xs
xsm
sm
md
lg

จุดตาย คลื่น 2300 MHz (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

27 มีนาคม คือวันเดียวที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดให้บริษัทที่สนใจนำคลื่น 2300 MHz ไปให้บริการ มายื่นแผนธุรกิจและข้อเสนอผลตอบแทนรายได้ให้กับทีโอที ซึ่งผู้ที่เสนอผลตอบแทนที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่ผู้ชนะ และผู้ชนะอาจจะมีมากกว่า 1 รายก็ได้

จากนั้น ทีโอทีจะใช้เวลา 60 วัน ร่วมกับ บริษัทที่ปรึกษาที่จ้างมาทั้ง 2 บริษัทคือ บริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัด ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม และบริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาด้านการเงินได้ในการพิจารณาแบบบิวตี้ คอนเทสต์ เพื่อให้เซ็นสัญญากับผู้ชนะได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ก่อนเปิดให้บริการภายในไตรมาส 4 ปีนี้

แต่ทว่าคลื่นดังกล่าวก็ยังมีจุดตายที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจุดตายนี้อาจเป็นอุปสรรคทำให้สัญญาคลื่น 2300 MHz ล่าช้า หรือไม่เกิดขึ้นก็เป็นไปได้

***ห่วงเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
ชิต เหล่าวัฒนา กรรมการ ทีโอที
ชิต เหล่าวัฒนา กรรมการ ทีโอที แสดงความกังวลถึงการนำคลื่นดังกล่าวมาให้เอกชนใช้งาน ว่าอาจจะเข้าข่าย การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ภายใต้พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หรือไม่ เป็นสิ่งที่ทีโอทีและบริษัทที่ปรึกษาต้องพิจารณารายละเอียดลงลึกให้ดี

หากคลื่นนี้มีการเก็บค่าเช่าเป็นรายเดือนแบบคงที่เหมือนการเก็บค่าเช่าคลื่น 2100 MHz ที่ทำกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส แน่นอนว่าไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แต่หากไม่ใช่ และเอกชนมีการเสนอผลตอบแทนตามผลประกอบการก็เสี่ยงที่จะเข้าข่าย พ.ร.บ.ดังกล่าว

เมื่อถึงวันที่เอกชนยื่นข้อเสนอมาแล้ว เลือกผู้ชนะแล้ว แต่กลับพบว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ การเซ็นสัญญาอาจจะล่าช้าไปอีก เพราะทีโอทีต้องนำสัญญาไปให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูอีก ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานอัยการสูงสุด ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ทำให้เรื่องนี้อาจล่าช้า หากคำตอบที่ได้ว่าเข้าข่าย ทุกอย่างก็ต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่แรก

***ยันถูกต้องทุกกฎหมาย
รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที
ขณะที่ รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที ยืนยันว่า เรื่องนี้มีการเตรียมการมาอย่างดี ได้มีการเสนอแผน และทำตาม สคร. สัญญานี้ แม้ว่าจะต้องส่งให้อัยการดู แต่ก็เชื่อว่าจะใช้เวลาแค่ 3 เดือน และไม่ต้องเข้า ครม. เพราะไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

"เพราะเราจะต้องเก็บเงินแบบฟิกซ์อยู่แล้ว เชื่อว่าจะสามารถทำงานได้ตามแผนอย่างแน่นอน"

นอกจากนี้ ทีโอที ยังยืนตาม มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. กสทช. ) คือ ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาต จะโอนให้แก่กันมิได้ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง จะมอบการบริหารจัดการทั้งหมดหรือบางส่วนหรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทนมิได้

ตามแผนธุรกิจ คู่ค้าจะเป็นผู้จัดให้มีโครงข่าย 4G LTE ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นในอนาคต เพื่อรองรับทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และโมบายบรอดแบนด์ บนย่านความถี่ 2300 MHz เต็มทั้ง 60 MHz เนื่องจากมีเป้าหมายในการวางแผนการใช้งานโครงข่ายที่สามารถรองรับลูกค้า

