xs
xsm
sm
md
lg

กสท ขาดทุนปีแรกพันล้าน ฝีมือ “กระทรวงดีอี” ทำงานไม่เป็น ดองเค็มโครงการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ กสท คือการจับมือ กรมการขนส่งทางบก พัฒนาระบบ GPS Tracking เพื่อเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศ
ซีอีโอ กสท โทรคมนาคม รับปีนี้จะเป็นปีแรกที่ กสท โทรคมนาคม ขาดทุนหลักพันล้านบาทในรอบ 14 ปี เหตุถูกเอกชนแข่งขัน ขณะที่รายได้ใหม่ที่เป็นความหวังก็ถูกดองเรื่องอยู่ที่กระทรวงดีอี โดยเฉพาะการร่วมทุนกับดีแทค ที่มีมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาท

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้จะเป็นปีแรกในรอบ 14 ปีที่บริษัทจะขาดทุนเป็นหลักพันล้านบาท เนื่องจากรายได้ที่คาดการณ์ว่าจะมีกำไร เช่น บริการโรมมิง ที่คาดว่าจะมีกำไร 800 ล้านบาท ก็น่าจะขาดทุน เนื่องจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ต่างมีบริการโรมมิงของตนเอง ไม่ต้องใช้เครือข่ายของ กสท โทรคมนาคม อย่างแต่ก่อน

นอกจากนี้ รายได้จากธุรกิจโมบายทั้ง my และ MVNO ก็ไม่ได้มีรายได้มากนัก โดยปัจจุบัน my มีลูกค้าอยู่ 1.8 ล้านเลขหมาย คาดว่าสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 2 ล้านเลขหมาย ขณะที่ MVNO แต่ละราย ก็มีแต่หนี้ที่ต้องทยอยจ่ายให้ กสท โทรคมนาคม เหลือเพียง “ซิมเพนกวิน” ของบริษัท เดอะไวท์สเปซ จำกัด เท่านั้นที่ยังมีสถานะทำตลาดได้อยู่ เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาของโอเปอเรเตอร์เอกชนที่สามารถทำได้กับ 4G ในราคาที่ถูกกว่า 3G ของ กสท โทรคมนาคม ขณะที่ my และ MVNO ของ บริษัทเองไม่สามารถลดราคาเพื่อแข่งขันได้มากกว่านี้แล้ว

ปัจจุบัน กสท โทรคมนาคม มี MVNO อยู่ 4 ราย คือ 1. บริษัท เรียลมูฟ จำกัด 2. บริษัท 168 คอมมูนิเคชั่น จำกัด 3. บริษัท ดาต้า ซีดีเอ็มเอ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และ 4. บริษัท เดอะไวท์สเปซ จำกัด ซึ่งทั้ง 168 และ ดาต้า ซีดีเอ็มเอ แม้ว่ายังคงทำธุรกิจอยู่แต่ก็มีหนี้ค้างอยู่กับ กสท โทรคมนาคม อยู่

พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตนเองพยายามที่จะหารายได้เพิ่ม เพื่อชดเชยรายได้ที่คาดว่าจะหายไป ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เพื่อให้เช่าเสา และอุปกรณ์โทรคมนาคม แต่เรื่องก็ยังคงค้างอยู่ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 ทำให้ กสท โทรคมนาคม สูญเสียรายได้ที่คาดว่าจะได้งวดแรก 20,000 ล้านบาท และอีกปีละ 700 ล้านบาท ต้องพับไป ไม่มีหวัง

เพราะล่าสุด ทางดีอี ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อรับทราบ ทั้ง ๆ ที่ คนร. ทราบเรื่องนี้นานแล้ว จึงยังไม่ได้บรรจุในวาระการประชุม ซึ่งตนเองก็หมดหวังกับดีลนี้แล้ว เพราะ คนร. เคยบอกให้ กสท โทรคมนาคม นำเรื่องให้ดีอี ส่งกระทรวงการคลัง และ คนร. จะเข้าไปรับทราบในวาระการประชุมของกระทรวงการคลังเอง แต่ดีอีกลับนำไปให้ คนร. รับทราบอีกเพื่ออะไร เพราะปี 2561 ก็จะหมดสัญญาสัมปทานแล้ว ทำอะไรไม่ทันแล้ว

