ซิสโก้ แนะผู้ประกอบการ SMEs ลงทุนนำไอทีเข้ามาช่วยเชื่อมต่อธุรกิจ นำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคดิจิตอล ด้านไอเน็ต เตรียมลงทุนขยายมาร์เกตเพลสสำหรับผู้ประกอบการให้หันมาใช้งานระบบไอทีได้สะดวกขึ้น
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า เทรนด์ของผู้ประกอบการธุรกิจที่เกิดขึ้น และจะกลายเป็นอนาคตที่สำคัญของประเทศ รวมถึงการแข่งขันจะอยู่ที่นวัตกรรมและการผลิตที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหลัก ให้ก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จได้
“ที่เห็นตอนนี้ คือ เทคโนโลยีจะเปลี่ยนจากยุคออฟไลน์ กลายเป็นยุคของการเชื่อมต่อโรงงานการผลิต ไปจนถึงการเชื่อมต่อองค์กรธุรกิจในการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ กระทั่งไปสู่ขั้นสุดท้าย คือ การนำข้อมูลมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีในการช่วยลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย”
ในประเทศไทย กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อย (SMEs) สร้างรายได้ให้แก่ประเทศถึง 41% เมื่อเทียบสัดส่วนในระดับภูมิภาค SMEs สร้างรายได้ราว 50% ทำให้ยังมีช่องว่างของผู้ประกอบการไทยที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
โดยประการสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นต้องก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลง และทำให้เกิดการเดินหน้าของธุรกิจได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ทุกอย่างเชื่อมเข้าหากัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจากในอุตสาหกรรมการผลิต เกี่ยวกับเกษตรกรรม และด้านการบริการที่มีโอกาสปรับตัวก่อนในช่วงแรก
“ที่ซิสโก้ทำในตอนนี้ คือ พยายามปรับภาพจากเดิมที่บริการของซิสโก้ จะอยู่ในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ซิสโก้ก็มีโซลูชันของผู้ประกอบการ SMEs อย่างแคมเปญ Cisco Start ที่เน้น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ความงาย ปลอดภัย และฉลาด มาช่วยให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนสู้ดิจิตอลได้เร็วขึ้นในระดับราคาที่เข้าถึงได้”
จากเดิมนิยาม SMEs ของซิสโก้ คือ องค์กรธุรกิจที่มีจำนวนพนักงานเกิน 500 คนขึ้นไป แต่ปัจจุบันด้วยโซลูชันใหม่ที่ออกมาขยายตลาดมากขึ้น นำเซอร์วิสต่าง ๆ ไปร่วมให้บริการกับคลาวด์ ทำให้สามารถขยายฐาน SMEs ลงมาอยู่ในระดับ 100-500 คน
นายวัลล์ชัย เวชชีวะดำรงค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือไอเน็ต กล่าวเสริมว่า วิธีที่ดีที่สุดในการช่วยให้องค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็กสามารถก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ คือ การนำตัวอย่างของเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จมาให้ความรู้ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีผู้ประกอบการที่ทำได้
“การเพิ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการทรานฟอร์ม จะกลายเป็นตัวอย่างสำคัญให้ผู้ประกอบการรายย่อยอื่น ๆ เกิดการลงทุนทางด้านไอที โดยเฉพาะในระบบคลาวด์ที่กลายเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอล”
นอกจากนี้ ไอเน็ตยังมีแผนที่จะแจกอีเมลฟรีเพื่อใช้ยืนยันตัวตน สร้างแอปมาร์เกตเพลส ให้คนไทยมาใช้ร่วมกัน โดยตั้งอยู่บนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยมีระบบสำรองข้อมูล มาเช่าใช้ได้เดือนละไม่เกิน 3,000 บาท พร้อมกับเป็นคลาวด์โพรวายเดอร์ที่สามารถเก็บเอกสารทางธุรกรรมการเงิน ออกใบภาษีผ่านระบบได้
“ภายในสิ้นปีนี้ SMEs สามารถปล่อยความยุ่งยากของระบบไอทีให้ทางไอเน็ตดูแล ส่วนผู้ประกอบการสามารถเข้าไปเลือกหาแอปที่เหมาะสมมาเลือกใช้งานในต้นทุนที่ต่ำ ที่สำคัญ คือ ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย”
อย่างไรก็ตาม ไอเน็ต มองว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้ SMEs ส่วนใหญ่ยังไม่เข้ามาใช้ระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เกิดจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมองถึงการลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ไม่เกิดการใช้งาน โดยในจุดที่ภาครัฐก็ต้องเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าระบบ
นายชาตรี ตั้งมิตรประชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮมฮับ จำกัด ให้ข้อมูลเสริมว่า ที่ผ่านมา โฮมฮับมีการลงทุนไอทีอย่างต่อเนื่อง และแสดงให้เห็นว่า การลงทุนเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่าย อย่างการประชุมที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เปลี่ยนเป็นใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และช่วยให้ทำธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น
“ผู้ประกอบการ SMEs ต้องรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างสรรค์ธุรกิจให้เกิดประโยชน์ทั้งภายในบริษัท และการเชื่อมต่อกับผู้บริโภค ในการนำไอทีมาใช้ในการเก็บข้อมูลลูกค้า ทำโปรโมชันให้เหมาะสม และช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้แก่ลูกค้า”
สำหรับโฮมฮับ ถือเป็นผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง และของตกแต่งในบ้าน ที่เริ่มนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้งานตั้งแต่ปี 2000 จนปัจจุบันขึ้นเป็น 1 ใน 3 ผู้ประกอบการรายใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็น 1 ใน 5 ผู้ค้าวัสดุก่อสร้างในประเทศไทย