xs
xsm
sm
md
lg

นิด้า ชี้รัฐเร่งผลิตบุคลากรไอซีที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รองศาสตราจารย์ พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ รองคณบดี ฝ่ายวิชาการ คณะบริหารธุรกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
นิด้า แนะรัฐเร่งผลิตบุคลากรด้านไอซีที พร้อมเร่งแก้กฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขีดความสามารถประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ รองคณบดี ฝ่ายวิชาการ คณะบริหารธุรกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เปิดเผยว่า ในโอกาสครอบรอบ 50 ปี นิด้าบิสสิเนส สคูล (Nida Business School) ทางสถาบันได้เน้นร่วมรังสรรค์ด้านวิชาการเพื่อตอบโจทย์สังคมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการจัดประชุมเชิงวิชาการที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการชั้นนำระดับโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 430 คนจาก 27 ประเทศทั่วโลกนั้น ต่างเล็งเห็นความสำคัญของพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability in Business) ควบคู่ไปกับการพัฒนาในเชิงสังคม โดยปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าว คือ บุคลากร

ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังมีบุคลากรที่มีศักยภาพ แต่ขาดการส่งเสริมอย่างชัดเจนจากภาครัฐในด้านการพัฒนาบุคคลากร โดยที่ความจริงแล้ว ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตทรัพยากรบุคคล ทั้งในด้านคุณภาพ และปริมาณ และการพัฒนาด้านการศึกษา แต่ก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดแรงงาน รวมทั้งจำนวนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาความสามารถการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม หรือ ICT (Information and Communication Technology) ของประเทศไทย ก็คือ ปัจจัยทางด้านการเมือง และกฎหมาย โดยปัจจัยการเมืองส่งผลกระทบหลักต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ทั้งนี้ การเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ มีกลุ่มผลประโยชน์แอบแฝงมาในลักษณะของนักการเมือง ส่งผลให้บริษัทต่างชาติไม่มีความมั่นใจในการลงทุน ส่งผลให้การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้น ไม่สามารถเข้ามาได้ การที่กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกันเทคโนโลยียังไม่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยไซเบอร์ เป็นต้น

ทั้งหมดนั้น ล้วนส่งผลต่อความไม่มั่นใจของภาคธุรกิจ และรวมไปถึงความไม่มั่นใจของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าบริการออนไลน์ หรือทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจ และการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่กำหนดให้ผู้บริการหรือเจ้าของเว็บไซต์ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้ใช้ในระบบของตนเอง

“ธนาคารโลก (World Bank) เคยทำวิจัยว่า ทุกๆ 10% ของการเพิ่มประชากรที่เข้าถึง Broadband Internet นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของ GDP ของประเทศนั้นๆ 1.4% นั่นคือ นำไปสู่การพัฒนาของภาคธุรกิจ ในแง่ของสังคม เมื่อคนเข้าถึงเทคโนโลยี เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ก็มีความรู้เท่าเทียมกัน มีการเข้าถึงข้อมูลได้ดีมากขึ้น เส้นแบ่งของฐานะการศึกษาก็จะน้อยลง นี่เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ของนิด้า ที่เราผลักดัน”

ดร.ดนุวศิน กล่าวต่อไปว่า สุดท้ายปัญหาหลักในด้านการพัฒนาศักยภาพในด้าน ICT ของประเทศไทยกืคือ มีความเหลื่อมล้ำสูงระหว่าง คนจนและคนรวย คนมีการศึกษาและคนไม่มีการศึกษา คนที่อยู่ในพื้นที่เมืองหลวงและคนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ในการเข้าถึงเทคโนโลยีพื้นฐาน จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา การใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมมีการใช้โดยเฉพาะคนที่มีฐานะ มีการศึกษา และอยู่ในพื้นที่เมืองหลวงที่เทคโนโลยีโทรคมนาคมเข้าถึง จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีอัตราผู้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) ค่อนข้างต่ำ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีเครือข่าย 4G มาเกือบหนึ่งปีแต่จำนวนผู้ใช้ 4G ยังอยู่เพียงประมาณ 2 ล้านคน

ปัญหานี้ส่งผลให้ประเทศเสียโอกาสในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเติบโตของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการศึกษา ซึ่งการเสียโอกาสนี้นำไปสู่ปัญหาด้านอื่นๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการศึกษา และรวมไปถึงด้านความมั่นคงด้วย ปัจจุบันไม่มีประเทศใหนที่สามารถแข่งขัน หรือพัฒนาได้โดยปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพได้
กำลังโหลดความคิดเห็น