ทีโอที ย้ำหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานบริการโทรศัพท์ประจำที่ในเขตนครหลวง ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้ต่อเนื่อง
นายอนุรุต อุทัยรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการเตรียมการรองรับสิ้นสุดสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ในเขตโทรศัพท์นครหลวง กล่าวว่า ปัจจุบัน ทีโอที ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการรองรับสิ้นสุดสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ในเขตโทรศัพท์นครหลวง ซึ่งมีหน้าที่เตรียมการรองรับสิ้นสุดสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ในเขตโทรศัพท์นครหลวง ทั้งบริการโทรศัพท์ประจำที่ และบริการโทรศัพท์สาธารณะ เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ประจำที่ 2.6 ล้านเลขหมาย ในเขตโทรศัพท์นครหลวงของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 ตุลาคม 2560
ทั้งนี้ ทีโอที ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการให้บริการโทรศัพท์ในเขตนครหลวง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขตพื้นที่ธุรกิจที่สำคัญ รวมถึงประชาชนที่มีความจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร โดย ทีโอที ได้เตรียมมาตรการเพื่อให้รองรับการให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจะส่งแผน และมาตรการรองรับการประกอบกิจการโทรคมนาคมภายหลังสิ้นสุดสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ในเขตนครหลวง ไปยัง กสทช. เพื่อให้หลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานสามารถให้บริการผู้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ทรู จะเป็นผู้ให้บริการลูกค้าในขณะนี้จนถึงสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และหลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในวันที่ 29 ตุลาคม 2560 ทีโอที จะเป็นผู้ให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทีโอที ขอให้มั่นใจว่า ด้วยศักยภาพ และประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจโทรคมนาคมมากว่า 60 ปี ทั้งในเขตนครหลวง และภูมิภาคทั่วประเทศ และมีผู้ใช้บริการเกือบ 3 ล้านเลขหมาย ทีโอที จึงมีความพร้อมทั้งทางด้านโครงข่ายโทรคมนาคมที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้านระบบเทคโนโลยี ด้านการบริหารจัดการ และศูนย์บริการลูกค้าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 400 แห่ง รวมถึงด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการรองรับการให้บริการ รวมทั้งการดูแลบำรุงรักษาเพื่อให้บริการมีคุณภาพ
ทั้งนี้ ลูกค้าผู้ใช้บริการขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับบริการโทรศัพท์ประจำที่ หรือติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บริการลูกค้า ทีโอที ทุกแห่งทั่วประเทศกว่า 400 สาขา หรือสอบถามที่ TOT Contact Center โทร.1100
***เอ็มโอยูการไฟฟ้าใช้ทรัพยากรร่วมกัน
นอกจากนี้ ทีโอที ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรร่วมกันกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) โดย นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA มีภารกิจหลักในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า มีโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงเชื่อมโยงสถานีไฟฟ้า ศูนย์ควบคุมสั่งการจ่ายไฟฟ้า และสำนักงานการไฟฟ้า รวมระยะทางกว่า 20,000 กิโลเมตร และมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงข่ายไปสู่โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) สอดคล้องต่อนโยบาย PEA 4.0 เชื่อมโยงระบบสื่อสารถึงหม้อแปลง และมิเตอร์ไฟฟ้า เพื่อบริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย รวมทั้งด้านสาธารณูปโภคได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมความร่วมมือ และผลักดันให้เกิดการดำเนินโครงการเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
สำหรับบันทึกข้อตกลงนี้ เป็นการร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจร่วมกันเพื่อบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีคุณภาพ และทั่วถึงตามนโยบายภาครัฐ ด้วยการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรร่วมกันและสนับสนุนการดำเนินงานของทั้งสองฝ่าย เพื่อผนึกกำลังให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง เหมาะสม และคุ้มค่าในการลงทุน ด้วยยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคเศรษฐกิจ และภาคสังคม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีระดับโลกให้แก่ประเทศ และเป็นเครื่องมือที่สำคัญของภาครัฐในการผลักดันและพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศ และพัฒนา ปรับปรุงโครงข่ายสื่อสาร เพื่อให้การบริหารทรัพย์สินอุปกรณ์โทรคมนาคมของทั้ง 2 องค์กรมีประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อให้บริการที่มีคุณภาพแก่ผู้ใช้บริการของทั้ง 2 หน่วยงาน
รวมถึงจะเป็นต้นแบบความร่วมมือครั้งสำคัญในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ และลดต้นทุน สร้างมูลค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและสังคม ลดการพึ่งพาจากภาครัฐ อันนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดีในต้นทุนที่ต่ำมาให้บริการ และเกิดการบูรณาการ การเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้อย่างปลอดภัยทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ในความรับผิดชอบของ 2 องค์กรอย่างยั่งยืน
ด้าน นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นความร่วมมือภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐมีความร่วมมือกันตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา ปรับปรุงโครงข่ายสื่อสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการงานของ กฟภ. และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการภาคธุรกิจและภาคประชาชนด้วยเทคโนโลยีทั้งทางสาย และไร้สายได้อย่างทั่วถึง และครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศตามภารกิจของ กฟภ. ความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรระหว่างกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และประชาชน ในโครงการเน็ตประชารัฐ ตามนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง และใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม
รวมถึงการร่วมกันผลักดันโครงการ CSR ในด้านความปลอดภัยในการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์โทรคมนาคม ซึ่งเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมของ กฟภ.และทีโอที