กสทช. เผยเอกชนที่ชนะการประมูลเน็ตชายขอบ ต้องมีแพกเกจให้ประชาชนที่ต้องการใช้งานที่บ้าน 50 บาท ต่อความเร็ว 10 Mbps คาดลงนามกับผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือน ส.ค. 2560 และเริ่มทยอยเปิดให้บริการ 400 หมู่บ้านภายในสิ้นปี มั่นใจครบทั้ง 3,920 หมู่บ้านภายในเดือน ก.ค. 2561
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ (คนกลาง) เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) กล่าวว่า กสทช. ได้เปิดขายซองประกวดราคาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ตั้งแต่ที่ 20-29 มิ.ย. 2560 จากนั้น ผู้ที่สนใจสามารถยื่นซองประกวดราคาได้ในวันที่ 17 ก.ค. 2560 และ ประกวดราคาในวันที่ 1 ส.ค. 2560 โดยใช้วิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Auction โดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2543 เพื่อให้การดำเนินโครงการมีค่าใช้จ่ายที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ในเดือน ส.ค. 2560 และเริ่มเปิดให้บริการได้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2560 ไม่น้อยกว่า 15% ของหมู่บ้านเป้าหมาย คือ จำนวน 400 หมู่บ้าน และจะให้บริการครบทั้ง 3,920 หมู่บ้านภายในเดือน ก.ค. 2561
ทั้งนี้ ผู้ที่ชนะการประมูลจะต้องมีแพกเกจอินเทอร์เน็ตราคาถูกให้กับประชาชนที่ต้องการต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าบ้านของตนเองด้วยในราคาแพกเกจ 50-100 บาทด้วย ซึ่ง กสทช. กำหนดราคาไว้ 3 แพกเกจ ได้แก่ 1. USO แพกเกจ รุ่นจิ๋ว ความเร็ว 10 Mbps ราคาไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน ซึ่งเลขาธิการ กสทช. พยายามจะทำให้ได้ในราคา 50 บาท 2. USO แพกเกจ รุ่นเล็ก ความเร็ว 15 Mbps ราคาไม่เกิน 150 บาทต่อเดือน และ 3. USO แพกเกจ รุ่นกลาง ความเร็ว 20 Mbps ราคาไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน
“ผมจะต้องให้ประชาชนใช้งานอินเทอร์เน็ตราคาถูกกว่าราคาท้องตลาดที่ 590 บาทต่อเดือนให้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ท่านนายกฯ ต้องการให้เกิด เนื่องจาก กสทช. ได้ลงทุนในหมู่บ้านให้แล้ว หากประชาชนที่ต้องการใช้งานที่บ้านก็ต้องได้ราคาที่ถูกกว่า ส่วนความคืบหน้าเน็ตประชารัฐที่ทำร่วมกับกระทรวงดีอีนั้น ยังอยู่ระหว่างการให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สำรวจข้อมูลอยู่ คาดว่าภายในเดือน ก.ย.-ต.ค. น่าจะได้ราคากลาง”
สำหรับโครงการนี้ใช้งบประมาณในการดำเนินงาน 13,614.62 ล้านบาท เพื่อให้มีการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) และให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) ในพื้นที่เป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมาก 3,920 หมู่บ้าน แบ่งเป็น 5 พื้นที่ดำเนินการ ได้แก่ 1. กลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด จำนวน 1,013 หมู่บ้าน 2. กลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด จำนวน 1,014 หมู่บ้าน 3. กลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด จำนวน 1,085 หมู่บ้าน 4. กลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบภาคกลาง และภาคใต้ 24 จังหวัด จำนวน 752 หมู่บ้าน และ 5. กลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อ. จะนะ, เทพา, นาทวี, และสะบ้าย้อย) จำนวน 56 หมู่บ้าน
เมื่อโครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชายขอบจะได้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะมีการติดตั้งจุดกระจายสัญญาณรวมทั้งสิ้น 4,916 จุด รวมถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีความเร็วไม่น้อยกว่า 30 Mbps โดยการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะมีการเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Fiber Optic Cable) ไปยังหมู่บ้านเป้าหมาย ระยะทางประมาณ 8,500 กิโลเมตร รวมถึงมีการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ USO Free WiFi ประชารัฐ ให้บริการฟรีในทุกหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 5,229 จุด และมีการสร้างศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (USO Net) พร้อมผู้ดูแลศูนย์แห่งละ 1 คน เปิดให้บริการฟรี จำนวน 763 แห่งโดยแต่ละศูนย์สามารถรองรับการเข้าถึง และการใช้งานของประชาชนจาก 2-4 หมู่บ้าน นอกจากนั้น โครงการนี้ยังจะมีการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังหน่วยงานของรัฐ 1,317 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียน 1,210 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลอีก 107 แห่ง ให้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตใช้ฟรีตลอดระยะเวลา 5 ปี โดยทั้งหมดนี้สำนักงาน กสทช. จะสนับสนุนงบประมาณ 13,000 ล้านบาท ในการดำเนินงานให้บริการ และบำรุงรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี อีกด้วย