xs
xsm
sm
md
lg

จากยุคลากสาย มาถึงยุคที่จ่ายเพียง 100 บาท มี “เบอร์บ้าน” เป็นของตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


"สมัยก่อน การขอเบอร์โทรศัพท์บ้านเป็นเรื่องยาก แต่ปัจจุบันเมื่อติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแล้ว ยังสามารถขอเบอร์บ้านได้อีกด้วย รวมทั้งยังมีบางบริการที่สามารถมีเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ได้"

29 ตุลาคม 2560 คนกรุงเทพฯ ที่ใช้โทรศัพท์บ้านทรู (ขึ้นต้นด้วย 026, 027, 028 และ 029) จะถูกโอนไปยังทีโอที เป็นผู้ให้บริการลูกค้า โดยไม่ต้องเปลี่ยนเบอร์เดิมที่ใช้อยู่ หรือขอเปิดใช้บริการใหม่แต่อย่างใด

เหตุผลก็คือ สัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ประจำที่ จำนวน 2.6 ล้านเลขหมาย ในเขตโทรศัพท์นครหลวง ระยะเวลา 25 ปี ที่ทีโอทีและทรู (สมัยก่อนคือ เทเลคอม เอเชีย) ทำไว้ตั้งแต่ปี 2535 จะสิ้นสุดลง

โดยทีโอทีจะเป็นผู้คิดเงิน และจัดส่งใบแจ้งค่าบริการเอง จากเดิมทรูจะเป็นฝ่ายส่งใบแจ้งค่าบริการ ลูกค้าที่เคยจ่ายผ่านทรูช้อป ก็ต้องเปลี่ยนไปจ่ายที่ศูนย์บริการลูกค้าทีโอที 400 แห่ง หรือช่องทางอื่น ๆ ทั้งฟรีและเสียค่าธรรมเนียม

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 ทีโอทีเพิ่งจะรับโอนลูกค้าโทรศัพท์บ้านของทีทีแอนด์ที จำนวน 3.5 แสนเลขหมาย หลังศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้ทีโอทีดำเนินการต่อ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559

ที่น่าสนใจก็คือ สัดส่วนกลุ่มลูกค้าที่รับโอนพบว่า ลูกค้าบุคคลธรรมดามีสัดส่วนมากที่สุดถึง 63% รองลงมาคือ ลูกค้าธุรกิจ 32% ส่วนลูกค้าภาครัฐมีเพียง 4% และลูกค้าอื่นๆ 1%

ปัจจุบัน ทีโอทีมีลูกค้าโทรศัพท์บ้านอยู่ในมือ 3.75 ล้านเลขหมาย หากรับโอนลูกค้าทรู 1.3 ล้านเลขหมาย จะทำให้ทีโอทีมีลูกค้าโทรศัพท์บ้านรายใหญ่ที่สุด มีฐานลูกค้ามากกว่า 5 ล้านเลขหมาย

ที่สำคัญ ทีโอทียังถือครองเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ ซึ่งได้รับการจัดสรรจาก กสทช. รวมกันทั้ง 3 บริษัท (ทีโอที, ทรู และ ทีทีแอนด์ที) มากถึง 17.87 ล้านเลขหมาย พร้อมให้บริการลูกค้าอีกมาก

สมัยก่อน ในยุคที่มือถือยังมีใช้กันเฉพาะกลุ่ม โทรศัพท์บ้านเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา แต่กว่าจะได้ใช้ก็ยากเย็น โดยเฉพาะต่างจังหวัด เนื่องจากปัญหาสำคัญ คือ ชุมสายไม่เพียงพอ หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล

มาถึงยุคนี้ อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจโทรศัพท์บ้านอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่องก็คือ ลูกค้าบุคคลธรรมดาหันไปใช้โทรศัพท์มือถือมากขึ้น อันเนื่องมาจากสงครามราคาของผู้ให้บริการมือถือ 3 ค่ายยักษ์

