ทันทีที่ บริษัท ไอ-โมบาย พลัส จำกัด ขอสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ในการให้บริการขายต่อบริการและบริการขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือนแบบ Non Facilities Based MVNO - Medium MVNO ด้วยเหตุผลขาดทุน ทำให้ ไอ-โมบาย เลิกเป็น MVNO ทั้งจากของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ขณะที่ฝ่ายบริหารของไอ-โมบาย เอง ต่างก็แยกย้ายไปตามทางของตนเอง ทำให้เกิดคำถามว่า การเป็น MVNO นั้น เป็นโมเดลที่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่ไม่มีคลื่นเป็นของตนเองจริงหรือ
***เลิก MVNO เพราะเจ๊ง
ไอ-โมบาย ได้แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอสิ้นสุดการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง พร้อมส่งมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการภายหลังจากสิ้นสุดการอนุญาตให้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณา เมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดย ไอ-โมบาย อ้างเหตุผลในการขอสิ้นสุดการอนุญาตของบริษัทว่า ทีโอที ในฐานะคู่สัญญาที่เป็นเจ้าของโครงข่ายไม่ได้ดำเนินการขยายพื้นที่การให้บริการตามแผนธุรกิจ และไม่มีการพัฒนาแผนธุรกิจที่ชัดเจน รวมถึงเกิดปัญหาระบบสัญญาณโทรศัพท์ขัดข้องบ่อยครั้งและมีการแก้ไขปัญหาล่าช้า ส่งผลให้ ไอ-โมบาย ขาดทุนและไม่อาจดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ขณะที่ ทีโอที ชี้แจงเหตุผลของการยุติการให้บริการและยกเลิกบันทึกความเข้าใจโครงการทดลองการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G กับ ไอ-โมบาย ว่า เป็นเพราะไอ-โมบาย มีหนี้ค้างชำระและผิดนัดชำระค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ กสทช. ต้องติดตามและตรวจสอบสาเหตุของการยุติการให้บริการของ ไอ-โมบาย ให้มีความชัดเจนด้วย เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาลักษณะดังกล่าว เพื่อประโยชน์ด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมต่อไป
***ทีโอทีแจงเทคนิคอยู่รอดต้องไม่แข่งราคา
รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที กล่าวว่า การจากไปของ ไอ-โมบาย ทำให้ปัจุจบันทีโอทีมี MVNO เหลืออยู่ 2 ราย คือ mobile 8 กับ ล็อกซเล่ย์ สำหรับลูกค้า ไอ-โมบายนั้น ทีโอทียินดีให้บริการต่อ ซึ่งขณะนี้ ก็ทยอยส่งมาเรื่อยๆ เพราะเหลือลูกค้าอีกไม่มากประมาณไม่เกิน 10,000 ราย ซึ่ง MVNO รายเดิมทราบเรื่องโครงข่าย 3Gทีโอที ที่มีอยู่เดิมกว่า 5,000 สถานีฐาน ดีอยู่แล้ว การที่ MVNO จะรอดหรือไม่รอดนั้น ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละราย ซึ่งยอมรับว่าในช่วงแรก อาจมีความได้เปรียบเพราะ TOT 3G ยังสูสีกับรายอื่น
แต่หลังจากปี 2558 และ 2559 ค่ายมือถือรายอื่นขยายโครงข่าย 3G/4G ไปไกลกว่าทีโอทีมาก และให้บริการในแพกเกจราคาถูกและจูงใจ MVNO คงทำตลาดสู้ด้วยราคาลำบาก ดังนั้นควรต้องวางกลยุทธ์ที่ดี แต่ ไอ-โมบาย ทำตลาดด้วยการขายเครื่องพ่วงซิมเป็นหลักในลักษณะการซับซิไดซ์ ประกอบกับในระยะหลังเครื่องโทรศัพท์มือถือแบรนด์ต่างๆ ลดราคาอย่างมากพร้อมทั้งคุณสมบัติที่ดีขึ้น ในขณะที่เครื่องไอ-โมบายเองอาจสูญเสียความได้เปรียบด้านราคา จนอาจสู้พวกมีแบรนด์ไม่ได้
'อย่างไรก็ตาม ทีโอที เอง ก็ยังคงเปิดรับ MVNO สำหรับคลื่น 2300 MHz ซึ่งคาดว่าเครือข่ายน่าจะเริ่มทำตลาดได้ประมาณปีหน้า'
***CATหวัง MVNO เป็นธุรกิจหลัก
ขณะที่ กสท โทรคมนาคม เห็นความสำคัญในการสร้างรายได้จาก MVNO เพราะต้องสร้างธุรกิจใหม่ให้มีกำไร พร้อมกับหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อให้บริษัทสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดย พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม ต้องการให้ระยะยาวบริษัทต้องไม่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) แข่งกับใคร แต่บริษัทจะเป็นผู้สร้างให้เกิด MVNO รายใหม่ๆ แม้ว่าบริษัทจะไม่ใช่ผู้ชนะการประมูลที่ต้องทำตามเงื่อนไขในการสนับสนุนให้เกิด MVNO และก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามเงื่อนไข กสทช. แต่การสร้าง MVNO นั้นตนเองเชื่อว่าจะช่วยทำตลาดเฉพาะกลุ่มได้มากกว่า
