เผยรายละเอียด 2 ประเด็นหลักที่ กสทช. ยังคาใจ ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย และรายละเอียดด้านเทคนิค สิทธิแห่งการใช้คลื่นความถี่ หลังทีโอที ส่งร่างสัญญาการเป็นพันธมิตรให้บริการคลื่น 2300 MHz ร่วมกับทางดีแทคให้พิจารณา เชื่อสามารถเปิดให้บริการภายในปีนี้ ภายใต้แนวทางที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับดีลดังกล่าวคือปัจจุบันทางทีโอที ได้มีการส่งร่างสัญญาเพื่อเดินหน้าเซ็นสัญญาพันธมิตรไปพร้อมๆกัน 2 ด้าน โดยด้านหนึ่งส่งให้ทางสำนักอัยการสูงสุดตรวจสอบรายละเอียดสัญญาต่างๆให้ครบถ้วน ถูกต้องตามกฏหมาย ในขณะเดียวกัน ก็ได้มีการส่งร่างสัญญาให้ทางสำนักงาน กสทช.ตรวจสอบความถูกต้อง
โดยฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ทีโอทีได้ส่งร่างสัญญาในการเป็นคู่ค้าการให้บริการไร้สายบนคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz ระหว่างทีโอที และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค โดยได้ส่งมาทั้งร่างสัญญาการให้บริการด้านเทคนิค และสัญญาการประกอบธุรกิจ ซึ่งขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะต้องตรวจสอบถึงความถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย และการใช้คลื่นความถี่ด้านเทคนิค โดยเมื่อตรวจสอบแล้วเสร็จ หากอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กสทช. ก็จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาในครั้งต่อไป แต่หากไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุม
นอกจากนี้ ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวเสริมว่า คณะทำงานการตรวจสอบสัญญาทีโอที คลื่น 2300 MHz ได้ตรวจสอบสัญญาคู่ค้าของทีโอที ที่เสนอมาก่อนหน้านี้แล้วพบว่า สัญญาดังกล่าวยังติดปัญหาในด้านกฎหมาย และการใช้งานคลื่นความถี่ด้านเทคนิค ซึ่งหากทีโอที แสดงได้ว่า มีสิทธิแห่งทางการใช้คลื่นความถี่ และไม่ไปทับเส้นทางการใช้งานคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการรายอื่นก็สามารถให้บริการได้
***ปัญหาเทคนิค ป้องกันรบกวนคลื่นทับซ้อน
สำหรับปัญหาทางเทคนิคที่เกี่ยวกับเรื่องการไม่ไปทับสิทธิเส้นทางการใช้คลื่นความถี่ 2300 MHzหรือการรบกวนคลื่นความถี่ 2300 MHzของทีโอที กับหน่วยงาน อื่นๆ ที่เคยได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2300 MHzบางช่วงที่อาจทับซ้อนกันนั้น
เนื่องจากแต่เดิม กสทช.ได้จัดสรรคลื่นความถี่ 2300 MHz แบบ Non-exclusive use ให้หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้งานในลักษณะ Fixed Link ก่อนหน้าที่จะอนุญาตให้ ทีโอที ใช้เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเทคโนโลยี LTE ทั่วประเทศ จึงอาจก่อให้เกิดการรบกวนการใช้งานของผู้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2300 MHz โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง
ในจุดนี้ แหล่งข่าวจากทางทีโอทีให้ข้อมูลว่า ทีโอทีได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยจะระมัดระวังไม่ให้เกิดการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ตามสิทธิ์ที่มีอยู่แต่เดิมของหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และได้มีการดำเนินการขออนุญาตการติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ขอให้ กสทช. แจ้งรายละเอียดการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2300 MHz ให้ทางทีโอทีทราบด้วย