แม้ทีโอทีจะรับโอนลูกค้าจากทรู แต่ทรูก็ยังให้บริการโทรศัพท์บ้านที่เรียกว่า Fixed Line Plus สำหรับลูกค้า Ultra hi-speed internet ภายใต้บริษัท ทรู ยูนิเวอร์เซล คอนเวอร์เจ้นซ์ (ในนาม ทรู อินเตอร์เน็ต)

ทรู ยูนิเวอร์เซล คอนเวอร์เจ้นซ์ ได้รับการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่จาก กสทช. อยู่ในมือแล้ว 2.4 ล้านเลขหมาย เฉพาะเบอร์ 02 มีอยู่ 1.34 ล้านเลขหมาย

ลูกค้าอินเตอร์เน็ตบ้านทรูในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีเบอร์โทรศัพท์บ้านขึ้นต้นด้วย 02-000-xxxx ถึง 02-023-6xxx, 02-108-xxxx, 02-115-xxxx ถึง 02-119-xxxx จะไม่ถูกโอนย้ายไปยังทีโอที ยังคงรวมบิลกับค่าเน็ตเหมือนเดิม

ไม่นับรวมผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้านรายอื่น เช่น กสท โทรคมนาคม ที่มีเลขหมายอยู่ในมือ 2.7 แสนเลขหมาย เฉพาะเบอร์ 02 มีมากถึง 1.5 แสนเลขหมาย

หรือจะเป็น ทริปเปิลที บรอดแบนด์ มีเลขหมายอยู่ในมือ 1.57 แสนเลขหมาย เฉพาะเบอร์ 02 มีอยู่ 4 หมื่นเลขหมาย ลูกค้าระบบ VDSL สามารถขอโทรศัพท์บ้านได้อีกด้วย โดยเลขหมายจะแตกต่างจากทีโอที

สำหรับต่างจังหวัด พบว่าภาคธุรกิจที่มาลงทุน นิยมขอเบอร์พื้นฐานเจ้านี้เมื่อเปิดโครงการใหม่ อาทิ กลุ่มเซ็นทรัล ไม่ว่าจะเป็นโครงการของเซ็นทรัลพัฒนา โรบินสัน หรือ ไทวัสดุ ก็มักจะใช้เบอร์พื้นฐานของทริปเปิลที บรอดแบนด์

นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการรายอื่นได้รับการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่หลายราย โดยเฉพาะ แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (บริษัทในเครือเอไอเอส) 1.57 แสนเลขหมาย หรือจะเป็น ดีแทค ไตรเน็ต มีอยู่ 2.2 หมื่นเลขหมาย

เพียงแต่เอไอเอส และดีแทค ยังไม่ทำการตลาดโทรศัพท์พื้นฐาน เหมือนกับอีก 4 เจ้าใหญ่เท่านั้น

ที่น่าเป็นห่วง ตรงที่เลขหมายขึ้นต้นด้วย 02 คงเหลือเพียงแค่ 4,000 เลขหมายเท่านั้น หากหมายเลข 02 หมดลง ไม่เพียงพอกับความต้องการ สุดท้ายอาจใช้วิธีเพิ่มเลขขึ้นมาอีก 1 หลัก เหมือนที่ใช้กับเบอร์มือถือเมื่อปี 2547

เมื่อปี 2547 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) จัดทำแผนการปรับระบบเลขหมายโทรศัพท์ (Numbering Plan) เพิ่มเลข 8 ก่อนเลข 0 ของเลขหมายประจำที่

ตัวอย่างเช่น หมายเลขโทรศัพท์ของกองบรรณาธิการ MGR Online จากเดิม 0-2629-4488 หากเพิ่มเลข 8 อีกตัว ก็จะกลายเป็นหมายเลข 80-2629-4488 แทน

แม้วันนี้จะยังไม่เกิด แต่วันหน้าอาจไม่แน่เหมือนกัน

สมัยก่อน การขอเบอร์โทรศัพท์บ้านเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสมัยก่อนชุมสายไม่ได้มีจำนวนมาก การลากสายมีค่าใช้จ่ายที่แพง แต่ปัจจุบันเมื่อติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแล้ว ยังสามารถขอเบอร์บ้านได้อีกด้วย

