เมื่อวันที่ 26-28 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทย โดยกระทรวงไอซีที จัดงาน “ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016” ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติ รวมถึงเป็นการเปิดตัวแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทย ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการภายใต้คอนเซ็ปต์ Gateway to the World พร้อมทั้ง ร่วมอภิปรายในหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจ และลงนามในข้อตกลงเพื่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิตอลภายในงานครั้งนี้ด้วย
ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยมุ่งไปที่การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยมีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนภาคการผลิตสินค้า และบริการของประเทศ โดยภายในงานดิจิทัลไทยแลนด์นี้ ได้มีการเปิดตัวแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งกำหนดเป็น 6 ยุทธศาสตร์หลัก ทั้งนี้ CAT จะเป็นกำลังสำคัญให้แก่รัฐบาลในทุกยุทธศาสตร์ โดยโครงการเร่งด่วน คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่ง CAT ร่วมมือกับรัฐบาลในการดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure) ด้วยมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โครงการนี้จะเติมเต็มช่องว่างระหว่างเมือง และชนบทด้วยโครงสร้างใยแก้วนำแสงที่จะครอบคลุมเกือบ 40,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ รวมทั้งการพัฒนาอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง (High-Speed Broadband Internet) สำหรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ห่างไกล สถานศึกษา รวมถึงเครือข่ายทางการศึกษา (NEdNet) และเครือข่ายข้อมูลของรัฐบาล (GIN) เพื่อให้บริการข้อมูลที่มีประโยชน์ และจำเป็นทั่วประเทศ
นอกจากนี้ CAT ยังให้ความสำคัญ และร่วมสนับสนุนโครงสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Digital Infrastructure) สำหรับโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งเป็นการขานรับนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาล โดยมีภูเก็ต เป็นเมืองนำร่องในการขับเคลื่อนชุมชนด้วยดิจิตอล ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับเมืองเพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย การเข้าถึงบริการของเมืองได้รวดเร็ว และสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนมากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์ข้อมูล และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT มาช่วยในเรื่องของระบบจัดการการจราจร ไปจนถึงระบบจัดการน้ำ การจัดการขยะ ระบบตรวจจับ ตลอดจนการเฝ้าระวังความปลอดภัย”
ด้าน นายชัยยุทธ สันทนานุการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เผยรายละเอียดว่า “จากที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดให้เป็น Smart City ทั้งนี้ CAT จึงได้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องสำหรับการพัฒนา Smart City ในพื้นที่เศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆ โดยขณะนี้มีการศึกษาเพิ่มเติมที่จะพัฒนาพื้นที่ขนาด 700 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ใกล้กับจุดเชื่อมต่อเครือข่ายทางทะเล ซึ่งมีความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้ง และขนาดของพื้นที่สู่การเป็น “Digital Innovation Park” ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด Smart City เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยจะให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย มีคุณภาพ และสามารถตอบสนองผู้ใช้บริการได้ตรงความต้องการอย่างครบวงจร นำมาซึ่งการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย และตรงต่อความต้องการได้มากขึ้น เป็นการเสริมสร้างการจ้างงาน และพัฒนาบุคลากร รวมถึงการเพิ่มผลผลิต และผลตอบแทนทางธุรกิจ ซึ่ง Digital Innovation Park จะเป็นพื้นที่ของการคิดค้นพัฒนาระบบไอทีสำหรับองค์กร สนับสนุนกลุ่ม Startup ให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ”
ทั้งนี้ ภายในงาน “ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016” CAT ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 2 ฉบับ โดยฉบับแรก ได้แก่ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะดิจิตอลสตาร์ทอัป (Digital Startup Incubation Network) โดยกระทรวงไอซีที ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงตัวแทนผู้ประกอบการรายใหม่กว่า 21 องค์กร ลงนามเพื่อสร้างความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง โดยในการดำเนินงานจะมีการจัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนทั้งด้านการบ่มเพาะ การสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ๆ เน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาคนโยบาย และภาคปฏิบัติเพื่อส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจดิจิตอลสตาร์ทอัป ส่งเสริมด้านการตลาด และการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
ฉบับที่ 2 เป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ซึ่งจะเป็นโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจดิจิตอลคอมเมิร์ซในมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่น และเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน โดย CAT จะสนับสนุนการติดตั้ง และพัฒนาระบบโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อรองรับอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง (High-Speed Broadband Internet) ให้แก่มหาวิทยาลัยดังกล่าวในเบื้องต้น
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)