สหภาพฯ กสท โทรคมนาคม รวมพลัง สรส.ยื่นหนังสือคัดค้าน พ.ร.บ.บริหารรัฐวิสาหกิจฯ และ พ.ร.บ.บรรษัทฯ ต่อ สนช. 18 ส.ค.นี้ ชี้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด รัฐวิสาหกิจเดิมที่มีปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไข ไร้แรงจูงใจให้เอกชนมาร่วมทุน ส่วน 2 บริษัทลูกที่ถูกแยกไปก็ไม่ขึ้นตรงกับกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ พร้อมเดินหน้ารวมพลังแถลงข่าว 23 ส.ค.นี้ เพื่อคัดค้านการตั้ง 2 บริษัทลูก
นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในวันที่ 18 ส.ค. 2560 ตนเอง และตัวแทนพนักงานจะเข้าพบ และยื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ... รวมถึง พ.ร.บ. บรรษัท... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และส่งให้ สนช. พิจารณา ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งจะมีตัวแทนจากรัฐวิสาหกิจทุกองค์กรไม่น้อยกว่า 15 คน โดยหลังจากนี้ สรส.มีกำหนดวันแถลงข่าวพบสื่อ วันที่ 22 ส.ค.60 รวมถึงมีการประชุมสุดยอดผู้นำ วันที่ 1 ก.ย.60 และประชุมร่วมกับภาคประชาชน วันที่ 10 ก.ย.นี้ด้วย
ขณะที่ในส่วนของการขับเคลื่อเพื่อคัดค้านการจัดตั้งบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co.) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co.) นั้น ตนเองและสมาชิก พร้อมด้วยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยังคงเดินหน้ารวมพลังคัดค้านร่วมกับ สรส.อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญของสหภาพฯทีโอที ได้รับเชิญให้ไปพูดถึงเรื่อง การปรับโครงสร้าง แยกโครงข่ายหลัก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟังมากพอสมควร และที่ประชุมมีมติร่วมกันคัดค้านแยกโครงข่าย แต่เสนอแนวคิดให้มีบอร์ดร่วมกันเพียงบอร์ดเดียว และเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกันใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อความประหยัด และสร้างประโยชน์ให้ประชาชน และประเทศชาติสูงสุด
นอกจากนี้ ในวันที่ 23 ส.ค.ทราบข่าวมาว่า ผู้บริหารจะนัดกันทำ NBN เสมือน โดยสหภาพฯ กสท โทรคมนาคม และทีโอที จะรวมพลพนักงานกว่า 400 คน แถลงข่าวร่วมกันในการคัดค้านการปรับโครงสร้างดังกล่าว พร้อมเสนอให้มีบอร์ดชุดเดียวกัน เนื่องจากการแยกบริษัทลูกออกมายังมีประเด็นที่ไม่สอดคล้องต่อ พ.ร.บ.บรรษัท... ด้วย คือ 2 บริษัทลูกจะเป็นเอกเทศ และไม่ขึ้นอยู่ในพ.ร.บ.บรรษัท... ตามเจตนารมณ์ที่ พ.ร.บ.นี้ต้องการช่วยให้รัฐวิสาหกิจดีขึ้น ให้เอกชนสามารถเข้ามาร่วมทุนได้แต่อย่างใด ขณะที่บริษัทแม่ที่ถูกทิ้งไว้ก็ยังคงจมอยู่แต่กับปัญหาเดิม บริษัทยังคงอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ คงยากที่ใครจะต้องการมาร่วมลงทุน จึงทำให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังแก้ปัญหาผิดทาง ผิดรูป ผิดร่าง และไม่รับรู้ปัญหาที่แท้จริง