โดยมีให้เลือกระหว่าง โทรศัพท์บ้านผ่านสายเคเบิล (Docsis) และผ่านสายโทรศัพท์ (xDSL) หากสมัครพร้อมกับอินเตอร์เน็ตจะฟรีค่าติดตั้ง แต่ถ้าต้องการเบอร์บ้านอย่างเดียว คิดค่าติดตั้ง 3,350 บาท

หากเป็นของทีโอที จะคิดค่าติดตั้งโทรศัพท์บ้านอยู่ที่ 3,350 บาทต่อเลขหมาย (ไม่รวมค่าเดินสายในอาคาร กับเครื่องกันฟ้า) และคิดค่าบำรุงรักษาคู่สายโทรศัพท์

มีให้เลือกระหว่าง ค่าบำรุงรักษาเดือนละ 100 บาท คิดค่าใช้ทางไกลแบ่งเป็นภาคเวลา ตั้งแต่ 1.50 ถึง 9 บาทต่อนาที เบอร์มือถือ 3 ถึง 6 บาทต่อนาที กับค่าบำรุงรักษาเดือนละ 200 บาท คิดค่าใช้ทางไกลและเบอร์มือถือ 2 บาทต่อนาที

นอกจากนี้ ยังมีบางบริการที่สามารถมีเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ได้ โดยไม่ต้องลากสายโทรศัพท์บ้าน เพียงแต่ใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรือผ่านอินเตอร์เน็ต ผ่านระบบ Voice over IP หรือ VoIP

เช่น แอปพลิเคชั่น Link บริการนำหมายเลขโทรศัพท์พื้นฐานมาไว้บนมือถือ ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด เมื่อสมัครบริการและเติมเงินครั้งแรก จะได้รับเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน 9 หลักมาใช้ได้แล้ว

จริงๆ แอปพลิเคชั่นนี้เปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคม 2559 เดิมคือบริการ CAT 2Call Plus เหมาะสำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ สามารถใช้เลขหมายนี้โทรออกและรับสายเข้าได้ทุกที่เสมือนอยู่ในประเทศ

ความแตกต่างกับผู้ให้บริการ VoIP อื่นๆ ก็คือ ถ้าเป็นรายอื่น เช่น True Net Talk หรือ TOT Netcall จะใช้เลขหมาย 10 หลัก ขึ้นต้นด้วย 060 สำหรับโทรศัพท์ระบบอินเตอร์เน็ต

แต่แอปนี้จะจัดสรรเลขหมายพื้นฐานของ กสท. ไปเลย ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกจังหวัดไหน ปัจจุบันมีให้บริการครบทุกจังหวัดแล้ว

วิธีสมัครเพื่อขอเบอร์พื้นฐานของ กสท. แบบง่ายๆ ใช้แค่สองอย่าง ได้แก่ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน กับ บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตที่ช้อปออนไลน์ได้ เพื่อเติมเงินโดยหักจากบัญชีธนาคาร ได้แก่

1. เข้าไปที่เว็บไซต์ https://link.catnextgen.com กด “สมัครบริการ”

2. กรอกข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์มือถือ อีเมล ที่สำคัญ “ให้เลือกจังหวัด เพื่อรับการจัดสรรหมายเลขตามพื้นที่” ต่อด้วยกดรหัส Verify Code แล้วกด ตกลง

หากเลือก “กรุงเทพฯ และปริมณฑล” จะได้หมายเลขขึ้นต้นด้วย 02-107-xxxx ส่วนต่างจังหวัด จะได้รับการจัดสรรเลขหมายขึ้นต้นด้วยรหัสทางไกล อาทิ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จะได้หมายเลขขึ้นต้นด้วย 032

ยกเว้นจังหวัดใหญ่ๆ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน จะได้เลขหมายขึ้นต้นด้วย 052 เนื่องจากเลขหมาย 053 เต็มแล้ว หรือชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จะได้เลขหมายขึ้นต้นด้วย 033 แทน เนื่องจากเลขหมาย 038 เต็มแล้ว