ขณะเดียวกัน ทีโอที ได้มีการทดลองการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHzในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่างจังหวัดที่เป็นพื้นที่เป้าหมายในการให้บริการ ซึ่งไม่พบว่ามีปัญหาคลื่นรบกวนแต่อย่างใด ประกอบกับได้มีการตรวจสอบการใช้งานคลื่นความถี่2300 MHzในหลายพื้นที่ทั่วประเทศพบว่ามีการใช้งานคลื่นความถี่ในย่านนี้ในบางพื้นที่ในวงแคบซึ่งทีโอทีไม่มีข้อมูลว่าเป็นการใช้งานคลื่นความถี่โดยได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อได้รับข้อมูลจาก กสทช. ทีโอทีก็พร้อมที่จะเข้าเจรจาทำความตกลงกำหนดมาตรการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาคลื่นรบกวนร่วมกับ กสทช.และหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวต่อไป
'ตอนนี้หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เดิมนั้น ได้ทยอยเลิกใช้คลื่น2300 MHzและเปลี่ยนไปใช้ไฟเบอร์ออปติกแทนเนื่องจากมีคุณภาพที่ดีกว่า ส่วนหน่วยงานที่ยังคงใช้งานอยู่ ก็ใช้คลื่นในช่วงแคบๆ ที่สามารถป้องกันการรบกวนของคลื่นความถี่ได้ง่ายจากปริมาณแบนด์วิดท์ที่กว้าง'
ในจุดนี้ ทีโอที สามารถนำแบนด์วิดท์ที่กว้าง 60 MHz ที่จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคลื่น ช่วงละ 20 MHz มาหลบหลีกได้ ดังนั้น เมื่อเข้าไปสำรวจก่อนติดตั้งสถานีฐานให้บริการ ก็สามารถเช็กได้ว่าในแต่ละพื้นที่มีการใช้งานคลื่น 2300 MHz อยู่หรือไม่ ถ้ามีการใช้งานอยู่ ก็สามารถเลี่ยงไปใช้ช่วงคลื่นความถี่อื่นๆ เพื่อให้ไม่ชนกันได้
อีกวิธีคือ การแนะนำรูปแบบการเชื่อมต่อสมัยใหม่ให้แก่ผู้ใช้บริการ เพราะปัจจุบันผู้ที่นำคลื่น 2300 MHz ไปใช้บริการ ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการส่งต่อข้อมูลผ่านระบบไมโครเวฟที่เป็นเทคโนโลยีในยุคก่อน ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างไฟเบอร์ออปติกเข้ามาแทนที่ และได้ประสิทธิภาพดีกว่า
***ชี้ชัด ไม่ขัด ม.46 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
อีกประเด็นที่ กสทช. กังวลคือเรื่องของการให้บริการในรูปแบบพันธมิตรทางธุรกิจสำหรับการให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 MHzอาจขัดต่อมาตรา46ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เพราะว่ามีการตกลงซื้อความจุในการให้บริการถึง 60% ทำให้อาจตีความได้ว่าทีโอทีไม่ได้เป็นผู้บริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยตนเอง
สิ่งที่จะมาชี้ชัดเรื่องดังกล่าวเลยคือข้อตกลงในสัญญาธุรกิจว่า ทีโอที เป็นผู้มีอำนวจในการบริการจัดการโครงข่าย และคลื่นความถี่ 2300 MHz แต่เพียงผู้เดียว โดยรูปแบบคือ มีการเช่าใช้เครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมจากบริษัทคู่ค้า คือ บริษัท เทเลแอสเสท จำกัด (TeleAssets Company Limited) มาให้บริการแก่ลูกค้าของทีโอที
อีกส่วนคือการขายส่งให้แก่บริษัทคู่ค้าคือ บริษัท ดีแทคไตรเน็ต จำกัดและบริษัทอื่นๆ ที่มีความสนใจเป็นผู้ให้บริการขายต่อบริการ โดยทีโอทีมีสิทธิ์ที่จะพิจารณาตัดสินใจว่าจะขายส่งบริการให้กับผู้ให้บริการรายใดในจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ตอบแทนทางธุรกิจโดยคำนึงถึงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลของ กสทช.ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
ประกอบกับในการให้บริการ ทีโอที มีอำนาจตัดสินใจในการวางแผนติดตั้งโครงข่าย บริหารจัดการNOC (Network Operation Center) และควบคุมการเข้าถึงระบบข้อมูลการใช้งานของลูกค้า (CDR: Call Detail Record) ได้ทั้งหมด