ปัจจุบัน กสท โทรคมนาคม มี MVNO อยู่ 4 ราย คือ 1.บริษัท เรียลมูฟ จำกัด 2.บริษัท 168 คอมมูนิเคชั่น จำกัด 3.บริษัท ดาต้า ซีดีเอ็มเอ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และ 4. บริษัท เดอะไวท์สเปซ จำกัด
***ส่องโมเดลอยู่รอดของ เดอะไวท์สเปซ
ชัยยศ จิรบวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เดอะไวท์สเปซ เจ้าของซิม แพนกวิน กล่าวยอมรับว่า การทำตลาดของ MVNO เหนื่อยจริง แต่ที่บริษัทอยู่ได้ เพราะบริษัททำธุรกิจเดียว จริงจัง และโฟกัสกลุ่มลูกค้าชัดเจน ไม่ลงเล่นตลาดกลุ่มแมส ขณะที่การสร้างแพกเกจก็ต้องสอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่โฟกัสด้วย เช่น ที่ผ่านมาจับกลุ่มคนสูงวัย และวัยรุ่น ซึ่งได้สำรวจแล้วพบว่า ผู้สูงวัยในตอนนี้เริ่มใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกับลูกหลาน และค้นหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังมีความกังวลว่า เน็ตที่ใช้จะรั่ว ทำให้ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนเกินจำนวนมาก
ส่วนกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ชอบใช้อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย จะมีความช่างเลือก ชอบความหลากหลาย มีมาตรฐานสูง และรู้ว่ามีทางเลือกอีกมากจากข้อมูลบนโลกออนไลน์ จึงมักจะพิจารณา เปรียบเทียบราคา และคุณภาพ จนกว่าจะเจอตัวเลือกที่ดีที่สุด ดังนั้น บริษัทจึงได้ออกแพกเกจสำหรับลูกค้า 2 กลุ่มดังกล่าว และยังได้สำรวจพบอีกว่าลูกค้าส่วนใหญ่ 75% เป็นลูกค้าต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ 85% ใช้งานด้านข้อมูล
ล่าสุด ได้จับมือกับ ซิงเกอร์ประเทศไทย ออก 'ซิมซิงเกอร์' โดยอาศัยจุดแข็งของซิงเกอร์ ที่มีเครือข่ายพนักงานขายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 14,000 คน ซึ่งแต่ละรายเป็นการขายตรงถึงบ้าน และซิงเกอร์เองก็มีการขายโทรศัพท์มือถือด้วย โดยลูกค้าจะได้รับแพกเกจโทร.ฟรี 200 นาทีทุกเครือข่าย พร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสุด จำนวน 2.5 GB จากนั้น สามารถเล่นต่อได้ที่ความเร็ว 384 Kbps ตลอดระยะเวลาโปรโมชัน 30 วัน
นอกจากนี้ หากต้องการเติมเงินโทรศัพท์ภายหลังจากจำนวนการโทร.ฟรีหมด โดยสามารถเลือกได้จากหลากหลายช่องทาง เพียงเติมเงินผ่านตู้เติมเงินซิงเกอร์ ตู้เติมเงินอื่นทั่วไป ร้านเจมาร์ท ,ร้านสะดวกซื้อ,7-Eleven, แฟมิลี่มาร์ท รวมถึงเติมเงินผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ เช่น AirPay, WePay, PayforU และอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีทีมคอลเซ็นเตอร์คอยให้บริการลูกค้าอย่างครบวงจรอีกด้วย คาดว่าจะมีลูกค้าเพิ่มจากแคมเปญนี้ 10,000 เลขหมาย จากฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ในปี 2559 ที่ 2.5 แสนเลขหมาย
ชัยยศ กล่าวว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้การทำธุรกิจแบบ MVNO ของ บริษัทราบรื่น ส่วนหนึ่งก็ยังมาจากเจ้าของเครือข่าย อย่าง กสท โทรคมนาคม ด้วย ว่าให้ความสำคัญกับ MVNO อย่างไร โดยที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า กสท โทรคมนาคม ทำงานรวดเร็ว และพร้อมจะข้ามขั้นตอนบางประการเพื่อให้การทำงานร่วมกันรวดเร็วขึ้น และนับว่า บริษัท เป็น MVNO รายเดียวที่มีเลขหมายจำนวนมากที่สุด ซึ่ง กสทช. อนุมัติเลขหมายให้แล้ว 1.2 ล้านเลขหมาย ส่วนในอนาคตบริษัทจะเป็น MVNO กับ คลื่น 2300 MHz กับ ทีโอที หรือไม่นั้น ชัยยศ ตอบสั้นๆว่า 'เรายินดีเปิดรับทุกค่าย'
ต้องมาลุ้นกันอีกทีว่าจะยังมีใครกล้า โดด ลงมาร่วมวง เป็น MVNO อีกหรือไม่ !!