โดยคาดว่าจะสามารถติดตั้ง และเปิดให้บริการภายในปีแรก ไม่น้อยกว่า 1,800 แห่ง และติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมเมืองหลักสำคัญภายใน 2 ปี จากนั้น จะเพิ่มจำนวนไปตามปริมาณผู้ใช้งานที่คาดการณ์ไว้ และภายใน 5 ปี จะสามารถขยายโครงข่ายได้ครอบคลุมตามแผน ซึ่งหากความจุไม่เพียงพอ หรือมีผู้ใช้งานจำนวนมาก ทีโอที คาดว่า จะสามารถขยายความจุ และเวลาในการให้บริการได้ จากเดิมที่คลื่นจะต้องหมดอายุในปี 2568

สำหรับรูปแบบการให้บริการนั้น ทีโอทีจะนำความจุมาให้บริการเป็น 3 รูปแบบคือ 1.บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband : WBB) 20% ตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าครัวเรือนในชานเมือง และพื้นที่ห่างไกล เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐในการให้ประชาชนคนไทยทุกภาคได้มีโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียม โดยจะใช้แบนด์วิธทั้ง 60 MHz ของคลื่น 2300 MHz

ถัดมาคือ 2.บริการโมบายบรอดแบนด์ (Mobile Broadband : MBB) 20% ที่เจาะกลุ่มเป้าหมาย เป็นลูกค้าทีโอที โดยจะให้บริการในเขตเมือง และเขตชานเมือง ผ่านอุปกรณ์ดองเกิล (Dongle) สำหรับลูกค้าใหม่ และซิมการ์ดเสริม สำหรับลูกค้าบรอดแบนด์เดิม และ 3.บริการขายส่ง (Wholesale) ให้กับผู้ประกอบการโมบาย จำนวน 60%

***กสทช. ตั้งกรรมการดูแลใกล้ชิด

ขณะที่ กสทช. ผู้เป็นเจ้าของคลื่น แม้ว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้รับทราบ แผนการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz จำนวน 60 MHz จนถึงปี 2568 ของทีโอทีแล้ว และก่อนหน้านี้ที่ประชุม กทค.ได้มีมติรับทราบแผนการปรับปรุงคลื่นไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ที่ประชุม กทค. ก็มีมติให้สำนักงาน กสทช.ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการทำงานของทีโอทีด้วยว่าสามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่เสนอหรือไม่ และต้องไม่ขัดต่อกฎหมายของ กสทช.

“คณะทำงานไม่มีเจตนาขัดขวาง หรือ ทำให้งานทีโอทีชะงัก แต่คณะทำงานจะเข้าไปให้คำแนะนำ ช่วยปรับแก้ หากทีโออาร์ ขัดต่อกฎหมาย กสทช.ก็จะช่วยแนะนำ ในการปรับแก้ให้ถูกต้องตามกฎหมายของกสทช. โดยคณะทำงานชุดนี้มีนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการกสทช. เป็นประธาน” นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าว

***ลุ้น 13 ราย มายื่นจริงกี่ราย

สำหรับผู้สนใจที่เข้ามารับรายละเอียดเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal : RFP) ในการเป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz เมื่อวันที่ 10-15 ก.พ. ที่ผ่านมา มีถึง 13 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ทานตะวัน เทเลคอม จำกัด 2. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือเอดับบลิวเอ็น 3.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จํากัด 4.บริษัท ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์ จำกัด 5.บริษัท เรียล มูฟ จำกัด

6.บริษัท โมบายล์ แอลทีอี จำกัด 7.บริษัท เดอะ ไวท์สเปซ จำกัด 8.บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด 9.บริษัท กู๊ด ลอจิก จำกัด 10.บริษัท โนเกียซีเมนส์เน็ตเวิร์คส (ประเทศไทย) จำกัด 11.บริษัท ไฮมีเดีย เทคโนโลยี จำกัด 12.บริษัท บลูชาร์ป จำกัด และ 13.บริษัท เอ็นเอบลิง เอเชีย เทค (ไทยแลนด์) จำกัด

ดังนั้น ก่อนที่ผู้สนใจจริงๆจะมายื่นแผนธุรกิจในวันที่ 27 มี.ค.นี้ ทีโอทีควรระวังจุดตายของคลื่น 2300 MHz ให้ดี เพราะไม่เช่นนั้นคลื่นนี้คงไม่ได้เกิดมาสร้างรายได้ให้กับทีโอทีอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น