ประเด็นสำคัญก็คือ รูปแบบของสัญญาดังกล่าว มีลักษณะไม่แตกต่างจากสัญญาพันธมิตรระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม (กสท) กับ กลุ่มบริษัททรู ที่ให้ บีเอฟเคที เป็นผู้จัดหาเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อให้ กสท เช่าใช้ ก่อนขายส่งให้แก่บริษัทพันธมิตรซึ่งทาง กสทช.ได้ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบต่อสัญญาพันธมิตรดังกล่าวแล้ว
นอกจาก ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังมีการตั้งข้อสงสัยในเรื่องที่ว่าทีโอทีจะขายบริการโรมมิ่งให้แก่ ดีแทค ไตรเน็ต ภายใต้รูปแบบพันธมิตรทางธุรกิจ2300 MHzไม่ได้ ซึ่งแหล่งข่าวทีโอทีระบุว่า หากมีข้อสงสัยเรื่องการโรมมิ่ง ก็สามารถชี้แจงได้ว่า นิยามตามประกาศ กสทช. เรื่อง การใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ พ.ศ. 2556ซึ่งกำหนดไว้ว่า 'บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ'
ที่ระบุว่า การให้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศของผู้รับใบอนุญาตที่ให้บริการข้ามโครงข่าย (Visited Network) แก่ผู้รับใบอนุญาตที่ใช้บริการข้ามโครงข่าย (Home Network) เพื่อให้ผู้ใช้บริการของผู้รับใบอนุญาตที่ใช้บริการข้ามโครงข่ายสามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนเองครอบคลุมถึงได้
โดยจากความไม่ชัดเจนของคำนิยามดังกล่าว ทำให้มีข้อกังวลว่า ผู้ที่จะซื้อบริการขายส่งจากทีโอทีจะต้องเป็นผู้รับใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) เท่านั้นหรือไม่ หรือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีโครงข่าย (MNO) ก็สามารถทำได้
ทั้งนี้คำนิยามของการโรมมิ่ง เป็นเพียงคำจำกัดความลักษณะพื้นฐานของการให้บริการข้ามโครงข่ายเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่ในพื้นที่ไม่มีสัญญาณก่อนถึงจะสามารถโรมมิ่งได้ เพราะผู้ให้บริการไม่สามารถจำกัดขอบเขตการให้บริการไม่ให้ทับซ้อนกันได้
หากทีโอที ไม่สามารถให้บริการข้ามโครงข่ายแก่ผู้รับใบอนุญาตMNOได้ โดยจะต้องให้บริการขายส่งบริการต่อผู้รับใบอนุญาตที่เป็นMVNOเท่านั้น จะส่งผลให้ทีโอที ไม่สามารถนำคลื่นความถี่มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเนื่องจากผู้ให้บริการทุกรายไม่ว่าจะเป็น MNO หรือ MVNO ภายใต้โครงข่ายอื่น จะต้องมาเป็น MVNO ภายใต้โครงข่าย 2300 MHz ของทีโอที ออกซิมการ์ดของโครงข่าย 2300 MHz ใหม่หมด หรือก็ต้องโอนย้ายลูกค้าทั้งหมดมาอยู่ในโครงข่าย 2300 MHz ซึ่งในทางปฏิบัติ ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้หากไม่รับความยินยอมจากลูกค้าก่อน
'ถ้าเกิดสัญญาดังกล่าวมีความล่าช้า จะทำให้ทีโอทีสูญเสียรายได้ถึงปีละ 4,500 ล้านบาท ซึ่งทีโอทีมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลมีนโยบายให้ดำเนินแผนฟื้นฟูกิจการโดยนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด'
ก่อนหน้านี้ รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เคยให้ข้อมูลถึงรูปแบบในการนำคลื่นความถี่ 2300 MHz มาให้บริการ จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ บริการขายส่ง (Wholesale) ให้กับผู้ประกอบการโมบายล์หรือดีแทค จำนวน 60%
ส่วนที่เหลืออีก 40% จะแบ่งออกเพื่อนำไปให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Wireless Broadband : WBB) 20% และอีก 20% มาให้บริการโมบายล์บรอดแบนด์ (Mobile Broadband : MBB) 20% เพื่อให้สามารถที่จะแข่งขันในการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและพึ่งพาตนเองได้ในทางการเงิน