3. เลือกแพ็คเกจ เริ่มต้นที่ 100 บาท อายุการใช้งาน 60 วัน, 200 บาท อายุการใช้งาน 180 วัน และ 300 บาท อายุการใช้งาน 365 วัน โดยเงินที่เติมจะเป็นเครดิตสำหรับโทรออกเหมือนโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงิน

4. ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ให้กรอกเลขที่บัตร 10 หลัก รหัส CVV 3 หลัก ชื่อบนหน้าบัตร ธนาคาร แล้วทำการชำระเงิน (อาจจะเข้าสู่หน้าของ Verified by VISA หรือ MasterCard Secure Code)

5. ชำระเงินสำเร็จ หน้าจอจะแสดงผล USERNAME เป็นเบอร์โทรศัพท์ที่แอปฯ จะเป็นคนเลือก ขึ้นต้นด้วย +66 และ PASSWORD สำหรับเข้าสู่ระบบเพื่อใช้งาน โดยระบบจะส่งไปให้ผ่านอีเมล และ SMS

วิธีใช้งาน เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น LINK VoIP ใน App Store หรือ Google Play ติดตั้งเรียบร้อยแล้วให้ใส่ USERNAME และ PASSWORD ก็สามารถใช้งานได้ทันที

โดยหน้าจอแอปพลิเคชั่นจะแสดงปุ่มกดเหมือนโทรศัพท์มือถือทุกอย่าง สามารถโทรออกไปยังเบอร์บ้าน เบอร์มือถือ หรือเบอร์ไหน ๆ ก็ได้ทั้งในและต่างประเทศ ระบบจะหักเงินจากยอดเงินที่เติม

(หากใช้ระบบ iOS แรกๆ จะขึ้นข้อความให้เปิด Bluetooth เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ และอนุญาตให้เข้าถึงไมโครโฟน หากไม่อนุญาต จะไม่สามารถสนทนากับปลายสายได้)

สำหรับค่าบริการ โทรหาเลขหมาย LINK ด้วยกันฟรี โทรไปยังเบอร์ประเทศไทย ทั้งเบอร์บ้านและมือถือ 75 สตางค์ต่อนาที (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และโทรไปยังเบอร์ระหว่างประเทศ เริ่มต้นที่ 1 บาทต่อนาที

หากต้องการเช็คยอดเงิน ให้เข้าไปที่เมนู “ตั้งค่า” (More) เลือก “เช็คยอดเงิน” (Check Balance) จะแสดงผลยอดเงินคงเหลือ และวันหมดอายุได้อีกด้วย

ส่วนวิธีการเติมเงิน สามารถเติมเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส โดยแสดงบาร์โค้ดในแอปพลิเคชั่น รวมทั้งเติมเงินผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิตได้ที่เว็บไซต์ https://link.catnextgen.com ได้เช่นกัน

จากการทดลองใช้งาน พบว่า เมื่อสนทนากับปลายสายแล้ว แรก ๆ หน้าจอจะขึ้นอนุญาตให้ใช้ไมโครโฟน ปลายสายจะไม่ได้ยิน แต่เมื่อกด Allow ปลายสายก็จะได้ยินและจะสนทนาได้ ซึ่งคุณภาพเสียงขึ้นอยู่กับสัญญาณอินเตอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม บริการนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีก็คือ สามารถขอเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน โดยเฉพาะเบอร์ 02 ได้โดยไม่ต้องติดตั้งโทรศัพท์บ้าน ไม่ต้องลากสายโทรศัพท์ ไว้ใช้งานควบคู่กับเบอร์มือถือเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี

รวมทั้ง ไม่ต้องซื้อซิมการ์ด ไม่ต้องลงทะเบียนซิม เพียงแต่ใช้เบอร์มือถือและอีเมล รวมทั้งบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตในการลงทะเบียน

นอกจากนี้ อายุการใช้งานยังยาวนานกว่า เติมเงินเพียง 300 บาท อยู่ได้นานถึง 365 วัน ถูกกว่าค่าบำรุงคู่สายโทรศัพท์เดือนละ 100-200 บาทอีก

ข้อเสียก็คือ เนื่องจากแอปพลิเคชั่น LINK บางครั้งไม่ได้เชื่อมต่อตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสัญญาณอินเตอร์เน็ต อีกทั้งหากปิดและเปิดเครื่องใหม่ ถ้าไม่เปิดแอปฯ จะไม่สามารถติดต่อได้ ต่างจากโทรศัพท์บ้านที่ต่อติดตลอดเวลา

นอกเสียจากว่าเราตั้งค่าโอนสายในแอปพลิเคชั่นไปยังเบอร์มือถือหรือเบอร์บ้าน หรือไม่เช่นนั้นต้องไปปรึกษากับศูนย์บริการลูกค้า กสท. โทรคมนาคม เพื่อขอใช้งานผ่านอุปกรณ์ ATA, IP Phone ต่อเข้ากับโทรศัพท์ตั้งโต๊ะ

อีกทั้งไม่สามารถรับ SMS ได้ แตกต่างจากโทรศัพท์มือถือธรรมดา

อีกประการหนึ่ง เมื่อวิธีการสมัครที่ง่าย น่ากลัวว่าอาจจะมีคนนำเบอร์บ้านไปใช้ในทางที่ผิด

เช่น ใช้สำหรับเทเลเซลล์ที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ รวมทั้งมิจฉาชีพอย่างแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ โดยที่ไม่รู้ว่า หากเกิดปัญหาจะมีวิธีการตรวจสอบอย่างไร

กสท โทรคมนาคม น่าจะมีมาตรการรับมือกับการนำเบอร์พื้นฐานผ่านแอปพลิเคชั่น LINK ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมในอนาคต ด้วยวิธีการที่รัดกุมมากกว่านี้ เช่น อาจจะลงทะเบียนหน้าบัตรประชาชนเหมือนซื้อซิมการ์ด เป็นต้น

จากการใช้งานก็รู้สึกแฮปปี้กับบริการนี้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในทางธุรกิจเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ เพราะธุรกิจทุกวันนี้เปลี่ยนไป ทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในสำนักงานอีกต่อไป

ปัจจุบันในกรุงเทพฯ นอกจากจะมี Co-Working Space เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดแล้ว ยังมีบริการสำนักงานเสมือน มีทั้งสำนักงานให้เช่ารายชั่วโมง ที่อยู่ติดต่อแบบมืออาชีพ รวมทั้งบริการจัดการจดหมายและรับโทรศัพท์แทนให้อีกด้วย

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การขาดแคลนเลขหมายโทรคมนาคมในอนาคต

ที่ผ่านมาเบอร์มือถือถูกนำมาใช้อย่างทิ้งๆ ขว้างๆ จนต้องจัดสรรเลขหมายใหม่อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปแล้ว 186.34 ล้านเลขหมาย

ยังนับว่าโชคดีที่เบอร์พื้นฐานคนไทยไม่ค่อยนิยมใช้กัน เมื่อเทียบกับเบอร์มือถือที่แข่งขันกันทั้งเบอร์สวย เบอร์มงคล แต่ก็นึกเป็นห่วงตรงที่ หมายเลข 02 ของ กสท โทรคมนาคม มีเพียงแค่ 1.5 แสนเลขหมายเท่านั้น

ขณะที่จังหวัดใหญ่ๆ อย่างเช่น เชียงใหม่ เชียงราย ชลบุรี เลขหมายโทรศัพท์ในพื้นที่เหล่านั้นก็หมดลงเช่นกัน จนต้องเพิ่มรหัสทางไกลขึ้นมาใหม่เป็น 052 และ 033 ตามลำดับ

น่าคิดว่าหากเบอร์ 02 หมดลง กสทช. จะทำอย่างไรต่อไป?


กำลังโหลดความคิดเห็น