่อที่จะสามารถประมาณการ ที่มาของรายได้ของทั้งสองบริษัทได้เที่ยงตรงยิ่งขึ้น3. ต้องมีความชัดเจนในเรื่องโครงสร้างองค์กร การบริหารจัดการบุคลากร สภาพการจ้าง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างผลตอบแทน อัตรากำลังที่เหมาะสม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของ NGDC และ NBN

4.รัฐบาล หรือ สำนักงานกสทช. ต้องสามารถบังคับให้หน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐอื่น ห้ามสร้างโครงข่ายเพื่อให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน และให้มาเช่าใช้โครงข่ายของ NBN เท่านั้น (หากไม่ได้ ไม่ควรเรียก NBNว่าบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ ) 5.รัฐบาล ต้องมีนโยบาย ให้หน่วยงานของรัฐ ใช้บริการของ NGDC เท่านั้น เพื่อความมั่นคงของประเทศ หากไม่สามารถดำเนินการได้ หน่วยงานรัฐก็มีทางเลือกอื่น เพราะไม่ใช่ นโยบายที่ต้องปฏิบัติตาม เป็นทางเลือกใช้บริการ เท่านั้น

***ดีอีไม่คำนึงข้อเท็จจริงในธุรกิจโทรคม

สหภาพฯ ขอย้ำว่า สิ่งที่กระทรวงดีอี นำเสนอ ไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงในอุตสาหกรรมโทรคมไทย รวมถึงสถานการณ์ในการแข่งขัน กฎเกณฑ์การกำกับดูแล สภาพตลาด ความต้องการของผู้บริโภค และความมั่นคงของประเทศ เพราะการดำเนินการดังกล่าว ยังไม่มีการวิเคราะห์ให้รอบด้าน แผนธุรกิจของแต่ละบริษัท ไม่มีความชัดเจน ทำให้เกิดความเสี่ยง ที่จะมีผลกระทบ ตามข้อเท็จจริงดังนี้

1. การนำสินทรัพย์ที่เป็นโครงข่ายหลัก ออกจาก กสท และ ทีโอที ที่มีความซ้ำซ้อนเดิมอยู่แล้ว มารวมกันนั้น ไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่จะทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการและปัญหาคุณภาพบริการ ที่ต้องมีกระบวนการซับซ้อน เพราะการที่แยกบริษัทค้าปลีกอินเทอร์เน็ตประจำที่ความเร็วสูง ออกจาก โครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ (NBN) และ โครงข่ายระหว่างประเทศ (NGDC) ทำให้เกิดปัญหา การดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกัน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ ทำให้หน่วยงานของรัฐไม่สามารถแข่งขันอย่างเท่าเทียมกับเอกชนได้

2. การนำสินทรัพย์โครงข่ายออกจากบริษัทเดิม เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำไปขายในลักษณะขายส่งนั้น จะมีผลต่อการขยายและพัฒนาธุรกิจ รัฐเองไม่สามารถบังคับให้หน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานรัฐอื่นมาเช่าใช้โครงข่ายของ NGDC และNBNได้ เหมือนเช่น บริษัท เทลสตาร์ จำกัด และ Telekom Malaysia และถ้าหาก กสท และทีโอที ไม่มีความต้องการที่มากพอ ก็จะทำให้บริษัทลูก (NGDC และNBN) ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ อำนาจการต่อรองกับคู่ค้าลดลง และยากที่จะดำเนินการให้อยู่รอดด้วยตนเองได้ เพราะผู้ให้บริการรายต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น 3BB, True, AIS, UIH, กฟผ. กฟภ. และรฟท.ต่างก็มีโครงข่าย เป็นของตนเอง หรือมีทางเลือกในการเช่าใช้จากผู้ให้บริการรายใหญ่อื่น ๆ อีกหลายราย

3. การบริหารงานตามโครงสร้างนี้ จะทำให้เกิดธุรกิจสื่อสารโทรคมของรัฐ เพิ่มเป็น 4 แห่ง คือ กสท ,ทีโอที , NGDCและNBN ซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบ การบริหารการลงทุน และนโยบายของคณะกรรมการของแต่ละบริษัทนั้น ๆ ทำให้แต่ละหน่วยงาน ไม่สามารถบริหารต้นทุนทั้งหมดได้ ต่างคนต่างดำเนินการ ไม่สามารถประสานการลงทุนหรือวางแผนที่สอดคล้องในการดำเนินธุรกิจได้ ทำให้เกิดผลกระทบและปัญหาตามมา

4. การปรับโครงสร้าง ตามที่กระทรวงดีอี นำเสนอ จะทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ ในการให้บริการที่มีความแตกต่างกันทั้งในส่วนของ กสท และทีโอที จะขาดความต่อเนื่อง ขาดความเชื่อมั่นจากผู้ใช้บริการเนื่องจากไม่มีโครงข่ายหลักเป็นของตนเอง และความเสี่ยงที่ฐานลูกค้าจะลดลง ไม่มีแรงจูงใจ ให้พันธมิตรเข้าร่วมดำเนินการ อีกทั้งยังไม่สามารถขายบริการให้รัฐวิสาหกิจ ราชการและบริษัทเอกชนได้ เนื่องจากข้อกำหนดส่วนใหญ่จะกำหนดให้ ผู้ให้บริการต้องมีโครงข่ายเป็นของตนเอง และจะเปลี่ยนไปใช้บริการกับผู้ประกอบการรายอื่น ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองที่เป็นเอกชน

5. การปรับโครงสร้าง กสท ,ทีโอที , NGDCและNBNในลักษณะเช่นนี้ ยากที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการและการแข่งขันในตลาดได้ เนื่องจากความต้องการของผู้ใช้บริการกลุ่มต่าง ๆ มีมากขึ้น และมีความต้องการใช้งานในลักษณะโทเทิ่ล โซลูชัน มากกว่าการใช้บริการใดบริการหนึ่งเท่านั้น6. การแตกบริษัทย่อย ๆ ออกไป ทำให้เกิดปัญหาการ synergy ของบริการและไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาแต่กลับเพิ่มความซ้ำซ้อนในการดำเนินธุรกิจในระยะยาวเพราะในอนาคตบริษัทที่แยกออกมาจะเริ่มดำเนินธุรกิจที่ทับซ้อนกัน หรือไม่ก็ให้เอกชนร่วมลงทุน เพื่อความอยู่รอดของแต่ละบริษัท

7. บริษัท Service Co. หรือค้าปลีกบรอดแบนด์ จะไม่รอด เนื่องจากไม่มีทรัพย์สินหรือโครงข่าย และความเสี่ยงที่ฐานลูกค้าจะลดลง ไม่มีแรงจูงใจ ในการหาพันธมิตรมาเข้าร่วมดำเนินการได้ อีกทั้งยังไม่สามารถขายบริการให้รัฐวิสาหกิจ ราชการและบริษัทเอกชนได้ เนื่องจากข้อกำหนดส่วนใหญ่จะกำหนดให้ ผู้ให้บริการ ต้องมีโครงข่ายเป็นของตนเองและ8.สำนักงาน กสทช. ต้องมีแนวทางการพัฒนา และส่งเสริมการแข่งขัน โดยเสรีอย่างเป็นธรรม จัดให้หน่วยงานของรัฐมีบริการโทรคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ความมั่นคงของรัฐ ตามกฎหมาย อย่างชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น