“อีกเรื่องที่ยังค้างอยู่ที่กระทรวงดีอี ก็คือ เรื่องที่เราขอความเห็นของการทำธุรกิจร่วมกับบีเอฟเคที ที่ขอเปลี่ยนการซื้อโครงข่ายเป็นการเช่าโครงข่าย ส่งไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ดีอีก็เงียบ เรื่องดาวเทียมเราก็พร้อมจะทำกับไทยคม ขอให้ดีอีบอกว่าได้ แค่ไม่ถึง 2 อาทิตย์ โครงการพร้อมเสนอได้เลย ดีอีก็เงียบ ส่วนเรื่องเกตเวย์ 5,000 ล้านบาท เรื่องเพิ่งออกจากกระทรวงดีอีไปเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง เพื่อนำเข้า ครม. เพราะต้องเบิกงบประมาณรอบแรก 2,000 ล้านบาทในเดือนกันยายนนี้”

ส่วนความคืบหน้าในการตั้ง 2 บริษัทลูก บริษัท เอ็นบีเอ็น จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และบริษัท เอ็นจีดีซี จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ และธุรกิจศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตนั้น คาดว่าจะจดทะเบียนบริษัทเสร็จภายในเดือน ก.ค. นี้ เพราะบริษัทต้องสามารถดำเนินธุรกิจให้ได้ในวันที่ 1 พ.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งช่วงนี้อยู่ระหว่างการประเมินทรัพย์สินของทั้ง กสท โทรคมนาคม และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และการจัดสรรกำลังพล โดยบริษัท เอ็นบีเอ็น ต้องมีพนักงาน 2,000 คน ส่วนบริษัท เอ็นจีดีซี ต้องมีพนักงาน 479 คน ส่วนพนักงานที่เหลือที่ไม่ได้ถูกเลือก เพราะเกินจำนวน แต่หน้าที่ของงานไปอยู่ที่บริษัทลูกแล้ว บริษัทแม่ก็ต้องมีโปรแกรมฝึกให้เขาทำงานด้านอื่นแทนในบริษัทแม่ รวมถึงต้องเขียนขอบเขตการทำงานให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ทำงานทับซ้อนกับบริษัทแม่ด้วย ส่วนตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เบื้องต้น จะสัมภาษณ์คนในบริษัทเดิมดำรงตำแหน่งในบริษัทใหม่ไปก่อน

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว บริษัทแม่จะมีหน้าที่เพียงทำการตลาดให้บริษัทลูก, เดินหน้าเจรจาข้อพิพาทต่าง ๆ ที่ยังไม่จบ, ทำธุรกิจโมบายที่เหลืออยู่ และต้องหารายได้จากธุรกิจอื่น ๆ โดยไม่เน้นการแข่งขันราคาแต่ต้องหารายได้จากบริการด้านดาต้า หรือแอปพลิเคชันแทน

ยกตัวอย่างเช่น ล่าสุด เพิ่งลงนามความร่วมมือกับกรมขนส่งทางบก โดยปัจจุบันมีแท็กซี่อยู่ในระบบ 2 แสนคัน และรถขนส่ง 1 ล้านคัน ในการจัดแพกเกจซิม my ราคาพิเศษให้กับรถที่ต้องติดตั้งระบบจีพีเอสกับกรมขนส่งทางบก โดยคาดหวังว่า ในอนาคต กสท โทรคมนาคม จะเสนอบริการพื้นฐานในการเก็บข้อมูลคนขับ และวิเคราะห์ออกมาให้กรมขนส่งทางบกได้ โดยเห็นว่า ข้อมูลของรัฐควรเป็นหน่วยงานรัฐที่ได้ทำข้อมูลมากกว่าปล่อยให้อยู่ในมือของเอกชน รวมถึงการออกซิมเพื่อใช้ในเทคโนโลยี Internet of Thing หรือ IoT ที่คาดว่าอีก 5 ปีจะมีจำนวนการใช้งาน 200-300 ล้านอุปกรณ์ที่ใช้งาน
กำลังโหลดความคิดเห็น